ขับป่วนถนน-คนเสียชีวิตโดนยึดรถ! อสส.แจ้งเวียนพนง.อัยการใช้ดุลยพินิจริบของกลาง
อสส. แจ้งหนังสือเวียนการพิจารณาคดีผิดฐานขับรถโดยไม่คำนึงถึงความปลอดภัยมีคนเสียชีวิต ให้พนง.อัยการมีคำสั่งริบของกลางได้ ด้านนักวิชาการชี้เป็นมาตรการที่ดีส่งผลต่อผู้กระทำผิด สังคมเกิดการเรียนรู้ปรับเปลี่ยน แนะรวมความผิดที่มีคลิปประกอบ แข่งรถ ชนแล้วหนี ด้วย
สำนักข่าวอิศรา รายงานว่า สำนักงานอัยการสูงสุด โดย นางปิยะพันธุ์ อุดมศิลป รองอัยการสูงสุด ปฏิบัติราชการแทนอัยการสูงสุด ส่งหนังสือเวียน ที่ อส 0007(ปผ)/ว 272 ฉบับลงวันที่ 13 ส.ค. 2562 เรื่อง ซักซ้อมทำความเข้าใจการดำเนินคดีความผิดฐานขับรถโดยไม่คำนึงถึงความปลอดภัยหรือความเดือดร้อนของผู้อื่น ตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 43 (8) , 160 วรรคสาม แจ้งถึง รองอัยการสูงสุด ผู้ตรวจการอัยการ อธิบดีอัยการ อธิบดีอัยการภาค อัยการพิเศษฝ่าย เลขานุการอัยการสูงสุด อัยการจังหวัด ผู้อำนวยการสำนักงานกิจการและโครงสร้างในพระดำริฯ และผู้อำนวยการสำนักงาน ระบุว่า
สืบเนื่องจาก สำนักอัยการบางแห่งยังมีความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนเกี่ยวกับการดำเนินคดีความผิดฐานขับรถโดยไม่คำนึงถึงความปลอดภัยหรือความเดือดร้อนของผู้อื่น ในเรื่องการมีความเห็นและคำสั่งขอริบทรัพย์ของกลางและขอให้ศาลริบของกลาง ดังนั้น สำนักอัยการสูงสุด (อส.) จึงขอซักซ้อมทำความเข้าใจ ว่า ให้พนักงานอัยการใช้ดุลยพินิจมีความเห็นและคำสั่งขอริบทรัพย์ของกลางและให้ศาลริบทรัพย์ของกลางซึ่งเป็นทรัพย์ที่ใช้ในการกระทำความผิดอย่างเคร่งครัด กรณีที่จะมีความเห็นและคำสั่งไม่ขอริบทรัพย์จะต้องมีเหตุผล พยานหลักฐาน หลักกฎหมาย ระเบียบ และหนังสือเวียนของสำนักอัยการสูงสุดสนับสนุนอย่างชัดเจน และในกรณีมีผู้ยื่นคำร้องขอคืนรถของกลาง ให้พนักงานอัยการปฏิบัติตามระเบียบสำนักงานอัยการสูงสุดว่าด้วยการดำเนินคดีอาญาของพนักงานอัยการ พ.ศ. 2547 ข้อ 75 และข้อ 76 อย่างเคร่งครัด
รายละเอียดหนังสือปรากฏดังนี้
เนื่องจากปรากฏว่า สำนักอัยการบางแห่งยังมีความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนเกี่ยวกับการดำเนินคดีความผิดฐานขับรถโดยไม่คำนึงถึงความปลอดภัยหรือความเดือดร้อนของผู้อื่น ในเรื่องการมีความเห็นและคำสั่งขอริบทรัพย์ของกลางและขอให้ศาลริบของกลาง ดังนั้น สำนักอัยการสูงสุดจึงขอซักซ้อมทำความเข้าใจ ดังนี้
1. ปัจจุบันผู้กระทำผิดคดีประเภทนี้เพิ่มมากขึ้น ก่อให้เกิดความเดือดร้อน ทำให้เกิดปัญหาจราจร ก่อให้เกิดอุบัติเหตุและความสูญเสียแก่ชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน อีกทั้งรัฐบาลมีนโยบายปราบปรามการกระทำความผิดในคดีประเภทนี้เข้มงวดเป็นพิเศษ ดังนั้น ในการพิจารณาดำเนินคดีความผิดประเภทนี้ ให้พนักงานอัยการใช้ดุลยพินิจมีความเห็นและคำสั่งขอริบทรัพย์ของกลางและให้ศาลริบทรัพย์ของกลาง ซึ่งเป็นทรัพย์ที่ใช้ในการกระทำความผิดอย่างเคร่งครัด กรณีที่จะมีความเห็นและคำสั่งไม่ขอริบทรัพย์ของกลางในคดีประเภทนี้จะต้องมีเหตุผล พยานหลักฐาน หลักกฎหมาย ระเบียบ และหนังสือเวียนของสำนักอัยการสูงสุดสนับสนุนอย่างชัดเจนและใช้ความรอบครอบ ระมัดระวัง อย่างยิ่ง
2. ในกรณีมีผู้ยื่นคำร้องขอคืนรถของกลางที่ศาลพิพากษาให้ริบในคดีที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ ให้พนักงานอัยการปฏิบัติตามระเบียบสำนักงานอัยการสูงสุดว่าด้วยการดำเนินคดีอาญาของพนักงานอัยการ พ.ศ. 2547 ข้อ 75 และข้อ 76 อย่างเคร่งครัดด้วย
นายธนะพงศ์ จินวงษ์ ผู้จัดการศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน (ศวปถ.) เปิดเผยกับสำนักข่าวอิศราว่า การซักซ้อมหรือเน้นย้ำของอัยการสูงสุดกับการดำเนินคดีข้อหาดังกล่าว และนำไปสู่การยึดรถ หรือโทษอื่นๆ เป็นมาตรการที่ดีที่จะส่งผลต่อผู้กระทำผิด ที่สำคัญ สังคมจะได้เกิดการเรียนรู้และปรับเปลี่ยนด้วย
ทั้งนี้ นายธนะพงศ์ ได้กล่าวแนะนำเพิ่มเติมว่า 1) ผู้กระทำความผิด โดยเฉพาะเด็กที่มักจะใช้รถผู้ปกครองหรือยืมมา การถูกยึดรถหรือปรับ จะทำให้เจ้าของรถต้องเข้ามาเกี่ยวข้อง และต่อไปคนที่เป็นเจ้าของรถต้องเพิ่มความระมัดระวังในการให้ยืมมากขึ้น 2) ผู้ปกครองของเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี ควรถูกนำมาเกี่ยวข้องด้วย และ 3) ความผิดอื่นๆ ที่สำคัญ เช่น การขับที่อันตราย การแข่งรถ การขับเร็วจี้หรือตัดหนัา ชนแล้วหนี เป็นต้น โดยเฉพาะที่มีคลิปประกอบ ควรนำมาดำเนินการยึดรถในลักษณะนี้ด้วย
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/