ครป.จี้ศธ.ทบทวนการดำเนินนโยบายโรงเรียนอีลิท
คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย ชี้นโยบายโรงเรียนอีลิทเป็นเพียงแนวคิดที่ยิ่งขยายช่องว่างและความเหลื่อมล้ำทางสังคมออกไปอีก รวมถึงตอกย้ำและแบ่งแยกเยาวชนภายใต้ระบบการศึกษาที่ไม่เป็นธรรมต่อไปไม่รู้จบ ขณะที่รมว.ศธ.ชี้แนวคิดดังกล่าวที่แพร่ในโลกออนไลน์ ไม่เป็นความจริง ยันมีเรื่องอื่นให้ทำก่อนอีกมากมาย
วันที่ 23 สิงหาคม 2562 คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) ออกแถลงการณ์คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย ฉบับที่ 3/2562 เรื่อง ขอให้กระทรวงศึกษาธิการเร่งปฏิรูปการศึกษาและทบทวนการดำเนินนโยบายโรงเรียนอีลิท (Elite)
สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 15 สิงหาคมที่ผ่านมา ประธานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(กพฐ.) ได้เปิดเผยถึงแนวนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (นายณัฐพล ทีปสุวรรณ) ที่ประสงค์ให้มีการสร้าง “โรงเรียนอีลิท” (Elite) ขึ้นเพื่อเป็นไปตามข้อเสนอแนะของ กพฐ. ที่ต้องการให้มีการเปิดรับเฉพาะนักเรียนที่มีความเป็นเลิศทางวิชาการโดยการสอบเข้า 100% เพื่อคัดกรองเด็กที่เรียนเก่งมีความเป็นเลิศเข้าเรียนโดยตรงนั้น
ครป. ซึ่งผลักดันการพัฒนาประชาธิปไตยและการปฏิรูประบบการศึกษาที่เป็นธรรมมาอย่างต่อเนื่อง มีข้อห่วงกังวลต่อแนวคิดดังกล่าวอย่างมาก
เนื่องจากเรื่องนี้ไม่เพียงแค่ขัดแย้งกับแนวนโยบายการปฏิรูปการศึกษาที่ภาคประชาสังคมขับเคลื่อนผลักดันมาโดยตลอดเพื่อพัฒนาการศึกษาที่รับใช้สังคมและเอาชุมชนเป็นศูนย์กลางการศึกษาโดยให้การศึกษาเป็นรัฐสวัสดิการเท่านั้น นโยบายดังกล่าวยังเป็นการเลือกปฏิบัติทางการศึกษาต่อพลเมือง ส่งเสริมความเหลื่อมล้ำทางสังคม ขัดแย้งกับนโยบายรัฐสวัสดิการด้านการศึกษาที่รัฐควรสนับสนุนอย่างเต็มที่
ทั้งนี้ นโยบายดังกล่าวยังขัดแย้งกับแนวนโยบายที่รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (คุณหญิงกัลยา โสภณพานิช) ที่ได้กล่าวถึงนโยบายการลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาอีกด้วย
นอกจากนี้ ระบบการศึกษาในปัจจุบันมีความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาอย่างมาก ด้วยวิธีคิดของโรงเรียนที่มุ่งการสร้างเด็กให้เหมาะสมกับโรงเรียนโดยไม่เอาเด็กเป็นศูนย์กลางของการเรียนรู้ และให้ความสำคัญกับระบบการแข่งขันแบบ “แพ้คัดออก” มาโดยตลอด ซึ่งได้สร้างผู้พ่ายแพ้ในระบบการศึกษาที่มุ่งเน้นแต่ความเป็นเลิศทางวิชาการมาอย่างต่อเนื่อง และผลิตคนเข้าสู่กลไกตลาดแรงงานที่ไม่มีคุณภาพ ให้ค่ากับผู้ชนะหรือผู้เป็นเลิศในระบบการศึกษาซึ่งเป็นจำนวนส่วนน้อยในสังคมเป็นหลัก
แม้แต่ผู้ที่มีความเป็นเลิศในกิจกรรมนอกหลักสูตร (Extracurricular activities) ก็ไม่ได้รับโอกาสในการส่งเสริมทางสังคมเหมือนผู้มีความเป็นเลิศทางวิชาการ ซึ่งทำให้มีแต่ผู้พ่ายแพ้ในระบบการศึกษากระแสหลักจำนวนมาก เพียงเพราะระบบการศึกษาไม่ได้พัฒนาในสิ่งที่ตรงและเหมาะสมตามศักยภาพของผู้เรียนที่มีความแตกต่างหลากหลาย
