มึนไอเดียนายกฯผุด"ทีวียาวี"ดับไฟใต้...ชาวบ้านบอกฟังไทยได้ ชอบดูละครช่อง 3-7
หลังเกิดความรุนแรงถี่ยิบขึ้นที่ชายแดนใต้ นายกฯยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ก็ได้เสนอไอเดียที่หลายคนเข้าใจว่าเป็น "เรื่องใหม่" นั่นก็คือการเพิ่มช่องทางสื่อสารกับประชาชนในพื้นที่ด้วยการทำ "ทีวีภาษายาวี" หวังสร้างความเข้าใจ
นายกฯพูดเรื่องนี้ครั้งแรกเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 26 ก.ค.ที่ผ่านมา หลังเกิดเหตุการณ์คาร์บอมบ์ที่ อ.รามัน จ.ยะลา จนทำให้เจ้าหน้าที่ตำรวจเสียชีวิต 5 นาย โดย นางสาวยิ่งลักษณ์ บอกว่า "ต้องเริ่มเสริมสร้างความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่นอกจากการดูแลความปลอดภัย โดยการเสริมสร้างความเข้าใจเป็นส่วนหนึ่งที่รัฐบาลจะให้ความสำคัญและหาช่องทาง อาทิเช่น ทางด้านของทีวีหรือการสื่อสารให้เป็นภาษายาวี เพื่อจะได้ถ่ายทอดความเข้าใจ..."
อย่างไรก็ดี หลังจากที่นายกฯให้สัมภาษณ์ประเด็นดังกล่าว ก็มีเสียงแย้งเบาๆ จากบางฝ่ายว่าปัจจุบันโทรทัศน์ที่เป็นช่องของรัฐก็มีรายการที่เป็นภาษายาวีออกอากาศอยู่เฉพาะในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้อยู่แล้วมิใช่หรือ
ล่าสุดเมื่อวันจันทร์ที่ 30 ก.ค.ซึ่งมีการประชุม ครม.กันที่ จ.สุรินทร์ นางสาวศันสนีย์ นาคพงษ์ โฆษกรัฐบาล จึงสร้างความกระจ่างในเรื่องนี้อีกครั้ง เธอบอกว่ารัฐบาลจะเน้นการสื่อสารกับประชาชน จากปัจจุบันที่มีการสื่อสารเป็นภาษายาวีทางสถานีโทรทัศน์ช่อง 5 กับสถานีโทรทัศน์ช่อง 11 วันละ 3 ชั่วโมง โดยศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนใต้ (ศอ.บต.) ได้ใช้สถานีโทรทัศน์ทั้ง 2 สถานีส่งผ่านข้อมูล แต่นายกฯมองว่าควรขยายเวลาสร้างความเข้าใจให้มากขึ้น เพื่อนำนโยบายต่างๆ ที่เป็นประโยชน์สู่การรับรู้ของประชาชนในพื้นที่
นี่คือคำอธิบายของโฆษกรัฐบาล...
