สันติภาพจังหวัดชายแดนใต้ ความขัดแย้งยังอยู่ หรือคลี่คลาย
การที่คนนอกพื้นที่ทั้งต่างชาติและคนไทยทำความเข้าใจปัญหาชายแดนใต้มากขึ้น นั่นอาจจะนำมาสู่ความรุนแรงที่อาจลดลง ในความเป็นจริง ความขัดแย้งยังคงอยู่ ไม่ได้ถูกจัดการหรือคลี่คลาย โอกาสที่ทั้งความรุนแรงและขัดแย้งจะขยายเพิ่มยังมีอยู่เพราะเป็นการแก้ปัญหาที่ไม่ถูกจุด
เมื่อเร็ว ๆ นี้ ศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับ สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล, ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (Deep South Watch) และมูลนิธิผสานวัฒนธรรม จัดเวทีเสวนาโต๊ะกลม ภายใต้หัวข้อ สันติภาพ จตช. : โอกาสการขยายตัวของความรุนแรงและบทบาทคนนอก ณ ห้องจุมภฏ - พันธ์ทิพย์ อาคารประชาธิปก รำไพพรรณี ชั้น 4 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
จากเหตุการณ์และปัญหาความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นปัญหาที่อยู่ในสังคมไทยเป็นระยะเวลายาวนาน นายรอมฎอน ปันจอร์ บรรณาธิการศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (Deep South Watch) ให้ข้อมูลถึงสถานการณ์ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ จังหวัดปัตตานี ยะลา นราธิวาส และ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา ระหว่างเดือน ม.ค. 2547 - มิ.ย. 2562 จากเหตุความรุนแรงทั้งหมดที่ผ่านมา ความถี่ของเหตุการณ์การลอบยิง คิดเป็นร้อยละ 81 ของความรุนแรงทั้งหมด รองลงมา เป็นการรลอบวางระเบิด ร้อยละ 10, การโจมตี/ปะทะ ร้อยละ 2 การทำร้ายร่างกาย ร้อยละ 3 และสถานการณ์อื่นๆ ร้อยละ 4 ขณะที่พลเรือนหรือประชาชนทั่วไปที่ตกเป็นเหยื่อ มากถึงร้อยละ 71
“ตลอดระยะเวลา 3 ปีที่ผ่านมา ภาครัฐเปลี่ยนวิธีการรับมือสถานการณ์อย่างค่อยเป็นค่อยไป มีแนวคิดที่อยู่เบื้องหลังนโยบายรัฐบาล ตั้งแต่ยุคคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. คือ กลับมาสู่การป้องกันและปราบปรามผู้ก่อความไม่สงบมากขึ้น มีแผนการพัฒนาและลดความรุนแรง รวมถึงทำลายโครงสร้างของขบวนการกลุ่มแนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติมาลายูปัตตานี หรือ บีอาร์เอ็น (BRN) อย่างเห็นได้ชัด”
ส่วนเอกสารทางนโยบายของ คสช. ยืนยันว่า รัฐบาลกังวลต่อสิ่งที่ไม่สามารถทำให้บรรลุผลได้ คือ การจำกัดสายพานการผลิตนักรบรุ่นใหม่หรือผู้สนับสนุน BRN ถึงแม้มีการพยายามสร้างความร่วมมือกับภาคประชาสังคมในไทยและต่างประเทศ แต่เป็นการมุ่งสร้างความเข้าใจเพื่อไม่ให้องค์กรเหล่านี้ไม่เป็นอันตรายต่อหน่วยงานรัฐเป็นเรื่องที่ท้าทาย
การที่คนนอกพื้นที่ทั้งต่างชาติและคนไทยทำความเข้าใจปัญหาชายแดนใต้มากขึ้น นั่นอาจจะนำมาสู่ความรุนแรงที่อาจลดลง นายรอมฎอน เห็นต่าง โดยมองว่า ในความเป็นจริง ความขัดแย้งยังคงอยู่ ไม่ได้ถูกจัดการหรือคลี่คลาย โอกาสที่ทั้งความรุนแรงและขัดแย้งจะขยายเพิ่มยังมีอยู่เพราะเป็นการแก้ปัญหาที่ไม่ถูกจุด
