เลขาธิการ กสทช.เผยแนวทางแก้ปมบ.ค่ายมือถือประมูล5G - ผ่อนปรนใช้แบงก์การันตีตปท.ได้
'ฐากร ตัณฑสิทธิ์' เลขาธิการ กสทช. เผยแนวทางผ่อนปรนค่ายมือถือร่วมประมูลคลื่น 5G ให้สามารถใช้แบงก์การันตี ตปท. วางหลักประกันได้ หลังก่อนหน้านี้เสนอทางออกให้ลงทุนก่อนค่อยเริ่มจ่ายเงินรัฐปี 65 แต่ฝ่ายเอกชนเจอปัญหากรอบวงเงินกู้เต็มเพดาน -ล่าสุดบินมานครเจนีวา เตรียมหารือร่วม ITU ขอข้อมูลไปปรับใช้แผนงานในไทย ก่อนชงบอร์ด - รัฐบาลพิจารณาอีกครั้ง
ผู้สื่อข่าว สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า เมื่อวันที่ 25 ส.ค. 2562 ที่ นครเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยว่า กสทช.เตรียมจะเสนอบอร์ด กสทช. ให้พิจารณาแนวทางการผ่อนปรนให้บริษัทค่ายมือถือที่จะเข้าร่วมการประมูลคลื่นความถี่เพื่อขับเคลื่อน 5G ของประเทศไทย สามารถใช้หนังสือค้ำประกันจากธนาคารต่างประเทศที่มีสาขาตั้งในประเทศไทย มาวางเป็นหลักประกันการลงทุน หลังจากที่ก่อนหน้านี้ กสทช.ได้เสนอแนวทางจูงใจให้บริษัทค่ายมือถือ ร่วมลงทุนประมูลคลื่น 5G ไปก่อน แล้วค่อยจ่ายเงินตอบแทนให้รัฐตั้งแต่ช่วงปี 2565 แต่มีเงื่อนไขว่าจะต้องนำหนังสือค้ำประกันจากธนาคารมาวางไว้เป็นหลักประกันก่อน แต่ปรากฏว่า บริษัทเอกชนค่ายมือถือ 2 จาก 3 ราย มียอดเงินกู้ยืมจากสถานบันการเงินในประเทศเต็มเพดานหมดแล้ว
นายฐากร ยังกล่าวย้ำว่า การประมูลคลื่นความถี่เพื่อขับเคลื่อน 5G เป็นการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญมากสำหรับประเทศไทยในช่วงเวลานี้ เพราะประเทศเพื่อนบ้าน อย่างมาเลเซีย เวียดนาม จะเริ่มเปิดให้บริการประมาณเดือนมิถุนายน 63 หากไทยดำเนินการช้ากว่าประเทศอื่น จะมีผลเสียตามมาในหลายเรื่อง โดยเฉพาะการย้ายฐานการผลิตของภาคเอกชน
"เข้าใจว่ารัฐต้องการที่จะได้เงินจากการประมูลคลื่น 5G แต่ในส่วนของภาคเอกชน จากการหารือกันล่าสุด พบว่ายังมีความกังวลอยู่มากในเรื่องการลงทุน ซึ่งมีการประเมินตัวเลขอยู่แห่งละ 2 แสนล้านบาท จึงกลัวว่าเมื่อลงทุนไปแล้วจะเกิดการขาดทุนอย่างหนักเหมือนกับกรณีทีวีดิจิทัล ทาง กสทช. จึงต้องคิดหาแนวทางข้อเสนอต่างๆ มาจูงใจให้เอกชนเข้ามาร่วมลงทุนมากขึ้น โดยเฉพาะวิธีการนอกกรอบ ไม่เช่นนั้นงานจะเดินหน้าต่อไปไม่ได้" เลขาธิการ กสทช. ระบุ (ฟังคำอธิบายฉบับเต็มในคลิปด้านล่าง)
เลขาธิการ กสทช. ยังกล่าวด้วยว่า ในวันที่ 26 ส.ค.นี้ จะเข้าปรึกษาหารือกับสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ITU) ซึ่งเป็นหน่วยงานกำกับดูแลโทรคมนาคมทั่วโลก มีที่ตั้งสำนักงานใหญ่อยู่ในนครเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เกี่ยวกับข้อมูลการดำเนินงานคลื่น 5 G ของประเทศทั่วโลก เพื่อนำมาใช้เป็นแนวทางการแก้ไขปัญหาประมูลคลื่น 5 G ของไทย ซึ่งจะมีการจัดทำเป็นแผนงานเสนอให้บอร์ด กสทช. และรัฐบาล พิจารณาเป็นทางการต่อไปด้วย
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/