แม้การเพิ่ม "ช่องทางสื่อสาร" จะเป็นเรื่องดีและจำเป็นอย่างมากในทุกสนามความขัดแย้ง แต่ "ทีวี" นั้นเกือบจะเรียกได้ว่าเป็นการสื่อสารแบบ "ทางเดียว" ทั้งยังมีคำถามว่าการทำทีวีภาษายาวี เป็นการแก้ปัญหาอย่างตรงจุดหรือไม่ ทุกวันนี้ชาวบ้านในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้โหยหารายการโทรทัศน์ที่เป็นภาษายาวีจริงหรือเปล่า
สำรวจรายการยาวี – ทีวีชายแดนใต้
จากการสำรวจของ "ทีมข่าวอิศรา" พบว่า ปัจจุบัน "ฟรีทีวี" ซึ่งเป็นทีวีกระแสหลักของประเทศไทยนั้น มีรายการเฉพาะเกี่ยวกับจังหวัดชายแดนภาคใต้อยู่แล้วพอสมควร ทั้งที่บันทึกเสียงเป็นภาษายาวีและภาษาไทย ประกอบด้วย
"ช่อง 11" หรือชื่อเต็มๆ ว่า สถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย สังกัดกรมประชาสัมพันธ์ มีรายการเกี่ยวกับจังหวัดชายแดนภาคใต้วันละประมาณ 3 ชั่วโมง เริ่มจาก 10.00 น. เป็นรายการเกี่ยวกับผู้หญิง เนื้อหาที่ถ่ายทอดในรายการจะผสมผสานกันทั้งภาษาไทยและภาษายาวี
จากนั้นเป็นข่าวเที่ยง ซึ่งก็เป็นข่าวทั่วไปที่ออกอากาศเป็นภาษาไทยก่อนหน้านั้น แล้วมาออกซ้ำอีกครั้งโดยแปลเป็นภาษายาวี หลังข่าวเที่ยงก็จะเป็นรายการเบาๆ เช่น ชิมอาหาร ท่องเที่ยว แต่บรรยายเป็นภาษาไทย
รายการทั้งหมดที่ว่านี้ออกอากาศเฉพาะ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ส่วนภาคอื่นๆ ไม่สามารถรับชมได้ อย่างไรก็ดี สำหรับครัวเรือนในพื้นที่ที่รับสัญญาณผ่านจานดาวเทียมหรือเคเบิลก็ไม่สามารถรับชมรายการได้เช่นกัน เนื่องจากเป็นการรับสัญญาณจากกรุงเทพฯ ฉะนั้นครัวเรือนที่สามารถรับชมรายการเหล่านี้ได้จริงๆ คือครัวเรือนที่ใช้เสา "หนวดกุ้ง" หรือ "ก้างปลา" เท่านั้น แต่ครัวเรือนที่ชายแดนใต้นิยมติดจานดาวเทียม และรับสัญญาณผ่านดาวเทียมเป็นส่วนใหญ่ จึงทำให้มีกลุ่มคนดูรายการเกี่ยวกับชายแดนใต้ของช่อง 11 แคบมาก
"รายการดีสลาตัน ณ แดนใต้" ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอสเฉพาะ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ ปัตตานี ยะลา นราธิวาส สงขลา และสตูล เวลาออกอากาศเดิมทุกวันศุกร์เวลา 11.00 ถึง 12.00 น.แต่ปัจจุบันปรับเวลาใหม่เป็นทุกวันจันทร์ เวลา 13.30 ถึง 14.00 น.
ที่มาของรายการดีสลาตันฯ เป็นการผลิตรายการให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้ชมในแต่ละท้องถิ่น เป็นหนึ่งในพันธกิจขององค์กรการกระจายเสียง และแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.) ซึ่งก็หมายถึงสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอสนั่นเอง
