ประมงพื้นบ้านจี้ รมว.กษ. ดันมาตรการห้ามจับสัตว์น้ำวัยอ่อน ‘ปลาทู-ปูม้า’
กลุ่มประมงพื้นบ้านยื่นข้อเรียกร้อง รมว.กษ. เร่งผลักดันมาตรการห้ามทำประมงสัตว์น้ำวัยอ่อน 'ปลาทู-ปูม้า' หลังพบอยู่ในระยะวิกฤติ เเก้ไขกฎหมาย ยกเลิกบทบัญญัติ มาตรา 34 พ.ร.ก.การประมง เเก้นิยาม มาตรา 5 พร้อมออกใบอนุญาต จดทะเบียน 'อลงกรณ์' เผยให้เเนวทางกรมประมง เพาะพันธุ์สัตว์น้ำเพิ่มขึ้น ขออย่างเดียว ประชุมต้องสมานฉันท์
วันที่ 21 ส.ค. 2562 นายสะมะแอ เจะมูดอ นายกสมาคมสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทย พร้อมด้วยชาวประมงพื้นบ้านราว 20 คน เข้ายื่นหนังสือถึงนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (รมว.กษ.) ผ่านนายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารมว.กษ. เพื่อขอให้แก้ไขปัญหาชาวประมงพื้นบ้านและส่งเสริมการจัดการทรัพยากรประมงอย่างยั่งยืน ณ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กรุงเทพฯ
นายวิโชคศักดิ์ รณรงค์ไพรี ผู้จัดการสมาคมสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทย กล่าวตอนหนึ่งถึงเหตุผลในการยื่นหนังสือครั้งนี้ ว่ามีข้อเรียกร้องไปยัง รมว.กษ. หลายประการ กล่าวคือ ที่ผ่านมาไทยมีเฉพาะกฎหมายห้ามจับแม่ปลาทูในฤดูวางไข่ แต่ยังไม่มีมาตรการควบคุมสัตว์น้ำวัยอ่อน โดยเฉพาะลูกปลาทู ดังนั้นในกรณีเร่งด่วน รัฐต้องผลักดันมาตรการห้ามทำการประมงสัตว์น้ำวัยอ่อนปลาทูและปูม้า ซึ่งกำลังอยู่ในระยะวิกฤติ
นอกจากนี้ขอให้เร่งเสนอแก้ไขปรับปรุงกฎหมายการประมง โดยให้ยกเลิกบทบัญญัติในมาตรา 34 พระราชกำหนดการประมง พ.ศ.2558 ที่บัญญัติห้ามมิให้ผู้ได้รับใบอนุญาตทำการประมงพื้นบ้าน ทำการประมงในเขตทะเลนอกชายฝั่ง (ห้ามไม่ให้ออกไปไกลเกิน 3 ไมล์ทะเล) ซึ่งขัดแย้งกับความเป็นจริง เพราะแม้ชาวประมงพื้นบ้านใช้เรือขนาดเล็ก แต่กลับสามารถออกไปทำการประมงได้ไกลถึง 10-15 ไมล์ทะเล จึงขัดต่อวิถีประมงพื้นบ้าน
อีกทั้ง เสนอให้แก้ไขนิยามการประมงพื้นบ้านในมาตรา 5 เนื่องจากนิยามเดิม ‘ประมงพื้นบ้าน’ หมายถึง “การทําการประมงในเขตทะเลชายฝั่ง ไม่ว่าจะใช้เรือประมง หรือใช้เครื่องมือโดยไม่ใช้เรือประมง ทั้งนี้ ที่มิใช่เป็นประมงพาณิชย์” ทำให้การทำประมงของประมงพื้นบ้านถูกจำกัด และสอดคล้องกับมาตรา 34 ดังนั้น หากแก้มาตรา 34 จะต้องแก้นิยามดังกล่าวด้วย และขอให้ใช้มาตรการบริหารจัดการการขึ้นทะเบียนเรือประมงพื้นบ้าน
