คุยกับ ‘พิเชษฐ์ วิริยะพาหะ’ กับ 2 ภารกิจ ไมซ์เพื่อชุมชน-ล้างหนี้เกษตรกร
ครบ 1 ปี MICE เพื่อชุมชน คุยกับ 'พิเชษฐ์ วิริยะพาหะ' อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ ถึงเเผนขยายผลโครงการ เผยสหกรณ์หลายเเห่งยังล่าช้า ชูนโยบายปลดหนี้เกษตรกร สร้างอาชีพยั่งยืน
ครบรอบ 1 ปี ไปเมื่อไม่นานมานี้ กับการดำเนินโครงการไมซ์ (MICE) เพื่อชุมชน ของกรมส่งเสริมสหกรณ์ ร่วมกับสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ Thailand Convention & Exhibition Bureau (TCEB) เพื่อประชาสัมพันธ์ชุมชนสหกรณ์ที่มีศักยภาพและความพร้อมให้เป็นแหล่งศึกษาดูงานและสถานที่ทำกิจกรรมแห่งใหม่ โดยเริ่มมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2561 นำร่องในสหกรณ์ 35 แห่งทั่วประเทศ
| นำร่อง 35 สหกรณ์ ชู “ไมซ์เพื่อชุมชน” ขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก
| ที่นี่มีเรื่องเล่า...อาชีพพระราชทาน ณ สหกรณ์โคมนมมวกเหล็ก
นับเป็นโอกาสดีที่สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ได้พูดคุยกับ ‘นายพิเชษฐ์ วิริยะพาหะ’ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ ในฐานะหนึ่งในผู้ขับเคลื่อนโครงการดังกล่าว
นายพิเชษฐ์ กล่าวว่า ปีที่ 2 ของโครงการ MICE เพื่อชุมชน มีการขยายผลนำร่องเพิ่ม จากเดิม 35 สหกรณ์ ในปี พ.ศ. 2561 เป็น 87 สหกรณ์ ในปี พ.ศ. 2562 เน้นพื้นที่เมืองหลัก ได้แก่ กรุงเทพฯ ชลบุรี เชียงใหม่ ภูเก็ต และขอนแก่น ทั้งนี้ ที่ผ่านมาในปีแรก สหกรณ์ 35 แห่ง ยังไม่มีใครถอดใจ แต่ยอมรับว่า การพัฒนาเกี่ยวกับการสร้างสินค้าและเรื่องราวในชุมชนยังเดินช้าอยู่
“สหกรณ์จะมีสินค้าเบื้องต้นมา แต่เมื่อมีผู้เข้าชม ปรากฎว่า ไม่น่าสนใจ เนื่องจากขาดเรื่องราวในชุมชน จึงต้องเข้าไปสร้างผลิตภัณฑ์ให้เป็นเอกลักษณ์และอัตลักษณ์ของพื้นที่ มีความหลากหลาย สหกรณ์ที่มีผัก ต้องมีผักปลอดสารพิษให้รับประทาน ไม่ใช่มีเพียงผลิตภัณฑ์แปรรูปอย่างเดียว หรือสหกรณ์การเกษตรที่มีการแปรรูปอาหารเป็นผลิตภัณฑ์ ได้พูดคุยกับสถาบันอาหารเข้าไปบ่มเพาะความรู้ เป็นต้น”
ทั้งหมดจึงต้องแก้ไข! โดยยกตัวอย่างสหกรณ์การเกษตรบ้านลาด จำกัด จ.เพชรบุรี สร้างเรื่องราวในชุมชนไว้มากมาย มีการพาเข้าไปชมถึงดงตาลและสวนผัก หรือสหกรณ์การเกษตรพิมาย จำกัด จ.นครราชสีมา มีการพาไปนั่งรับประทานปลาช่อน ทำให้ผู้เข้าชมเข้าไป เพราะต้องการเห็นวัฒนธรรมของชาวบ้าน
เมื่อสอบถามถึงงบประมาณ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ บอกว่า เราไม่ใช้งบประมาณ แต่ให้สหกรณ์ดำเนินงานเอง เพราะถ้ามีงบประมาณ “สหกรณ์จะเป็นง่อย” แต่หากขาดเหลืออะไร กรมส่งเสริมสหกรณ์พร้อมช่วยเหลือ
“ถ้าเราอุ้มตลอดไป ไม่มีทาง จะเป็นง่อย ผมคิดอย่างนั้น แต่ใครไม่อยากทำ ไม่ต้องทำ ใครพร้อมอยากพัฒนายกระดับตนเองก็ทำ”
| MICE ย่อมาจาก Meetings, Incentive Travel, Conventions, Exhibitions หมายถึงธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการจัดประชุม งานแสดงสินค้า การเดินทางเพื่อเป็นรางวัล และการจัดนิทรรศการ
