ผลสอบ"อับดุลเลาะ"ไม่พบหลักฐานถูกผู้อื่นทำให้ตาย - ให้น้ำหนักอาการเจ็บป่วย
การเสียชีวิตของ นายอับดุลเลาะ อีซอมูซอ ผู้ต้องสงสัยคดีความมั่นคง เมื่อเช้ามืดของวันอาทิตย์ที่ 25 ส.ค.62 หลังจากหมดสติในค่ายอิงคยุทธบริหาร อ.หนองจิก จ.ปัตตานี เมื่อเช้ามืดวันที่ 21 ก.ค.62 ยังคงเป็นปริศนา
กระแสในพื้นที่และผู้ที่ทำงานด้านสิทธิมนุษยชนเชื่อว่าเขาน่าจะถูกกระทำด้วยวิธีการบางอย่างจนสมองขาดออกซิเจนนานเกินไป แต่ฝ่ายทหารรวมไปถึงรัฐบาลยืนกรานว่าไม่มีพฤติการณ์ละเมิดสิทธิมนุษยชน
หลังเกิดเหตุ แม่ทัพภาคที่ 4 "บิ๊กเดฟ" พล.ท.พรศักดิ์ พูลสวัสดิ์ ได้มอบหมายให้คณะกรรมการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ตรวจสอบเรื่องนี้อย่างตรงไปตรงมาเพื่อความโปร่งใน โดยองค์ประกอบของคณะกรรมการล้วนเป็นบุคคลที่ได้รับการยอมรับในพื้นที่ และมาจากภาคส่วนต่างๆ อย่างหลากหลาย
วันอังคารที่ 28 ส.ค.62 หลังการเสียชีวิตของนายอับดุลเลาะ 3 วัน คณะกรรมการฯได้เปิดแถลงผลการตรวจสอบข้อเท็จจริง โดย นายอับดุลอาซิซ เตเดอินทร์ หนึ่งในกรรมการ ได้อ่านแถลงการณ์ของคณะกรรมการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ความว่า...
"ทางคณะกรรมการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งได้แต่งตั้งบุคลากรที่เป็นที่ยอมรับทางสังคมจากผู้แทนองค์กรด้านสิทธิมนุษยชน ภาคประชาสังคม องค์กรศาสนา นักวิชาการ ภาคประชาชน และเจ้าหน้าที่ ทำหน้าที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงอย่างอิสระ โปร่งใส เพื่อให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย โดยได้เข้าไปตรวจสอบสถานที่ซักถาม เรียกเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องมาสอบถามและให้ข้อมูล ตลอดจนตรวจสอบข้อมูลแวดล้อมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง สรุปการดำเนินการดังนี้
1. ดำเนินการตรวจสอบการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ ได้ทำการสอบถามข้อมูลจากเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องในเหตุการณ์ พบว่าเจ้าหน้าที่ได้ดำเนินการในด้านต่างๆ ถูกต้องตามขั้นตอนทุกประการ จากการสอบถามข้อมูลรายบุคคลไม่ได้พบความผิดปกติใดๆ
2. ดำเนินการตรวจสอบเรื่องสถานที่ซักถาม เป็นไปตามมาตรฐาน แต่กล้องวงจรปิดไม่สามารถใช้การได้
จากการตรวจสอบพบว่าอาคารดังกล่าวเพิ่งสร้างเสร็จ และเริ่มใช้งานเมื่อเดือน พ.ค.62 ตัวกล้องวงจรปิดได้ดำเนินการติดตั้งเรียบร้อยแล้ว แต่ยังไม่มีการส่งมอบ จึงยังไม่ได้ใช้งาน อย่างไรก็ตาม ภายหลังทางกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า ได้ให้บริษัทดำเนินการส่งมอบเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ทั้งนี้พร้อมที่จะให้องค์กรต่างๆ เข้าทำการตรวจสอบมาตรฐานของหน่วยซักถามได้ตลอดเวลา
