ฮันนา บีช : เธอ..ผู้ตีแผ่ชีวิตบนถนนเมืองไทย
สิ่งที่เธอนำเสนอไว้ในบทความนี้ ไม่ว่าจะถูกใจคนไทยหรือไม่ก็ตามเธอได้ สะท้อนถึงความบิดเบี้ยวของสังคมไทยในแง่มุมที่คนไทยไม่อยากพูดถึงและยากที่จะปฏิเสธได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประโยคที่แทงใจดำคนไทยที่ว่า “ประเทศไทยมีความไม่เท่าเทียมกันทั้งตอนมีชีวิตอยู่และตอนตาย” นั้น บอกถึงภาวะความไม่ปกติในสังคมไทยได้ในระดับหนึ่ง
นับเป็นข่าวที่ไม่สู้ดีนักสำหรับเมืองไทย เมื่อสื่อใหญ่อย่างนิวยอร์กไทม์ได้ตีข่าวไปทั่วโลกทั้งข่าวภาคภาษาไทยและภาษาอังกฤษว่า “ ถนนในเมืองไทยเป็นถนนที่อันตราย โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าคุณเป็นคนจน” หรือ “Thailand’s Roads Are Deadly. Especially, If You Are Poor”
ผู้นำเสนอเป็นนักข่าวสาวชื่อ ฮันนา บีช (Hanna Beech) ซึ่งที่ผู้อยู่ในวงการสื่ออาจรู้จักเธอดีเพราะเธอพำนักอยู่ในกรุงเทพฯ เมืองไทยของเรานี่เอง เธอเขียนข่าว สังคม การเมือง ของไทยและประเทศในแถบเอเซีย รวมทั้งร่วมเขียนข่าวภาษาอังกฤษกับนักข่าวไทยอยู่บ่อยครั้ง แต่ดูเหมือนว่า บทวิเคราะห์ของเธอคราวนี้เป็นที่สนใจของสังคมไทยมากกว่าข่าวอื่นๆที่เธอได้เขียนมาก่อนหน้านี้
ฮันนา บีช เป็นนักข่าวชาวอเมริกันของสำนักข่าวนิวยอร์กไทม์ ปัจจุบันเป็นหัวหน้าสำนักงานเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สำนักงานกรุงเทพ จากข้อมูลของสำนักข่าวนิวยอร์กไทม์ ฮันนา เป็นลูกครึ่ง ญี่ปุ่น-อเมริกัน แม้ว่าเธอจะได้รับการศึกษาในสหรัฐอเมริกาและทำงานให้กับสำนักข่าวสัญชาติอเมริกัน แต่งานของเธอส่วนใหญ่อยู่ในเอเชีย เธอจึงเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านข่าวของประเทศต่างๆ ในเอเชียและคุ้นเคยกับคนเอเชีย เป็นอย่างดี
เธอสามารถพูดได้ทั้งภาษาอังกฤษ ภาษาญี่ปุ่น ภาษาจีน และน่าจะพูดและเข้าใจภาษาไทยได้เป็นอย่างดีด้วย การใช้ชีวิตของเธอในกรุงเทพฯ พร้อมกับสามี ซึ่งเป็นนักเขียนด้วยกัน จึงทำให้เธอได้รับประสบการณ์ที่เกิดขึ้นในประเทศไทยไม่น้อยกว่าคนไทยคนหนึ่ง
บทความของเธอสะท้อนถึงการใช้ชีวิตของผู้คนบนถนนในประเทศไทยในแง่มุมต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความเชื่อมโยงระหว่างความไม่เท่าเทียมกันระหว่างคนยากจนกับคนมีฐานะ ซึ่งไม่ใช่แค่ความไม่เท่าเทียมทางทรัพย์สินเท่านั้น แม้แต่การใช้ถนนในเมืองไทยที่เชื่อกันว่า อันตรายที่สุดในโลกประเทศหนึ่งก็ยังเต็มไปด้วยความไม่เท่าเทียม รวมถึงแนวความคิดของคนไทยหรือนโยบายรัฐที่ขัดแย้งกันต่อการแก้ปัญหาการเกิดอุบัติเหตุและปัญหาอื่นๆของสังคมไทย เธอได้เรียนรู้สิ่งที่เกิดขึ้นบนถนนเมืองไทยและสะท้อนสิ่งที่เธอได้สัมผัสเอาไว้ดังนี้
- ประเทศไทยมีอัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนถนนมากที่สุดเป็นอันดับสองของโลกตามรายงานประจำปี พ.ศ. 2558 ขององค์การอนามัยโลก และมีอัตราการเสียชีวิตจากรถจักรยานยนต์มากที่สุดในโลก ( ปัจจุบันอัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนของไทยอยู่ในอันดับที่ 9 ของโลกแต่อัตราการเสียชีวิตจากจักรยานยนต์ยังคงเป็นอันดับ 1 )
- รัฐบาลได้ให้คำปฏิญาณที่องค์การสหประชาชาติในปี พ.ศ. 2558 ที่จะลดอัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนนลงครึ่งหนึ่งภายในปี พ.ศ. 2563 แต่ประเทศไทยก็ยังห่างไกลจากการที่จะทำให้สัญญาที่ได้ให้ไว้ เป็นจริง
