รมต.ดีอี ตั้งเป้า 3-5 ปี ไทยเป็นประเทศศูนย์กลางดิจิทัลของอาเซียน
'พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์' ตั้งเป้า 3-5 ปี ไทยเป็นประเทศศูนย์กลางดิจิทัลของอาเซียน เล็งเปลี่ยนสถาบันไอโอที ของดีป้า พัฒนาต่อยอดให้เป็น Digital Valley สนับสนุนให้เกิดการลงทุน และเป็นที่วิเคราะห์ ทดสอบ ทดลองนวัตกรรมดิจิทัล ทั้ง AI, IoT, Big Data และ 5G ส่วนการผลิตบุคลากรที่มีทักษะดิจิทัล 4 หมื่นคนภายใน 2 ปี เชื่อเป็นไปได้ เตรียมคุยกับผู้บริหารนิคมอุตสาหกรรมอมตะนคร
วันที่ 22 สิงหาคม ชมรมนักข่าวสายเทคโนโลยีสารสนเทศ (ITPC) และสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย จัดเสวนาจิบน้ำชา ครั้งที่ 3/2562 ณ ห้องประชุมอิศรา อมันตกุล ชั้น 3 อาคารสมาคมนักข่าวฯ ถนนวชิระ
นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวถึงความคืบหน้าการจัดตั้งศูนย์ปราบ Fake News (ข่าวปลอม) ซึ่งเป็นนโยบายของกระทรวงฯ ตั้งแต่เข้ามาทำงาน ด้วยข่าวปลอมเป็นปัญหาสังคมไม่มีใครเข้ามาทำ อีกทั้งการแก้ไขปัญหาเรื่องนี้ไม่ง่ายที่จะบอกข่าวไหนจริง ข่าวไหนลวง ขณะนี้เราได้ประสานงานกับหน่วยต่างๆ ที่เกี่ยวข้องจากหลายภาคส่วนแล้ว
"ศูนย์ปราบ Fake News ต้องเผยแพร่ข้อมูลที่ถูกต้อง รวดเร็ว เมื่อเกิด Fake News ต้องรีบแจ้งยืนยันเป็นข่าวปลอมให้ได้ภายใน 1 ชั่วโมง เพราะยิ่งช้าจะยิ่งเกิดผลเสียร้ายแรงต่อสังคม " นายพุทธิพงษ์ กล่าว และว่า ส่วนเจตนาในการปล่อยข่าวลวง เจตนาดีหรือไม่ดี ก็จะเป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจ และผู้มีหน้าที่ตามพระราชบัญญัติคอมพิวเตอร์ฯ ที่จะเอาผิดต่อไป
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลฯ กล่าวถึงการทำงานจากนี้ไปประชาชนจะเห็นความเปลี่ยนแปลงของกระทรวงฯ ในอีกมิติหนึ่ง เน้นภาคประชาชน เกษตรกร ผู้มีรายได้น้อย นำเทคโนโลยีดิจิทัล ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิต เพิ่มรายได้ใหัครัวเรือน หรือหากมีสินค้าที่จะขายก็ให้ไปรษณีย์ไทยไปช่วยขนส่ง คิดค้นวิธีการขนส่งให้ได้รวดเร็วราคาถูก
ส่วนแผนส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล นายพุทธิพงษ์ กล่าวว่า ไทยวางเป้าหมายภายใน 3-5 ปี จะเป็นประเทศศูนย์กลางของดิจิทัลของอาเซียน (Digital HUB) เปลี่ยน สถาบันไอโอที (IoT Institute) ที่สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือดีป้า ทำไว้ พัฒนาต่อยอดให้เป็น Digital Valley สถานที่สนับสนุนให้เกิดการลงทุน และเป็นที่วิเคราะห์ ทดสอบ ทดลองนวัตกรรมดิจิทัล ทั้ง AI, IoT, Big Data, 5G Application, Smart Devices และ High Value Added Software ต่างๆ ทั้งภาคเอกชนจากในและต่างประเทศ
"ภายใน 2 ปี ประเทศต้องการบุคลากรที่มีทักษะดิจิทัลประมาณ 4 หมื่นคน ถามว่าเราจะผลิตบุคลากรอย่างไรให้เพียงพอกับความต้องการ ยอมรับว่า ไม่ใช่เรื่องง่าย ดังนั้นกระทรวงฯ จะเข้าไปหารือกับทางนิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ จ.ชลบุรี. ซึ่งมีโรงงานที่ใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยเกินครึ่ง แทนที่เราจะไปหาบุคลากรใหม่ ๆ เราก็ให้เขาหาบุคลากรที่ทำงานสายดิจิทัล มีพื้นฐานอยู่แล้ว มาพัฒนาทักษะที่มีอยู่ (reskil)และเสริมทักษะใหม่ๆ (upskill) ด้านดิจิทัล "
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/