วสท.ร่วม 6 องค์กร ออกแถลง ฉ.2 จี้รบ.ควรทบทวนทีโออาร์ใหม่
แถลงการณ์ ฉ.2 วสท. จับมือภาคี ย้ำแนวคิด รบ.ต้องยึดหลักการบริหารจัดการทางวิศวกรรม แก้คุณสมบัติที่ปิดกั้นคนไทย ตั้ง คกก.หาฉันทามติข้อเสนอคลอดแผนจัดการน้ำที่ปชช.ตรวจสอบได้
วันที่ 30 กรกฎาคม สมาคมวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย (วสท.) ร่วมกับสภาวิศวกร สมาคมวิศวกรที่ปรึกษาแห่งประเทศไทย เครือข่ายประชาชน 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง สภาคณะบดี คณะวิศวกรรมศาสตร์ สมาคมนักอุทกวิทยาไทย และประธานสภาลุ่มน้ำท่าจีน ร่วมกันออกแถลงการณ์ ฉบับที่ 2 ในประเด็น : TOR ประกาศเชิญชวนผู้สนใจเข้าร่วมเสนอกรอบแนวคิด (Conceptual Plan) เพื่อออกแบบก่อสร้างระบบบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืนและระบบแก้ไขปัญหาอุทกภัยของประเทศไทย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อประมวล วิเคราะห์และรวบรวมข้อเสนอแนะอย่างงครบถ้วนรอบด้านเสนอแก่รัฐบาล
นายสุวัฒน์ เชาว์ปรีชา นายกฯ วสท. กล่าวว่า ภายหลังรับฟังคำชี้แจงของรัฐบาลเมื่อวันที่ 24 ก.ค.2555 แล้ว วสท.และเครือข่ายเห็นว่า โครงสร้างของทีโออาร์ ฉบับนี้ขาดความเป็นสากลเชิงวิชาการ โดยเฉพาะการที่โครงการมีแนวโน้มว่าจะเป็นไปในลักษณะการออกแบบ-ก่อสร้าง (Design & Built) ซึ่งเคยมีมติ ครม.ไม่อนุมัติให้โครงการขนาดใหญ่ดำเนินการในลักษณะดังกล่าว เนื่องจากไม่สามารถยืนยันความเหมาะสมของแบบร่าง (Conceptual Design) และไม่สามารถควบคุมราคาก่อสร้างที่สมเหตุสมผลได้
นายสุวัฒน์ กล่าวต่อว่า วสท.และเครือข่ายมีความเห็นว่าการดำเนินงานโครงการขนาดใหญ่ ควรดำเนินการให้ถูกต้องตามหลักการบริหารจัดการทางวิศวกรรม (Engineering Management) ดังนั้น โครงการระดับชาติ 3.5 แสนล้านบาท ควรมีแนวทางการดำเนินงานที่ถูกต้องเหมาะสม ดังนี้
1.รัฐบาลไม่ควรกำหนดคุณสมบัติผู้ยื่นข้อเสนอ Conceptual Plan ตามทีโออาร์ ที่ระบุว่า ผู้เสนอต้องเคยมีผลงานด้านการออกแบบระบบพัฒนาแหล่งน้ำขนาดใหญ่ ในช่วงระหว่างปี 2545-2555 ในประเทศไทยหรือต่างประเทศ มูลค่าการก่อสร้างไม่น้อยกว่า 3 หมื่นล้านบาท แต่รัฐบาลควรเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนได้แสดงความคิดเห็นและมีส่วนร่วมในการเสนอกรอบแนวคิดอย่างกว้างขวางเพื่อประกอบการพิจารณา
2.เมื่อระดมความคิดแล้วจึงตั้งคณะกรรมการกำกับและดูแลโครงการ ที่เรียกว่า General Engineering and Steering Committee (GESC) ซึ่งมีความรู้โดยตรงด้านวิศวกรรมในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ทำหน้าที่รวบรวมและกลั่นกรองข้อเสนอ หาฉันทามติและกำหนดแผนการดำเนินงาน สร้างแผนกระจายงานไปยังหน่วยงานและองค์กรต่างๆ และติดตาม กำกับการดำเนินงานให้เป็นไปตามแผน