- ถนนภายในประเทศไทยถูกจัดอันดับให้เป็นถนนที่อันตรายที่สุด 10 อันดับแรกในโลก จากจำนวนการเสียชีวิตด้วยอุบัติเหตุ
- คนมีอำนาจและคนมีเงินมักไม่ถูกลงโทษเมื่อกระทำผิดบนท้องถนน : ยกตัวอย่างกรณีของหญิงสาวที่เสียชีวิตจากอุบัติเหตุจักรยานยนต์ถูกรถยนต์ของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่มีอาการมึนเมาชนจนทำให้เธอเสียชีวิตแต่ไม่ถูกดำเนินคดี รวมทั้งทายาทเจ้าของเครื่องดื่มชูกำลังที่ขับรถชนตำรวจตาย แต่ยังจับตัวไม่ได้
- ประเทศไทยได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่มีความไม่เท่าเทียมกันมากที่สุดใน 40 ประเทศเศรษฐกิจใหญ่ ซึ่งอาจเป็นปัจจัยที่อันตรายต่อความปลอดภัยด้านการจราจรที่สูงสุดในโลก
- ประเทศไทยมีความไม่เท่าเทียมกันทั้งทางเศรษฐกิจและความยุติธรรม
- รัฐบาลจากการรัฐประหารปี พ.ศ. 2557 ที่นำทีมโดยนายทหารเกษียณอายุแทบไม่ได้แก้ปัญหาเรื่อง ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจซึ่งเป็นปัญหาหลักของการเสียชีวิตบนถนนของประเทศไทย
- แม้ว่าโดยรวมประเทศจะค่อนข้างยากจน แต่ก็มีโครงข่ายถนนราดยางสภาพดีที่เหมาะกับการขับขี่ด้วยความเร็วสูง พาหนะที่ผู้มีฐานะ และชนชั้นกลางที่มีจำนวนมากขึ้นในสังคมใช้มักจะเป็นรถยนต์รุ่นใหม่ซึ่งมีสมรรถนะสูง แต่ชาวบ้านส่วนใหญ่สามารถเป็นเจ้าของรถจักรยานยนต์เพียงคันเดียวต่อครอบครัวเท่านั้น
- การบังคับใช้กฎหมายที่อ่อนแอประกอบกับการคอร์รัปชัน เป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุการเสียชีวิตและบาดเจ็บของผู้คน
- คนไทยขาดความรู้และความใส่ใจต่อการป้องการอุบัติเหตุทางถนนแก่ตัวเอง
- คำว่า ‘สบาย สบาย’ เป็นเหตุผลที่ทำให้เมืองไทย เป็นเมืองที่ผ่อนคลายน่าเที่ยว แต่ในทางกลับกันก็เป็นทัศนคติที่ไม่ช่วยส่งเสริมให้มาตรฐานด้านความปลอดภัยของประเทศสูงขึ้น
ไม่ว่าเธอจะมีทัศนคติกับรัฐบาลคุณประยุทธ์ในทางใดก็ตาม แต่เธอได้ตั้งโจทย์ใหญ่ให้กับรัฐบาลคุณประยุทธ์และสังคมไทยต่อการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุของคนไทยและความเหลื่อมล้ ำซึ่งแม้ว่ารัฐบาลจะพยายามแก้ไขแต่ก็ยังไม่เห็นผลใดๆในทางปฏิบัติ
สิ่งที่เธอนำเสนอไว้ในบทความนี้ ไม่ว่าจะถูกใจคนไทยหรือไม่ก็ตามเธอได้ สะท้อนถึงความบิดเบี้ยวของสังคมไทยในแง่มุมที่คนไทยไม่อยากพูดถึงและยากที่จะปฏิเสธได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประโยคที่แทงใจดำคนไทยที่ว่า “ประเทศไทยมีความไม่เท่าเทียมกันทั้งตอนมีชีวิตอยู่และตอนตาย” นั้นบอกถึงภาวะความไม่ปกติในสังคมไทยได้ในระดับหนึ่ง
ประเทศไทยเป็นสังคมที่ไร้ระเบียบในการใช้รถ-ใช้ถนน ดังนั้นมาตรการใดก็ตามที่จะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุจึงต้องพิจารณาอย่างรอบคอบและรับฟังเสียงสะท้อนจากสังคมและให้ความสำคัญต่อผลการศึกษา ข้อเสนอแนะ ของทั้งหน่วยงานในประเทศไทยเราเองและประเทศอื่นๆที่ได้ศึกษามาแล้วอย่างจริงจัง
อ่านบทความภาษาไทยและภาษาอังกฤษฉบับเต็มของเธอได้ที่ https://www.nytimes.com/th/2019/08/20/world/asia/thailand-road-deaths.html
ภาพประกอบhttps://www.nytimes.com/th/2019/08/20/world/asia/thailand-road-deaths.html
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/