3. การดำเนินการติดตามข้อมูลส่วนบุคคลและข้อมูลการรักษาพยาบาลจากแพทย์ที่เกี่ยวข้อง พบว่า
3.1 สาเหตุเสียชีวิตมาจากอาการปอดอักเสบติดเชื้ออย่างรุนแรง severe pneumonia และมีภาวะพิษเหตุติดเชื้อ septic shock สาเหตุนำ คือภาวะสมองขาดเลือด และขาดออกซิเจน hypoxic ischemic encephalopathy (ตามรายงานแพทย์)
3.2 สำหรับประเด็นที่ทางสังคมค้นหาสาเหตุของสมองขาดออกซิเจนและมีสมองบวมนั้น คณะกรรมการฯได้รวบรวมข้อเท็จจริงจากการชี้แจงความเห็นของคณะแพทย์ที่ให้การรักษา สรุปว่าการขาดออกซิเจนของสมองสามารถเกิดขึ้นได้จาก
3.2.1 มีการกระแทกอย่างรุนแรงจากภายนอก แล้วส่งผลให้สมองได้รับการกระทบกระเทือนจนมีการบาดเจ็บภายในที่รุนแรง ซึ่งคณะแพทย์ได้ชันสูตรโดยละเอียดรอบคอบแล้ว ทั้งจากการตรวจภายนอก การเอ็กซเรย์ การเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์ ไม่พบรอยช้ำของเนื้อเยื่อใดๆ และไม่พบกระดูกร้าวแตก อันจะเป็นหลักฐานแสดงร่องรอยการกระแทกจากภายนอก ทั้งจากกรณีที่มีวัตถุภายนอกมากระทำ หรือจากอุบัติเหตุล้มแล้วไปกระแทกกับวัสดุแข็งใดๆ
3.2.2 การแตกของหลอดเลือดในสมอง จากโรคหลอดเลือดโป่งพอง (aneurysm) ซึ่งเป็นโรคที่จะไม่ปรากฎอาการใดๆ ในขณะดำเนินชีวิต และอาจไม่มีอาการนำก่อนที่จะมีการแตกออก การแตกออกของหลอดเลือดในสมองเช่นนี้จะส่งผลต่อเนื้อสมองได้อย่างรุนแรง และจากการเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์สมอง พบว่ามีเลือดออกใต้เยื่อหุ้มสมองชั้นในส่วนที่เคลือบติดกับเนื้อสมองสับอาราชนอยด์ (subarachnoid hemorrhage) โดยไม่พบมีเลือดออกที่เยื่อหุ้มสมองชั้นนอก ซึ่งหากมีการกระแทกจากภายนอกจะมีเลือดออกที่เยื่อหุ้มสมองชั้นนอกเป็นลำดับแรก จึงเข้าใจกันได้ว่าการที่สมองบวมเป็นผลจากภาวะหลอดเลือดภายในสมองที่โป่งพองแตก แล้วมีเลือดออกใต้เยื่อหุ้มสมองชั้นในส่วนที่เคลือบติดกับเนื้อสมอง จนส่งผลให้สมองขาดออกซิเจนและสมองบวมได้
ทั้งนี้ทางคณะแพทย์ได้พยายามที่จะวินิจฉัยให้ชัดเจนโดยการฉีดสารทึบรังสี พร้อมกับการเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์ แต่ปรากฏว่าสารทึบรังสีนี้ไม่สามารถเข้าไปในเนื้อสมองได้ อันเป็นเหตุจากไม่มีการไหลเวียนเลือดในสมอง จึงทำให้ไม่สามารถยืนยันแสดงออกมาให้เห็นอย่างชัดเจนได้ ซึ่งในกรณีเช่นนี้หากจะมีการตรวจสอบให้ชัดเจนก็สามารถทำได้ด้วยวิธีการผ่าพิสูจน์ แต่หลังจากนาย อับดุลเลาะ เสียชีวิตไม่ได้รับการอนุญาตให้ดำเนินการผ่าศพพิสูจน์ เนื่องด้วยกระบวนการผ่าพิสูจน์สำหรับกรณีนี้อาจต้องใช้เวลานานตามกรรมวิธีทางด้านการแพทย์ จึงไม่สามารถยืนยันการวินิจฉัยข้างต้นได้
