วัชรพล ประสารราชกิจ: ไทยเผชิญเชื้อทุจริตจนป่วยขั้นรุนแรง ปลุกประชาชนสานพลังต้าน
“…แม้ว่าประเทศจะเผชิญกับปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่นมาช้านาน และนับวันทวีความรุนแรงมากขึ้น โดยสะท้อนจากอาการป่วยขั้นรุนแรงจากเชื้อโรคทุจริตที่ไปเบียดบังเงินภาษีที่ตั้งใจจะนำมาพัฒนาคนและพัฒนาประเทศไม่เต็มเม็ดไม่เต็มหน่วย ในปีหน้าเรื่องการทุจริตคอร์รัปชั่นจะรุนแรงขึ้นหรือลดน้อยลง เราไม่สามารถทราบได้ แต่คนไทยทุกภาคส่วนและทุกสาขาอาชีพ รวมถึงเยาวชนจะเป็นผู้มีบทบาทกำหนดทิศทาง และมีส่วนร่วมช่วยประสานพลังต่อต้านการทุจริต นำพาประเทศปลอดเชื้อโรคทุจริต ทำประเทศให้ใสสะอาด…”
หมายเหตุ สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org : เมื่อวันที่ 19 ส.ค. 2562 สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) จัดงานสัมมนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระดับชาติ ในหัวข้อ ‘การผลักดันยุทธศาสตร์ชาติว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตสู่ประเทศไทยใสสะอาดทั้งชาติต้านทุจริต’ ปี 2562 โดย พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานกรรมการ ป.ป.ช. กล่าวปาฐกถาพิเศษตอนหนึ่งว่า ขณะนี้ ป.ป.ช.ดำเนินการยุทธศาสตร์ชาติว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ระยะที่ 3 (พ.ศ.2560-2564)
แม้ว่าประเทศจะเผชิญกับปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่นมาช้านาน และนับวันทวีความรุนแรงมากขึ้น โดยสะท้อนจากอาการป่วยขั้นรุนแรงจากเชื้อโรคทุจริตที่ไปเบียดบังเงินภาษีที่ตั้งใจจะนำมาพัฒนาคนและพัฒนาประเทศไม่เต็มเม็ดไม่เต็มหน่วย ในปีหน้าเรื่องการทุจริตคอร์รัปชั่นจะรุนแรงขึ้นหรือลดน้อยลง เราไม่สามารถทราบได้ แต่คนไทยทุกภาคส่วนและทุกสาขาอาชีพ รวมถึงเยาวชนจะเป็นผู้มีบทบาทกำหนดทิศทาง และมีส่วนร่วมช่วยประสานพลังต่อต้านการทุจริต นำพาประเทศปลอดเชื้อโรคทุจริต ทำประเทศให้ใสสะอาด ซึ่งตนและคณะกรรมการ ป.ป.ช. เชื่อมั่นว่าเราจะร่วมมือร่วมใจผลักดันให้ประเทศปลอดการทุจริตคอร์รัปชั่นได้
พล.ต.อ.วัชรพล กล่าวอีกว่า การยกระดับการรับรู้การทุจริต (CPI) ของประเทศไทย 3 ปีที่ผ่านมา จะเห็นได้ว่าสังคมไม่ทนต่อการทุจริตได้ก่อตัวขึ้น และขยายวงกว้างไปทั่วประเทศ เช่น กรณีการเปิดโปงการทุจริตเงินสงเคราะห์ผู้ยากไร้ กรณีเงินอาหารกลางวันของนักเรียนในโรงเรียน การเปิดโปงการใช้รถหลวงและทรัพย์สินของทางราชการเพื่อประโยชน์ส่วนตน การแจ้งเบาะแสการทุจริตในหลายจังหวัด การติดตามเฝ้าระวังโครงการขนาดใหญ่ของรัฐ เป็นต้น
