'ไพบูลย์' ค้านสารพัดไอเดียถนน 'ศักดิ์สยาม' ไม่สอดคล้องนโยบายเร่งด่วน-เสี่ยงเพิ่มอุบัติเหตุ
‘ศ.นพ.ไพบูลย์ สุริยะวงศ์ไพศาล’ คณะแพทยรามาธิบดีฯ ค้านนโยบาย ‘ศักดิ์สยาม’ รมว.คมนาคม ปรับเพดานความเร็ว 120 กม./ชม.-เลิกเกาะกลางถนน-เปลี่ยนรถตู้ใช้มินิบัสสมัครใจ ชี้ไม่สอดคล้องนโยบายเร่งด่วน เสี่ยงเพิ่มอุบัติเหตุ แนะให้ศึกษาก่อนบังคับใช้
สืบเนื่องจาก นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม มีนโยบายมอบหมายให้กรมการขนส่งทางบก (ขบ.) การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) และกรมทางหลวง (ทล.) พิจารณาข้อดีและความปลอดภัยของประชาชน รวมถึงการจัดระเบียบช่วงถนนที่จะปรับเพิ่มความเร็ว120กม./ชม. เช่น ถนนเพชรเกษม สุขุมวิท พหลโยธิน มิตรภาพ โดยกระทรวงฯ จะดำเนินการบนถนนบางช่วงและในส่วนที่สามารถทำได้ก่อนบนถนนสายหลัก ทั้งนี้ ให้ทำการศึกษาและได้ข้อสรุปภายใน 1 เดือน หลังจากนั้นจะนำเสนอคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) ซึ่งมี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธานพิจารณา นอกจากนี้ ยังได้มอบหมายนโยบายให้ ทล. และกรมทางหลวงชนบท (ทช.) ยกเลิกแผนลงทุนก่อสร้างเกาะกลางบนถนนทั้งหมด เนื่องจากสิ้นเปลืองงบประมาณและทำให้เสียพื้นที่บนถนน โดยให้ใช้ลักษณะแบริเออร์กั้น (barrier) แบ่งแยกช่องจราจรแทน ซึ่งถือเป็นการสนับสนุนการใช้นโยบายยางพารามาทำแบริเออร์เพื่อช่วยเหลือเกษตร (อ้างอิงข่าวจากโพสต์ทูเดย์ : https://www.posttoday.com/economy/news/597912)
ล่าสุด ศ.นพ.ไพบูลย์ สุริยะวงศ์ไพศาล ภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ให้สัมภาษณ์ สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org เกี่ยวกับนโยบายดังกล่าวว่า ไม่เห็นด้วยกับนโยบายดังกล่าว เนื่องจากสวนทางหรือไม่สอดคล้องกับการดำเนินงานของรัฐบาลชุดก่อนในด้านความปลอดภัยทางถนน รวมทั้งไม่สอดคล้องกับนโยบายเร่งด่วน 12 ประการของรัฐบาลชุดปัจจุบันด้วย เป็นการติดสินใจโดยไม่มีผลการวิจัยหรืองานศึกษารองรับ ขัดกับการศึกษาคว้าที่หลายประเทศทั่วโลกได้ทำการสะสมไว้ตลอดระยะเวลาหลายปี
“ที่ผ่านมา พิจารณาฐานข้อมูลสถิติการเกิดอุบัติเหตุมีแนวโน้มลดลง แต่นโยบายดังกล่าวจะเป็นการเพิ่มความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดอุบัติเหตุเพิ่มขึ้น” นายไพบูลย์ กล่าว
นายไพบูลย์ กล่าวอีกว่า การใช้ยางพารามาเป็นวัสดุในการผลิตแบริเออร์นั้น ในแง่ของการช่วยเหลือภาคเกษตรกรรมนั้นเห็นด้วย แต่ทั้งนี้ยังไม่มีงานวิจัยหรือการศึกษามารองรับ อีกทั้งยังไม่มีประเทศไหนกำหนดใช้เป็นมาตรฐาน ควรที่จะทำการสนับสนุนให้มีการศึกษาค้นคว้าเป็นความรู้เพื่อมาใช้อ้างอิงก่อนที่จะกำหนดเป็นนโยบายต่อไป
นายไพบูลย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ประเด็นเรื่องการขยายอายุการใช้งานรถตู้โดยสารและการเปลี่ยนไปใช้รถมินิบัสโดยสมัครใจนั้น ไม่เห็นด้วยเช่นกัน มีการศึกษาแล้วว่ารถตู้ไม่เหมาะสำหรับการขนส่งคน เหมาะที่จะขนส่งสินค้ามากกว่า การกำหนดให้เปลี่ยนไปใช้รถโดยสารขนาดเล็ก (รถมินิบัสหรือไมโครบัส) จะมีความปลอดภัยกว่า เนื่องจะสามารถทรงตัวได้ดีกว่าเมื่อมีน้ำหนักบรรทุกมาก ซึ่งรัฐบาลชุดก่อนได้เจรจาและบรรลุข้อตกลงกับผู้ประกอบการแล้ว ควรจะดำเนินการตามเดิมให้เปลี่ยนจากการใช้รถตู้เป็นรถมินิบัสทั้งหมด
ก่อนหน้านี้ สำนักข่าวอิศรารายงานว่า เมื่อวันที่ 23 ส.ค. 2562 ที่ผ่านมา นายพีระพล ถาวรสุภเจริญ อธิบดีกรมการขนส่งทางบก เปิดเผยว่า ขบ. ขานรับตามแนวนโยบายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ตามที่กระทรวงฯ มีนโยบายขยายเวลาให้ผู้ประกอบการเปลี่ยนรถตู้โดยสารเป็นรถโดยสารขนาดเล็กที่ได้มาตรฐาน (ไมโครบัส) ตามความสมัครใจ
"จากการประชุมคณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลางเมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2562 ให้รถตู้หมวด 1 และหมวด 4 ที่วิ่งในกรุงเทพมหานคร ซึ่งกำหนดว่าต้องเปลี่ยนเป็นรถไมโครบัสตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2562 ขยายเวลาได้อีก 180 วัน ซึ่งในระหว่างนี้ หากครบอายุการใช้งานสามารถเปลี่ยนเป็นไมโครบัสหรือจะเปลี่ยนรถตู้ใหม่ก็ได้" นายพีระพล กล่าว
สำหรับกลุ่มรถตู้ที่วิ่งระหว่างจังหวัด ระยะทางประมาณ 300 กิโลเมตรขึ้นไป นายพีระพล กล่าวว่า ยังคงยึดตามมติเดิม โดยเมื่อรถครบอายุการใช้งาน 10 ปี จะต้องเปลี่ยนเป็นไมโครบัสทันที (อ่านประกอบ : ขยายเวลาได้อีก 180 วัน รถตู้วิ่งกทม. หมดอายุเปลี่ยนเป็นไมโครบัส)
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/