นอกจากนี้ระบบ “แพ้คัดออก” ยังได้ผลักเด็กจำนวนมากออกจากระบบการศึกษาและเข้าสู่วงจรด้านมืดของสังคมอีกด้วย
ความเหลื่อมล้ำในระบบการศึกษาที่ฝังรากลึกในสังคมไทยมาอย่างยาวนานยังขาดการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรมจากกระทรวงศึกษาธิการ แม้จะมีต้นแบบ (Model) นำเสนอจากภาคประชาสังคมและเครือข่ายการศึกษาทางเลือก ก็ยังไม่ได้รับการขยายผลต่ออย่างจริงจังโดยภาครัฐ
ทั้งนี้ นโยบายโรงเรียนอีลิทเป็นเพียงแนวคิดที่ยิ่งขยายช่องว่างและความเหลื่อมล้ำทางสังคมออกไปอีก รวมถึงตอกย้ำและแบ่งแยกเยาวชนภายใต้ระบบการศึกษาที่ไม่เป็นธรรมต่อไปไม่รู้จบ
ครป. จึงขอเรียกร้องให้รัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการโปรดทบทวนนโยบายดังกล่าว และมุ่งหาทางออกเพื่อปฏิรูประบบการศึกษาอย่างจริงจัง สร้างรัฐสวัสดิการทางการศึกษาที่มีคุณภาพ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา พัฒนาคุณภาพการศึกษาให้เท่าเทียมกันทุกจังหวัด เน้นการศึกษาแบบองค์รวม และการให้การศึกษาทางการเมืองแก่พลเมือง (Civic Education) อย่างเต็มที่
โดยเน้นการศึกษาเรียนรู้โดยเอาชุมชนและเด็กเป็นศูนย์กลางท่ามกลางความหลากหลาย เลิกระบบการประเมินการสอนและการควบคุมที่ซ้ำซ้อนและไม่เป็นประโยชน์ต่อครูและนักเรียน เพื่อพัฒนาระบบการศึกษาไทยที่เหมาะสมกับการพัฒนาทรัพยากรบุคคลที่มีความสนใจตามความถนัดของเยาวชน
การศึกษาของไทยต้องรองรับสังคมแห่งความแตกต่างหลากหลาย มีคุณภาพอย่างเท่าเทียมเป็นธรรม ส่งเสริมความเสมอภาคในโอกาสแห่งการเรียนรู้ และทำให้ผู้เรียนทุกคนเติบโตอย่างมีความสุข มีความฉลาดทางอารมณ์ มีความภาคภูมิใจในตนเองและสังคม รวมถึงตระหนักถึงความสำคัญในฐานะหนึ่งในสมาชิกสังคมที่จะต้องส่วนร่วมเป็นฟันเฟืองในการขับเคลื่อนประเทศไปด้วยกันต่อไป.
การศึกษาต้องรับใช้สังคม มิใช่รับใช้อำนาจรัฐและทุน
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ นายณัฐพล ทีปสุวรรณ เคยโพสต์เฟชบุคถึงแนวคิดโรงเรียนที่มีการอ้างว่า จะทำทันที ซึ่งเผยแพร่กันอยู่ในโลกออนไลน์ว่า ไม่เป็นความจริงและบิดเบือนทำให้คนเข้าใจผิด
"ผมยืนยันถึงการสร้างความเท่าเทียมเรื่องพื้นฐานการศึกษา และรัฐควรจัดสรรงบประมาณในการทำตรงนี้ให้มีประสิทธิภาพเต็มที่ที่สุด"
นายณัฐพล กล่าวยังกล่าวถึงเด็กไทยอีกจำนวนหนึ่งที่มีพรสวรรค์มากๆที่ขาดโอกาสในการเพิ่มศักยภาพตัวเองให้ถึงที่สุด ซึ่งเรามีลูกหลานเหล่านี้กระจายตัวอยู่ทั่วประเทศ ถ้ามีเวทีให้เค้าบ่มเพาะตัวเอง อยู่ในสังคมที่เราเตรียมความพร้อมสำหรับปัญหาที่เด็กมีพรสวรรค์มักจะเจอ สร้างภูมิคุ้มกันจุดอ่อน เขาอาจจะเป็นอะไรที่พิเศษมากสำหรับประเทศไทย แต่ก่อนจะทำเรื่องนี้มีเรื่องอื่นๆที่ต้องทำมากมาย
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/