วัตถุประสงค์สำคัญก็เพื่อตอบสนองความแตกต่างหลากหลายทั้งทางด้านภาษา วัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณี และเป็นหนึ่งใน "โทรทัศน์ภูมิภาค" ของไทยพีบีเอส ซึ่งเน้นเนื้อหาและรูปแบบรายการที่มุ่งตอบสนองผู้ชมในแต่ละภูมิภาค
รายการดีสลาตัน ณ แดนใต้ เริ่มออกอากาศครั้งแรกเมื่อวันที่ 9 ม.ค.2552 และยังทำรายการต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน แต่เนื้อหาในรายการส่วนใหญ่สื่อสารเป็นภาษาไทย
"ช่อง 5" หรือสถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก จากการสอบถามชาวบ้านทั่วไป ไม่มีใครทราบว่ามีรายการภาษายาวีออกอากาศ
"ทีวีดาวเทียม"สุดฮิต – เน้นวิถีชีวิตและศาสนา
นอกจากฟรีทีวีแล้ว ยังมีรายการที่เกี่ยวกับวิถีชีวิตของคนชายแดนใต้ ซึ่งเน้นความเป็น "มลายูมุสลิม" และได้รับความนิยมจากประชาชนในพื้นที่อีกหลายรายการ แต่ส่วนใหญ่เป็นเคเบิลทีวี หรือทีวีดาวเทียม
สถานีที่ชาวบ้านชอบดูส่วนใหญ่เป็นสถานีมุสลิม เช่น "ยาติมทีวี" (คำว่า "ยาติม" แปลว่า ลูกกำพร้า) เป็นสถานีที่รายงานเกี่ยวกับชีวิตของเด็กกำพร้า สลับกับบทละครเกี่ยวกับโลกอิสลาม และข่าวสารจากทั้งไทยและต่างประเทศที่เกี่ยวกับโลกอิสลาม โดยรายการเกือบทั้งหมดเป็นภาษาไทย
"ไวท์แชนแนล" เป็นสถานีข่าวเกี่ยวกับกระแสโลกมุสลิม เป็นสถานีที่กลุ่มปัญญาชนมุสลิมและอุสตาซ (ครูสอนศาสนา) ติดตามรับชมกันเยอะ มีภาพลักษณ์เป็นมุสลิมสายใหม่ เนื้อหารายการส่วนใหญ่เป็นภาษาไทย
"ทีวีมุสลิม" ของ อาจารย์บรรจง โซ๊ะมณี เน้นรายการเกี่ยวกับศาสนาตลอด 24 ชั่วโมง ทั้งสอนเทศน์ สอนธรรม หัดอ่านอัลกุรอาน เล่าประวัติศาสดา เพื่อความเข้าใจในศาสนาอิสลาม ทีวีมุสลิมได้รับความนิยมจากคนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างมาก โดยเฉพาะกลุ่มคนที่มีความรู้ และในช่วงเดือนรอมฎอนจะมีคนติดตามมากเป็นพิเศษ สำหรับเนื้อหารายการส่วนใหญ่เป็นภาษาไทย
"ทีวีมาเลย์" สามารถรับสัญญาณได้ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเฉพาะอำเภอริมชายแดนของ จ.นราธิวาส ผู้ชมส่วนใหญ่ติดตามดูละครโทรทัศน์ของมาเลเซีย และติดตามข่าวเกี่ยวกับประเทศไทย โดยเฉพาะข่าวในพื้นที่ชายแดนใต้ เพื่อเปรียบเทียบกับข่าวสารที่รายงานผ่านทีวีของไทย
ชาวบ้านยันฟังไทยได้ – ติดละครช่อง 3-7
จากการสำรวจพฤติกรรมการชมโทรทัศน์ของประชาชนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ พบว่าไม่ว่าจะเป็นการรับชมทาง "ฟรีทีวี" หรือ "ทีวีดาวเทียม" ชาวบ้านส่วนใหญ่ก็นิยมชมชอบรายการบันเทิงมากกว่าติดตามข่าวสาร
โดยเคเบิลทีวีช่องละคร ที่นำละครที่ออกอากาศทางฟรีทีวีแล้วมาวนฉายย้อนหลัง ได้รับความสนใจจากประชาชนอย่างมาก บางบ้านถึงขนาดเปิดค้างไว้ตลอดทั้งวัน