3.2.3 การไม่มีออกซิเจนไปเลี้ยงสมอง ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้ในหลายกรณี เช่น ผู้ป่วยอาจถูกผู้อื่นกระทำ อย่างที่มีการกล่าวอ้างว่ามีการใช้ถุงคลุม การใช้ผ้าเปียกปิดหน้าแล้วเทน้ำใส่ หรือแม้กระทั่งตัวผู้ป่วยหมดสติและมีภาวะปิดกั้นทางเดินหายใจ ไม่ได้รับการช่วยเหลือภายในระยะเวลาอันควร
จากการที่มีการประชุมสรุปกับคณะแพทย์ มีการสอบถามถึงกรณีนี้ แพทย์ชี้ให้เห็นว่าหากมีกรณีดังกล่าวเกิดขึ้น จะต้องมีการแสดงออกถึงจุดที่เลือดออกบ้าง เช่นจะแสดงออกได้ชัดเจนที่ตา คือเยื่อบุหลอดเลือดจะแตก และมีเลือดออกตามตา เหงือก ริมฝีปากคล้ำ เยื่อบุจะขาด ใบหน้าบวมคล้ำ ผู้ที่ขาดออกซิเจนจะแสดงเห็นได้ชัดเจนจากบริเวณริมฝีปาก ซึ่งในกรณีนายอับดุลเลาะไม่พบลักษณะดังกล่าว
4. การเจ็บป่วยที่นำไปสู่การเสียชีวิตของนายอับดุลเลาะซึ่งอยู่ระหว่างการควบคุมตัวของเจ้าหน้าที่รัฐ คณะกรรมการฯจึงเห็นว่าควรให้การช่วยเหลือเยียวยา โดยทางคณะกรรมการฯจะรวบรวมผลการตรวจสอบข้อเท็จจริง และผลการตรวจวินิจฉัยของแพทย์ รายงานให้ ศอ.บต. (ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้) พิจารณาดำเนินการต่อไป
ทั้งนี้คณะกรรมการฯ มีมติว่าควรให้ความช่วยเหลือตามหลักมนุษยธรรม ตามความเหมาะสม โดยจะเชิญภรรยาและครอบครัวของนายอับดุลเลาะมาหารือต่อไป
นายกฯแจงอีกครั้ง "อับดุลเลาะ"ไร้ร่องรอยถูกทำร้าย
วันเดียวกัน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ตอบข้อถามของผู้สื่อข่าวภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี กรณีที่ข่าวกลุ่มเยาวชนในพื้นที่ชายแดนใต้เตรียมเหมารถเดินทางเข้ากรุงเทพฯ เพื่อทวงถามสาเหตุการตายของนายอับดุลเลาะว่า ได้สั่งการให้มีการประชาสัมพันธ์เพิ่มเติม ซึ่งฝ่ายความมั่นคงได้มีการชี้แจงไปแล้ว พร้อมให้ข้อมูลต่างๆ เพิ่ม
เรื่องนี้ตั้งแต่เกิดเหตุการณ์ขึ้น ได้มีการชี้แจงโดยโรงพยาบาลทั้ง 3 แห่ง คือ โรงพยาบาลค่ายอิงคยุทธบริหาร (อ.หนองจิก จ.ปัตตานี) โรงพยาบาลปัตตานี (อ.เมืองปัตตานี) และโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ (อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา) ได้รายงานตรงกันว่า ผลการตรวจสอบทางร่างกายของอับดุลเลาะปกติ ไม่มีร่องรอยการถูกทำร้ายร่างกายทั้งจากภายในและภายนอก ส่วนที่โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ วิเคราะห์สาเหตุการเสียชีวิตของอับดุลเลาะว่าเกิดจากปอดอักเสบและติดเชื้ออย่างรุนแรง ไม่ได้เกิดจากการถูกซ้อม และยินดีที่จะให้การตรวจสอบเกิดความกระจ่างมากขึ้น ซึ่งรัฐบาลเน้นย้ำมาโดยตลอดว่า ไม่เคยมีนโยบายใช้ความรุนแรงกับผู้ต้องสงสัย จึงขอให้รอฟังคำชี้แจงผลการตรวจของโรงพยาบาลและทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง พร้อมฝากสื่อมวลชนช่วยทำความเข้าใจในเรื่องนี้ด้วย
-----------------------------------------------------------------------------------------
ขอบคุณ : ภาพนายกฯ จากเว็บไซต์รัฐบาลไทย