3.เมื่อได้แผนแม่บทแล้ว จึงดำเนินการศึกษา ออกแบบและก่อสร้าง
4.แนวทางการแก้ปัญหาการบริหารจัดการน้ำ ไม่ควรใช้มาตรการด้วยสิ่งก่อสร้างเป็นหลัก ควรเน้นการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการให้สอดคล้องกับธรรมชาติวิถีชุมชน
5.การบริหารจัดการน้ำต้องคำนึงถึงภัยแล้งควบคู่กันไป โดยเฉพาะพื้นที่ท่วมแล้งซ้ำซาก ต้องขจัดให้หมดไป
6.รัฐบาลต้องจัดลำดับความพร้อมและความสำคัญก่อนหลังในการดำเนินงาน (Priority) ของแต่ละโครงการ กล่าวคือ สำหรับโครงการที่พร้อมแล้ว ทั้งการศึกษาความเหมาะสมด้านวิศวกรรม สิ่งแวดล้อมและสิทธิชุมชน ให้ดำเนินการก่อสร้างทันที แต่ในส่วนโครงการที่ยังไม่มีความพร้อม เช่น ยังไม่ได้ศึกษาความเหมาะสมของโครงการ (Feasibility Studies) และการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม ให้เร่งดำเนินการอย่างครบถ้วนโดยเร็ว
7.รัฐบาลจะต้องจัดให้มีกระบวนการตรวจสอบและติดตามจากภาคประชาชนควบคู่กันไปด้วยในทุกขั้นตอน
อย่างไรก็ตาม นายกฯวสท. กล่าวด้วยว่า แถลงการณ์ฉบับดังกล่าว ไม่ได้ขัดขวางการดำเนินการแก้ไขปัญหาอุทกภัยของรัฐบาล แต่เป็นการแสดงเจตนารมณ์ด้วยความบริสุทธิ์ใจ เพื่อประโยชน์สูงสุกของประชาชนและประเทศชาติร่วมกัน
ขณะที่ดร.อภิชาติ สระมูล เลขาธิการสมาคมวิศวกรที่ปรึกษาแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ทีโออาร์มีความคลุมเครือและไม่มีการศึกษาความเหมาะสมด้านต่างๆ ในระยะยาวที่เป็นภาพรวมทั้งหมด ขาดความชัดเจนเรื่องขอบเขตงาน เกณฑ์การคัดเลือก ซึ่งเป็นเรื่องที่ควรทำอย่างยิ่งสำหรับโครงการขนาดใหญ่ของประเทศที่มีงบประมาณสูงถึง 3.5 แสนล้านบาท ทั้งนี้ หากไม่มีการศึกษาความเหมาะสมในขั้นตอนการก่อสร้างอาจจะไม่เกิด เช่น การสร้างฟลัดเวย์ จะต้องติดปัญหาเรื่องการเวนคืนที่ดิน และการเยียวยาผู้ถูกเวนคืน ส่วนนี้เป็นสิ่งสำคัญที่ต้องระบุให้ชัดในทีโออาร์ด้วย
ด้านนายประเสริฐ โพธิ์วิเชียร สมาคมนักอุทกวิทยาไทย กล่าวว่า เมื่อศึกษาทีโออาร์แล้วพบว่ามีการวางกรอบที่กว้าง ไม่เข้าประเด็น ทั้งนี้ กรอบเวลาดำเนินงานของ 8 โครงการในงบประมาณ 3.5 แสนล้านบาทภายใน 3-5 ปีนั้นไม่มีทางเป็นไปได้ เช่นเดียวกับการดำเนินการแบบ design and built ยิ่งเป็นไปได้ยากหากทีโออาร์ไม่มีรายละเอียดที่ชัดเจนกว่านี้ ซึ่งประเด็นดังกล่าวเป็นความอ่อนไหวเชิงวิศวกรรม และพบว่ามีอีกหลายประเด็นที่ทีโออาร์ฉบับนี้ไม่ครอบคลุม