“ที่ผ่านมาภาครัฐพยายามทำให้ไม่เห็นถึงความขัดแย้งที่ยังคงดำรงอยู่ในพื้นที่ แม้แต่การใช้ถ้อยคำในภาษาทางการและภาษาอังกฤษ อย่างคำว่า สันติสุข ไม่ใช้ สันติภาพ, ใช้คำว่า ความรุนแรง ไม่ใช้คำว่า ความขัดแย้ง หรือการเปลี่ยนชื่อเรียกผู้ก่อความไม่สงบเป็นผู้ก่อความรุนแรงก็ตาม”
นางลม้าย มานะการ ผู้ประสานคณะทำงานวาระผู้หญิงชายแดนใต้ องค์กรผู้หญิงภาคประชาสังคม และนักเคลื่อนไหวทางสังคมในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เห็นว่า ภาษา คือข้อจำกัดที่ทำให้เกิดช่องว่างระหว่างภาครัฐและประชาชนชาวมุสลิมมากกว่าประชาชนชาวพุทธ ในขณะที่ช่องว่างของชาวพุทธกับชาวมุสลิมโดยภาพรวม เพิ่มสูงมากขึ้นตั้งแต่ปี 2547 โดยชาวมุสลิม เชื่อว่า ทหารเป็นผู้กระทำและสร้างความรุนแรง ส่วนชาวพุทธเชื่อว่า ผู้ก่อความรุนแรงคือมุสลิม อีกทั้งชาวพุทธในพื้นที่ได้เริ่มแบ่งแยกประชาสังคมที่เป็นชาวพุทธมากขึ้น หากทำกิจกรรมกับมุสลิมหรือเรียกร้องให้ภาครัฐเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจะถูกกล่าวหาว่า เป็นองค์กรสาธารณะประโยชน์ (NGOs) ของฝ่ายขบวนการ และยังถูกเจ้าหน้าที่รัฐมองเป็นกองสนับสนุนของอีกฝ่ายอีกด้วย ทำให้ประชาชนบางกลุ่มเลือกที่จะนิ่งเฉยหรือกันตัวเองออกปัญหาหรือทำให้ตัวเองเป็นคนนอก
สำหรับปัญหาหรือการสร้างสันติภาพ พระมหานภันต์ สนฺติภทฺโท ผู้ช่วยเจ้าอาวาส และหัวหน้าพระวิทยากรสำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรมฯ วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร ชี้ว่า ทุกคนไม่ควรกันตัวเองออกไปเป็นคนนอก เพราะไม่มีใครเป็นคนนอกในการช่วยสร้างสันติภาพ พร้อมเสนอว่า ให้เปิดใจ มองหลายๆด้าน ไม่ว่าจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยก็ตาม เพราะบางอย่างไม่ได้เป็นอย่างที่คนเราคิด ในหลักพระพุทธศาสนา ระบุว่า ไม่ควรใช้ มิจฉาทิฐิ (ความเห็นผิด) ต่อสถานการณ์ แต่ควรมีสัมมาทิฐิ (ความเห็นถูก) โดยใช้ปัญญาและเหตุผล เข้าใจอารมณ์ของคนที่เดือดร้อนหรือคนอยู่ในพื้นที่ด้วย เพราะทุกคนล้วนมีความรู้สึก
“กระบวนการสร้างสันติภาพต้องให้ทุกคน ไม่ว่าอยู่ในพื้นที่หรือนอกพื้นที่ ไม่ว่าจะนับถือศาสนาใดเข้ามามีส่วนร่วมที่สำคัญ ต้องไม่ความเอาความขัดแย้งทางการเมืองและศาสนามาแบ่งแยกคนให้เลือกฝ่าย ผ่านวาจาที่สร้างความเกลียดชัง (Hate Speech)” พระมหานภันต์ สนฺติภทฺโท กล่าวย้ำ และว่า การสร้างสันติจะเกิดขึ้นได้โดยตรงจากในใจคนเราแต่ต้องอาศัยการร่วมมือกันของคนในสังคมเพื่อสร้างกลไกที่เอื้อต่อการนำไปสู่การแก้ปัญหาที่แท้จริงและยั่งยืน
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/