นายพิเชษฐ์ ระบุถึงมูลค่าของสหกรณ์ทั่วประเทศด้วยว่า ปัจจุบันมีสหกรณ์ทั่วประเทศ 8,097 แห่ง สมาชิก 11.636 ล้านคน โดยในจำนวนนี้ เป็นสหกรณ์การเกษตรมากที่สุด 4,350 แห่ง สมาชิก 6.472 ล้านคน รองลงมา คือ สหกรณ์ออมทรัพย์ 1,476 แห่ง สมาชิก 3.020 ล้านคน สหกรณ์บริการ 1,271 แห่ง สมาชิก 0.489 ล้านคน สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน 605 แห่ง สมาชิก 0.803 ล้านคน สหกรณ์ร้านค้า 198 แห่ง สมาชิก 0.645 ล้านคน สหกรณ์ประมง 106 แห่ง สมาชิก 0.015 ล้านคน และสหกรณ์นิคม 91 แห่ง สมาชิก 0.189 ล้านคน
ส่วนธุรกิจทุนดำเนินงานรวมทั้งสิ้น 3.13 ล้านล้านบาท เป็นทุนของสหกรณ์ 1.36 ล้านล้านบาท (43.45% ของทุนดำเนินงาน) ขณะที่สหกรณ์มีปริมาณธุรกิจรวม 2.52 ล้านล้านบาท โดยเป็นธุรกิจให้เงินกู้มากที่สุด 1.50 ล้านล้านบาท (59.52% ของปริมาณธุรกิจทั้งหมด) สหกรณ์ 1,573 แห่ง รวบรวมและรับซื้อผลผลิตทางการเกษตรสำคัญ ปริมาณรวมกว่า 5.530 ล้านตัน/ปี และ 718 แห่ง จัดการและแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร ปริมาณรวมกว่า 1.103 ล้านตัน/ปี
อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ กล่าวต่อถึงการดำเนินงานของกรมส่งเสริมสหกรณ์ในปี พ.ศ. 2563 ว่า จะมุ่งแก้ไขปัญหาหนี้สินของสหกรณ์ภาคการเกษตร ซึ่งจากการลงพื้นที่พบเกษตรกรทุกคนเป็นหนี้จาก 3 แหล่ง คือ กองทุนหมู่บ้าน สหกรณ์ และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) แม้จะมีการปรับโครงสร้างหนี้ แต่ก็ไม่หมดไป มิหนำซ้ำกลายเป็นหนี้โป่ง วันนี้จึงวิกฤติ! กรมส่งเสริมสหกรณ์จึงเข้าไปทำความเข้าใจกับสหกรณ์ทั่วประเทศเมื่อปีที่ผ่านมา เพื่อเชิญชวนให้เข้ามาแก้ไขปัญหาหนี้สินของสมาชิกสหกรณ์และทำให้แก้ไขหนี้สินของสหกรณ์โดยปริยาย
“วันนี้คือปัญหาหนี้ของสหกรณ์ แต่สหกรณ์แก้โดยปรับโครงสร้างให้เป็นปัจจุบัน แต่เหมือนกางร่มไม่ให้เปียกเท่านั้นเอง ซึ่งไม่ใช่การแก้ที่ต้นตอปัญหา”
กรมส่งเสริมสหกรณ์จึงปล่อยเงินจากกองทุนพัฒนาสหกรณ์ให้แก่สหกรณ์นำไปให้สมาชิกรายเดิมกู้ต่อ งบประมาณ 1,600 ล้านบาท ดอกเบี้ยร้อยละ 1 แต่คราวนี้จะต้องมีการควบคุมอย่างเคร่งครัด ไม่ยอมให้เป็นหนี้เสียซ้ำซ้อน โดยเงินก้อนแรก ให้นำไปพัฒนาสร้างแหล่งน้ำ เพราะปัญหาของเกษตรกรคือขาดแหล่งน้ำและตลาด ซึ่งได้รับการตอบรับจากหลายสหกรณ์ว่า จะต้องหยุดหนี้ หยุดรังควาน เมื่อหยุดแล้ว ค่อยนำไปสู่การสร้างรายได้
หลังจากนั้นปีถัดไปกรมส่งเสริมสหกรณ์จะเข้าไปดูแลเรื่องอาชีพ โดยให้กรมส่งเสริมสหกรณ์และกรมวิชาการเกษตรเข้าไปดูแล อย่างน้อยให้ขายผลผลิตได้ และไม่กู้เพิ่มเติมใน 2 ปีแรก ปีต่อไปค่อยใช้หนี้ อย่างไรก็ตาม แม้เกษตรกรจะไม่สามารถตอบรับเข้าร่วมโครงการทั้งหมด แต่เชื่อว่า อนาคตจะเกิดการเลียนแบบ ดังนั้น จึงต้องดำเนินโครงการกับเกษตรกรที่มีความพร้อมก่อน .
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/