อีกทั้งยังมีกรณีที่ทุกฝ่ายร่วมกันผลักดัน และหาตัวผู้กระทำความผิด เช่น โครงการระบายข้าวของรัฐแบบจีทูจี คดีทุจริตโครงการก่อสร้างโรงพักตำรวจ คดีทุจริตโครงการก่อสร้างสนามฟุตซอล และกรณีเงินทอนวัด เป็นต้น สำนักงานป.ป.ช.ตระหนักถึงการมีงบประมาณบูรณาการการแก้ไขปัญหาการทุจริต โดยเห็นความสำคัญว่าจะได้รับการสนับสนุนงบประมาณส่วนนี้ในร่างพ.ร.บ.งบประมาณฯ ปี 2563 ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม จะนำเข้าที่ประชุมรัฐมนตรีในวันที่ 20 ส.ค. 2562 ถ้าไม่มีงบประมาณส่วนนี้ทางกระทรวงศึกษาธิการในฐานะผู้ขับเคลื่อนหลักสูตรการป้องกันการทุจริตศึกษาก็จะสะดุด เนื่องจากต้องใช้งบเป็นจำนวนมาก จะทำให้การทำงานทุกอย่างไม่ราบรื่น เราต้องต่อสู้และตอกย้ำชี้นำให้กับผู้นำประเทศเห็นความสำคัญของการแก้ไขปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่น
นอกจากนี้ ป.ป.ช.ยังได้ผลิตวิทยากรเพื่อบรรยายเรื่องการปราบปรามการทุจริตไม่ต่ำกว่า 4,000 คน เพื่อขยายผลการฝึกอบรม โดยมีโค้ชจังหวัดละ 10 คนให้คำปรึกษาในชมรม ‘strong-จิตพอเพียงต้านทุจริต’ ที่มีอยู่ทุกจังหวัด มีคนมากกว่า 7,700 คน เพื่อเป็นเสียง และขยายผลไปยังชุมชนจังหวัดละ 500 คน รวมทั้งหมด 38,500 คน อีกทั้งยังมีสมาชิกชมรมและเครือข่ายประชาชนรวมประมาณ 50,000 คน ทำหน้าที่เป็นกล้องวงจรปิด บันทึกภาพและส่งข้อมูลให้เจ้าหน้าที่หากพบการทุจริต เปรียบเสมือนเป็นการฟังชิพให้คนในทุกภาคส่วนและทุกวัยแยกแยะประโยชน์ส่วนตัวและประโยชน์ส่วนรวมได้โดยอัตโนมัติ มีจิตที่พอเพียงในการต่อต้านการทุจริต มีความละอายและไม่ทนต่อการทุจริตหรือ เพื่อให้สังคมไม่ทนต่อการทุจริต รวมทั้งให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการทำกิจกรรม เฝ้าระวังสอดส่องดูแล ชี้ช่องแจ้งเบาะแสการทุจริตในจังหวัดของตนเอง
ในมิติภาคการเมืองที่ส่งผลร้ายแรงที่สุด คือผู้มีอำนาจทางการเมืองในระดับต่าง ๆ ที่กำหนดนโยบายสาธารณะตั้งแต่ระดับท้องถิ่นถึงระดับประเทศ สิ่งสำคัญนักการเมืองต้องมีความซื่อสัตย์สุจริตและมีอุดมการณ์ทำเพื่อส่วนรวมมากกว่ากอบโกยประโยชน์ต่อตนเองและพวกพ้อง ที่ผ่านมา ป.ป.ช.ได้ดำเนินการยกระดับเจตจำนงการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่นมาอย่างต่อเนื่อง ในส่วนของท้องถิ่นมีโครงการส่งเสริมท้องถิ่นต่อต้านการทุจริตเพื่อสร้างกลไกผู้บริหารท้องถิ่นที่แสดงเจตจำนงค์ต่อต้านการทุจริตและนำไปสู่การปฏิบัติรวมถึงส่งเสริมการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนเพื่อให้เกิดความโปร่งใสและลดปัญหาการทุจริต
โดยเฉพาะภาคประชาชนสามารถตรวจสอบการดำเนินการขององค์กรปกครองท้องถิ่นได้ทั้งหมด ได้ ป.ป.ช.จะผลักดันเรื่องนี้ต่อไปให้เป็นรูปธรรมมากขึ้น ส่วนการเมืองระดับชาติ ป.ป.ช.ร่วมกับองค์กรอิสระและรัฐสภาจัดทำบันทึกข้อตกลงเจตจำนงต่อต้านการทุจริต ซึ่งมีกรอบบันทึกข้อตกลงเพื่อยกระดับเจตจำนงการเมืองต่อต้านการทุจริตโดยมีตัวแทนของพรรคการเมืองต่างๆมาเข้าร่วม พร้อมกันนี้ยังผลักดันเกณฑ์ชี้วัดความเสี่ยงต่อการทุจริตในเชิงนโยบายที่ใช้เป็นหลักเกณฑ์ให้พรรคการเมืองเป็นกรอบในการพัฒนาและกำหนดนโยบายของพรรค เพื่อลดความเสี่ยงเรื่องการทุจริตเชิงนโยบาย ทั้งนี้ ป.ป.ช.มุ่งมั่นทำหน้าที่ให้ดีที่สุด โดยเฉพาะเรื่องที่ยังค้างเก่าทั้งหมด ซึ่งจะเร่งทำให้บรรลุเป้าหมายและเป็นไปตามกฎหมายมากที่สุด
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/