อย่าเอาชีวิตคนไทยเป็นตัวประกันบนถนน
"...แน่นอนว่า ระบบเพื่อความปลอดภัย จะต้องมีค่าใช้จ่าย แต่ค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น เมื่อเทียบกับมูลค่าความสูญเสียจากอุบัติเหตุ นับว่าน้อยมากนัก ชีวิตของคนวัยทำงาน ชีวิตของผู้มีสิทธิมีเสียงเลือกตั้ง และคนไทย ล้วนอยู่บนถนนเส้นนี้ด้วยกันทั้งหมด ท่านผู้มีอำนาจอาจต้องทบทวนนโยบายสักหน่อย ว่าจะ “เอาใจคนไทย หรือ จะเอาชีวิตคนไทย” อย่างใดอย่างหนึ่งไว้ก่อน ... โปรดตรองดู..."
อุบัติเหตุทางถนนเป็นสาเหตุที่ทำให้คนไทยเสียชีวิต ปีละมากกว่า 20,000 คน บาดเจ็บปีละกว่า 1 ล้านคน พิการปีละมากกว่า 40,000 คน สูญเสียทรัพย์สินคิดเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจมากกว่า 5 แสนล้านบาท หรือประมาณ 3% ของ GDP
80% ของประชากรที่ประสบเหตุมีอายุน้อยกว่า 40 ปี ซึ่งเป็นวัยทำงาน เป็นวัยที่มีสิทธิ์มีเสียงในการใช้สิทธิเลือกตั้ง ปัจจุบันสัดส่วนของคนวัยนี้กำลังจะน้อยลงเรื่อยๆ และกำลังเปลี่ยนเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ นับเป็นการซ้ำเติมความรุนแรงของสถานการณ์ทรัพยากรมนุษย์ของไทยมากขึ้น ในอีกทางหนึ่งคนวัยทำงานเหล่านี้คือ กลุ่มผู้เสียภาษีของประเทศ ปริมาณความสูญเสียที่มากมายมหาศาลนี้เป็นภัยความมั่นคงอันร้ายแรงของประเทศ แต่ไม่แน่ใจว่าผู้ที่รับผิดชอบบริหารประเทศจะตระหนักและใส่ใจในการป้องกันแก้ไขอย่างจริงจังมากน้อยเพียงใด
ช่วงนี้ กระทรวงคมนาคม มีแนวคิดจะออกนโยบายให้ขับรถได้ถึง 120 กิโลเมตรต่อชั่วโมงบนถนน 4 เลน แนวนโยบายจะให้ต่ออายุรถตู้รับส่งโดยสารสาธารณะเป็น 12 ปี จะเลิกการทำเกาะกลางถนน นี่กำลังเป็นสิ่งที่จะชี้ชะตาคนไทยว่า จะขาดจาก “ความปลอดภัย” ที่หลายๆ ฝ่าย รวมถึงกระทรวงและหน่วยงานของภาครัฐที่ขานรับและทำงานร่วมกันมาในช่วงทศวรรษแห่งความปลอดภัยทางถนน ปี 2554-2563 กำลังจะจบสิ้นไปกับนโยบายของรัฐบาลชุดนี้หรือไม่
ผลการศึกษาไม่ว่าของประเทศใดๆ ในโลกชี้ชัดว่า “การขับรถให้ช้าลงเป็นมาตรการสำคัญที่สุดมาตรการหนึ่ง” องค์การอนามัยโลกประกาศเป็นแนวทางที่ทุกประเทศควรจะต้องกำหนดเป็นแผนหลักที่นำไปสู่การปฏิบัติเพื่อรักษาชีวิตคนเอาไว้ เพราะความเร็ว 120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง หากเกิดเหตุฉุกเฉินที่จะต้องหยุดรถกะทันหัน ต้องใช้ระยะเบรกมากกว่า 140 เมตร จึงจะเกิดความรุนแรงเบาลง แต่เมื่อเทียบแรงกระแทกของการขับรถด้วยความเร็ว 120 กิโลเมตรต่อชั่วโมงทั้งกับรถและคน จะเท่ากับตกตึก 19 ชั้น ขณะที่ถนน 4 เลนเกือบทั้งหมดในประเทศไทย มีทางเชื่อม ทางแยก จุดกลับรถที่ไม่มีช่องจอดรอ มีรถจักรยาน รถจักรยานยนต์ รถเพื่อการเกษตร รถมอเตอร์ไซด์พ่วงข้าง ใช้ถนนร่วมกันทั้งหมด มีรถบรรทุกจอดข้างทาง มีเด็ก มีคนสูงอายุเดินข้ามถนน จึงมีแต่ต้องขับรถให้ช้าลง “ไม่ใช่เพิ่มขึ้น”
ส่วนเรื่องรถตู้โดยสารที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน มีมาตรฐานความปลอดภัยอยู่ในระดับต่ำอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นโครงสร้างของรถ อุปกรณ์ประจำรถ เชื้อเพลิงที่ใช้ เก้าอี้และจำนวนการบรรทุกผู้โดยสาร มีความสูญเสียรุนแรงที่เกิดกับรถตู้โดยสารบ่อยครั้ง จึงจำเป็นที่จะต้องเปลี่ยนลักษณะของรถจากรถตู้โดยสารเป็นรถมินิบัสซึ่งปลอดภัยกว่า แบบยิ่งเปลี่ยนได้เร็วก็ยิ่งดี การที่กระทรวงคมนาคมเตรียมผ่อนปรนให้ระยะเวลาเปลี่ยนผ่านสำหรับผู้ประกอบการเป็นเวลา 10 ปี นับว่า ได้ให้เวลาในการเตรียมตัวมากเกินพออยู่แล้ว
เรื่องล่าสุด เกาะกลางถนน เป็นองค์ประกอบสำคัญของถนนที่ปลอดภัยซึ่งไม่เพียงจะต้องใหญ่พอ แต่ทุกจุดกลับรถ จะต้องมีช่องให้รถสามารถจอดรถกลับรถได้โดยปลอดภัย กับทั้งยังเป็นจุดพักสำหรับคนเดินข้ามถนน
แน่นอนว่า ระบบเพื่อความปลอดภัย จะต้องมีค่าใช้จ่าย แต่ค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น เมื่อเทียบกับมูลค่าความสูญเสียจากอุบัติเหตุ นับว่าน้อยมากนัก ชีวิตของคนวัยทำงาน ชีวิตของผู้มีสิทธิมีเสียงเลือกตั้ง และคนไทย ล้วนอยู่บนถนนเส้นนี้ด้วยกันทั้งหมด ท่านผู้มีอำนาจอาจต้องทบทวนนโยบายสักหน่อย ว่าจะ “เอาใจคนไทย หรือ จะเอาชีวิตคนไทย” อย่างใดอย่างหนึ่งไว้ก่อน ... โปรดตรองดู
นายแพทย์วิทยา ชาติบัญชาชัย
ผู้เชี่ยวชาญในคณะที่ปรึกษาขององค์การอนามัยโลกด้านการป้องกันการบาดเจ็บ
หมายเหตุ : ภาพประกอบจาก https://www.bkkvariety.com/3798