ลดเร็ว - ลดตาย : นโยบายที่รัฐต้องทำ
สิ่งที่รัฐควรเร่งกระทำคือประกาศ นโยบายถนนปลอดภัย เพื่อสร้างความปลอดภัยให้กับคนใช้รถ-ใช้ถนน มากกว่านโนบายที่ถูกใจคนบางกลุ่ม แต่เป็นภัยต่อคนหมู่มาก ซึ่งอย่างน้อยที่สุด ผู้ใช้รถใช้ถนนจะได้มีความมั่นใจว่า ได้รับการคุ้มตรองความความปลอดภัยอย่างเข้มงวดจากภาครัฐในขณะเดินทาง ไม่ว่าในเมืองหรือนอกเมือง
เหตุการณ์รถตู้มรณะที่เกิดอุบัติเหตุเมื่อเช้ามืดของวันที่ 18 สิงหาคม ที่จังหวัดสระแก้ว เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตมากถึง 11 คนและมีผู้บาดเจ็บอีกจำนวนหนึ่ง สร้างความสลดหดหู่ใจแก่ผู้คนอีกครั้งเหมือนกับหลายเหตุการณ์ที่ผ่านมา จากอุบัติเหตุรถตู้ ซึ่งเป็นข้อสังเกตว่า รถตู้นั้นไม่เหมาะกับการนำมาใช้ขนส่งผู้โดยสารดังที่นักวิชาการและสำนักต่างๆได้ให้ข้อมูลไว้
ไม่ว่าอุบัติเหตุในครั้งนี้จะเกิดจากสาเหตุใดก็ตาม เราไม่อาจปฏิเสธได้เลยว่า การขับรถด้วยความเร็วสูงคือหนึ่งในสาเหตุหลักของการเกิดอุบัติเหตุที่สร้างความสูญเสียทั้งทรัพย์สินและชีวิต ทำให้คนจำนวนไม่น้อยมีชีวิตอยู่แทบจะตายทั้งเป็นจากความพิการอันเกิดจากอุบัติเหตุทางถนน
ดังนั้นอุบัติเหตุทางถนนจึงเป็นภัยที่คร่าชีวิตของคนไทยและคนทั้งโลกปีละจำนวนไม่น้อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศไทยซึ่งมีอัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนติดอันดับเกือบสูงสุดของโลกนั้น เป็นภัยที่น่าเป็นห่วงอย่างยิ่งต่อสวัสดิภาพของประชาชนคนไทยที่ใช้รถ-ใช้ถนนโดยทั่วไป หากยังปล่อยปละละเลยและไม่มีมาตรการที่เข้มข้นในการควบคุมการใช้รถ-ใช้ถนน
อย่างไรก็ตามมีสัญญาณที่ดีว่า องค์การอนามัยโลก หรือ WHO ได้รายงานผลการความปลอดภัยทางถนนของโลกปี 2561 พบว่า มีผู้เสียชีวิต 1 ล้าน 3 แสนคน แต่ปีนี้จำนวนผู้เสียชีวิตอุบัติเหตุทางถนนของประเทศไทย ลดลงเป็นอันดับ 9 มีผู้เสียชีวิต 22,491 คน ลดลงจากเดิม 2,000 คน เพราะเมื่อ 3 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่ปี 2558 -2560ไทยมีผู้เสียชีวิตเฉลี่ยปีละ 24,326 คน สูงเป็นอันดับสองของโลก ซึ่งแสดงให้เห็นว่า มาตรการการต่างๆของประเทศไทยต่อการป้องกันอุบัติเหตุทางถนนเท่าที่ผ่านมาได้ผลในระดับหนึ่ง แต่จำนวนผู้เสียชีวิตจากรถจักรยานยนต์ของไทยยังคงครองแชมป์สูงเป็นอันดับหนึ่งของโลก ซึ่งเป็นข่าวที่ไม่ดีนัก และหากประเทศไทยยังไม่มีมาตรการที่เข้มงวดต่อการใช้รถจักรยานยนต์เราอาจจะต้องครองแชมป์การบาดเจ็บล้มตายจากภัยจากรถจักรยานยนต์ไปอีกหลายปี
การบาดเจ็บล้มตายของผู้คนจากการใช้ความเร็วของรถ จึงเป็นปัจจัยสำคัญที่ทุกประเทศให้ความสำคัญและพยายามควบคุมความเร็วของรถให้อยู่ในวิสัยที่มนุษย์สามารถควบคุมรถได้ เพื่อให้มีการบาดเจ็บล้มตายจากการใช้รถ-ใช้ถนนน้อยที่สุด
จากข้อมูลการศึกษาของ สถาบันการประกันภัยความปลอดภัยบนทางหลวง (Insurance Institute for Highway Safety : IIHS) แห่งประเทศสหรัฐอเมริกาพบว่า ตลอดระยะเวลา 25 ปีที่ผ่านมา ซึ่งมีการเพิ่มความเร็วของรถยนต์ทำให้มีผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นจากปัจจัยความเร็วเกือบ 37,000 คน เฉพาะปี 2017 เพียงปีเดียวมีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุเกี่ยวกับการใช้ความเร็วมากกว่า 1,900 คน
นอกจากนี้ยังพบว่า หากมีการเพิ่มความเร็วสูงสุดขึ้นอีกเพียง 5 ไมล์ ( 8.05 ก.ม. ) จะเพิ่มอัตราการตายถึง 8.5 เปอร์เซ็นต์ บนทางหลวงระหว่างรัฐและบนทางด่วนและอัตราการตายจะเพิ่มขึ้น 2.8 เปอร์เซ็นต์บนถนนอื่นๆ
จากผลการศึกษาดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงภัยจากความเร็วของรถที่ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า คือปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดเสียชีวิตอันเป็นการเสียชีวิตที่สามารถควบคุมได้และเป็นการตายที่ไม่น่าเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นคนชาติไทย อเมริกันหรือชาติไหนๆ ก็ตาม ดังนั้นการอนุญาตให้มีการเพิ่มความเร็วรถเพื่อให้ถึงจุดหมายปลายทางให้เร็วขึ้นอีกเพียงไม่กี่นาที หรือเพื่อเป็นการแก้ปัญหาการจราจรที่แออัดก็ตามที แลกกับการเกิดอุบัติเหตุและการสูญเสียชีวิตอันมีค่าของมนุษย์จึงเป็นการแลกเปลี่ยนที่ไม่คุ้มค่าและน่าจะไม่เป็นความไม่ชอบธรรมที่รัฐไม่ควรพึงกระทำ
สิ่งที่รัฐควรเร่งกระทำคือประกาศ นโยบายถนนปลอดภัย เพื่อสร้างความปลอดภัยให้กับคนใช้รถ-ใช้ถนน มากกว่านโนบายที่ถูกใจคนบางกลุ่มแต่เป็นภัยต่อคนหมู่มาก ซึ่งอย่างน้อยที่สุดผู้ใช้รถใช้ถนนจะได้มีความมั่นใจว่า ได้รับการคุ้มตรองความความปลอดภัยอย่างเข้มงวดจากภาครัฐในขณะเดินทาง ไม่ว่าในเมืองหรือนอกเมือง เป็นต้นว่า
1. นโยบายการกวดขันการกระทำผิดกฎหมายบนท้องถนนอย่างเข้มงวด จริงจัง ต่อเนื่อง ไม่ทำแบบผักชีโรยหน้าหรือกวดขันเฉพาะช่วงเทศกาล
2. นโยบายการสร้างทางข้าม-ทางเดินสำหรับผู้เดินเท้าให้ทั่วถึงและปลอดภัยจริง
3. นโยบายการติดตั้งสัญญาณไฟจราจรและไฟส่องสว่างเพื่อความปลอดภัยของผู้ใช้รถ-ใช้ถนน
4. นโยบายการสร้างที่กลับรถบนถนนหลักสายสำคัญๆของประเทศ เช่นถนนมิตรภาพ ถนนบางนาตราด ถนนเพชรเกษม และถนนสายหลักอื่นๆเพื่อลดอุบัติเหตุร้ายแรง
5. นโยบายการกวดขันผู้รับเหมาให้แสดงเครื่องหมาย สร้าง - ซ่อมทางอย่างเคร่งครัดและเป็นมาตรฐาน
6. นโยบายการกวดขันรถกระทำผิดกฎหมาย การต่อเติม ตกแต่งรถขนาดใหญ่ที่สร้างความเดือดร้อนรำคาญและอาจก่ออุบัติเหตุ
7. นโยบายกวดขันการห้ามรถวิ่งบนถนนที่ห้ามวิ่งหรือในเวลาที่ห้ามวิ่ง
8. นโยบายการให้ข้อมูลบนทางหลวงที่ถูกต้อง เช่น ป้ายบอกระยะทาง ป้ายสัญญาณทางจราจร ป้ายจำกัดความเร็ว ฯลฯ
9. นโยบายการยกระดับถนนให้ได้มาตรฐานเพื่อ ความปลอดภัย ความสะดวก และความรวดเร็วของผู้ใช้ทาง
10. นโยบายลดความเร็วในบางพื้นที่เพื่อความปลอดภัยของคนขับรถและคนเดินถนน
11. นโยบายกวดขันการใช้รถผิดประเภท
12. นโยบายสร้างจิตสำนึกให้คนไทยใช้รถใช้ถนนอย่างถูกต้องและปลอดภัย
นโยบายที่กล่าวมาแล้วข้างต้นเป็นเพียงตัวอย่างของนโยบายที่แสนจะธรรมดาที่คนไม่ได้เป็นรัฐมนตรีก็คิดได้ แต่นโยบายเหล่านี้เป็นนโยบายที่สำคัญยิ่งต่อชีวิตมนุษย์และหากทำได้อย่างจริงจังสักครึ่งหนึ่งของเป้าหมายก็จะลดการสูญเสียชีวิตและการบาดเจ็บจากอุบัติเหตุทางถนนลงได้มาก
คำพูดที่คนไทยส่วนใหญ่ควรจะได้ยินจากปากของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมคือ นโยบายปกป้องชีวิตมนุษย์จากอุบัติเหตุทางถนน เพื่อสะท้อนถึงการให้ความสำคัญต่อชีวิตมนุษย์ซึ่งต้องอยู่เหนือผลประโยชน์อื่นใด มากกว่านโยบายการส่งเสริมการแข่งความเร็วที่จะนำไปสู่อุบัติเหตุบาดเจ็บและล้มตายในที่สุด
อ้างอิง
1. https://workpointnews.com/2018/12/20/who-%E0%B8%8A%E0%B8%B5%E0%B9%89%E0%B9%84%E0%B8%97%E0%B8%A2%E0%B8%95%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B8%88%E0%B8%B2%E0%B8%81%E0%B8%AD%E0%B8%B8%E0%B8%9A%E0%B8%B1%E0%B8%95%E0%B8%B4%E0%B9%80%E0%B8%AB%E0%B8%95/
2. https://www.isranews.org/isranews-article/79484-van-79484.html
3. https://www.iihs.org/news/detail/speed-limit-increases-are-tied-to-37-000-deaths-over-25-years
ภาพประกอบ https://www.seancanney.com/have-your-say-on-speed-limit-review/
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/