สำหรับ "ฟรีทีวี" ที่ชาวบ้านชอบดู คือ ช่อง 3 กับช่อง 7 ส่วนใหญ่ดูละคร ดูข่าว รายการคุยข่าว ข่าวสามมิติ ประเด็นเด็ดเจ็ดสี รวมทั้งรายการเกมโชว์ทั่วไป ซึ่งเรื่องภาษาไม่ได้เป็นปัญหา เพราะคนในพื้นที่ส่วนใหญ่ฟังภาษาไทยรู้เรื่อง คนสามจังหวัดมีปัญหาเรื่องการสื่อสารด้วยการพูดภาษาไทยให้ถูกต้องเท่านั้น ไม่ได้มีปัญหาเรื่องการฟัง โดยเฉพาะการรับสื่อจากโทรทัศน์เพื่อความบันเทิง
น.ส.ซาฟียะห์ มูดอ นักศึกษาชั้นปีที่ 2 มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา บอกว่า สื่อที่เธอติดตามมากที่สุดคือโทรทัศน์ ส่วนใหญ่ดูช่อง 3 ดูข่าวช่วงเย็น จากนั้นก็ไปละหมาด ตกค่ำก็ดูละคร แล้วก็ดูข่าวสามมิติอีกครั้งก่อนเข้านอน
"ส่วนทีวีภาษายาวีนั้น คิดว่าถึงมีก็ไม่ได้สร้างความเข้าใจอะไรมากมาย เพราะคนสามจังหวัดฟังภาษาไทยออก ขณะที่บางคนเป็นมุสลิมแต่ฟังยาวีไม่ออกก็มี สำหรับช่อง 11 หรือเอ็นบีทีนั้น แทบไม่เคยเปิดเลย รวมทั้งที่บ้านพ่อแม่ด้วย เพราะคนพื้นที่จะมองว่าเป็นทีวีของรัฐ มีแต่งานประชาสัมพันธ์ของรัฐ"
นางมาซือนะ มะนาหิง อายุ 43 ปี ชาวบ้านในพื้นที่ อ.ยะหา จ.ยะลา เล่าว่า เมื่อก่อนนางฟังภาษาไทยไม่รู้เรื่อง กระทั่งช่วง 5-6 ปีหลังได้ดูทีวี และติดรายการโทรทัศน์ ทำให้ฟังภาษาไทยออก
"ตอนนี้ใครพูดด่าอะไรเป็นภาษาไทยก็รู้นะว่าเขาด่าเราอยู่ แต่จะตอบโต้ไม่ได้ เพราะพูดไทยไม่เป็น" มาซือนะ บอกยิ้มๆ และว่า รายการที่ดูมากที่สุดส่วนใหญ่เป็นละคร ไม่ค่อยได้ดูข่าว ชอบดูละครช่วงเย็น เพราะ 2 ทุ่มก็เข้านอนแล้ว
จากการสอบถามชาวบ้านทั่วไปตามร้านน้ำชาและวงสนทนาต่างๆ สรุปได้ว่า การพยายามเพิ่มช่องทางสื่อสารภาษายาวีทางโทรทัศน์ตามแนวคิดของนายกรัฐมนตรีนั้น แท้ที่จริงแล้วไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาหรือสร้างความเข้าใจได้เพิ่มขึ้น เพราะปัญหาของที่นี่ไม่ใช่เรื่องคนไม่รู้ภาษา แต่ปัญหาคือเจ้าหน้าที่แก้ไขไม่ถูกจุด สิ่งที่ชาวบ้านต้องการให้แก้คือปัญหาความไม่เป็นธรรม เจ้าหน้าที่รัฐต้องหยุดสร้างเงื่อนไข และหยุดการละเมิดสิทธิ
"ทุกวันนี้ ทุกคนทุกฝ่ายยังพูดแต่เรื่องเดิมๆ แสดงว่าผ่านมาหลายปีปัญหาไม่ได้ถูกแก้เลย" ชาวบ้านรายหนึ่งสรุป
----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
ขอบคุณ : ภาพประกอบจาก http://board.postjung.com/567135.html
อ่านประกอบ : โพลล์ระบุคนสามจังหวัดชอบช่อง 7 ดูละครหลังข่าว อ่าน นสพ.หัวสี เผย"ทหาร"อันดับหนึ่งชาวบ้านไม่เชื่อมั่น
http://www.isranews.org/south-news/scoop/38-2009-11-15-11-15-01/1686-7.html