ผู้จัดการสมาคมสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านฯ กล่าวต่อว่า รัฐยังต้องเร่งรัดให้มีการออกใบอนุญาตทำการประมงพื้นบ้านและการจดทะเบียนเรือประมงพื้นบ้าน แต่ที่ผ่านมาทำไม่ได้ เพราะติดข้อบัญญัติมาตรา 34 พร้อมกันนี้เรียกร้องไปยัง รมว.กษ. ใช้อำนาจสั่งการให้กรมประมงเปิดเผยข้อมูลสถิติการประมงไทย ตั้งแต่ปี 2558 เช่น ปริมาณการจับสัตว์น้ำทะเลไทย จากข้อมูล Lock Book เพื่อร่วมเสนอแนะต่อแผนการบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำและให้เสนอต่อคณะกรรมการนโยบายประมงแห่งชาติ ซึ่งมีอำนาจโดยตรงในการออกนโยบายควบคุมการจับสัตว์น้ำของประเทศ เนื่องจากปัจจุบันยังใช้ข้อมูลเก่า รวมถึงขอให้จัดตั้งกองทุนประมงพื้นบ้านด้วย
ขณะที่นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษา รมว.กษ. กล่าวถึงนโยบายการประมงว่า อยากให้ใช้แนวคิดการฟื้นฟูพัฒนา ให้เห็นว่าไทยมีศักยภาพการประมง ไม่ว่าจะเป็นประมงชายฝั่ง ประมงพาณิชย์ หรือประมงนอกน่านน้ำ ดังนั้นยืนยันจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง โดยรับปากดำเนินตามนโยบายที่รมว.กษ. มอบหมาย และยึดการทำงานอย่างเสมอภาค ไม่ต้องกลัวว่าจะกระทบต่อประมงพื้นบ้าน ไม่ยอมให้นายทุนผูกขาด แต่จะเดินไปด้วยกัน เพราะลงเรือลำเดียวกัน
“รมว.กษ.กำชับต้องเร่งรัดทำงาน อะไรที่เป็นเรื่องเร่งด่วนต้องรีบทำ แก้ไขในเชิงกฎหมาย ประสานงาน กับสภาผู้แทนราษฎร และเกี่ยวข้องกับปัญหาเดือดร้อนเฉพาะหน้า ได้กำหนดให้มีการประชุมทุกวันพุธ ของทุกสัปดาห์ อย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 ครั้ง”
ที่ปรึกษา รมว.กษ. กล่าวถึงการเพิ่มจำนวนสัตว์น้ำในทะเลด้วยว่า ได้ให้แนวทางกรมประมง ให้เพิ่มจำนวนการเพาะพันธุ์ และส่งเสริมวิสาหกิจชุมชนหรือบริษัทเอกชนทำธุรกิจเรื่องนี้ให้มากที่สุด ทั้งนี้ เราจะมีข้าวหม้อเดียวไม่ได้อีกแล้ว แต่ต้องทำให้มีหลายหม้อ ดังนั้น นอกจากอนุรักษ์ตามมาตรการเดิม ต้องเพิ่มปริมาณจำนวนสัตว์น้ำให้มากที่สุด ทั้งน้ำจืด น้ำเค็ม น้ำกร่อย อย่างไรก็ตาม ขอความร่วมมือให้การประชุมทุกครั้งเป็นไปโดยสมานฉันท์
“สิ่งที่ต้องทำเร่งด่วน มี 3 เรื่อง ได้แก่ ปัญหาสภาพคล่อง ขาดแคลนแรงงาน และทบทวนยกเลิกกฎหมาย รับปากจะทำให้เร็วที่สุด ซึ่งขณะนี้ประชุมนอกรอบไปแล้ว 2-3 ครั้ง เพื่อรับฟังข้อมูลข้อเรียกร้องจากส่วนราชการและทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องแล้ว พร้อมกันนี้จะเสนอให้แต่งตั้งคณะกรรมการฟื้นฟูและพัฒนาสหภาพประมงอย่างเป็นทางการ เพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปอย่างเป็นระบบ” นายอลงกรณ์ กล่าวในที่สุด .
ภาพประกอบ:สวัสดีนิวส์
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ httpแs://www.facebook.com/isranewsfanpage/