หนึ่งปีรัฐบาลยิ่งลักษณ์... "ดับไฟใต้"ผลงานชิ้นโบว์ดำ?
เหตุรุนแรงขนาดใหญ่ 3 ครั้งในรอบ 8 วัน นับตั้งแต่วันแรกของเดือนรอมฎอนเป็นต้นมา ได้แก่ วันศุกร์ที่ 20 ก.ค.2555 คาร์บอมบ์กลางเมืองสุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส มีผู้ได้รับบาดเจ็บ 8 ราย วันพุธที่ 25 ก.ค. คาร์บอมบ์ในท้องที่ อ.รามัน จ.ยะลา ตำรวจเสียชีวิต 5 นาย และล่าสุดวันเสาร์ที่ 28 ก.ค. คนร้ายปฏิบัติการโจมตีทหารชุดลาดตระเวนในท้องที่ อ.มายอ จ.ปัตตานี เสียชีวิตไปอีก 4 นาย ได้กระตุกเตือนสังคมไทยให้หันมาสนใจสถานการณ์ ณ ดินแดนปลายสุดด้ามขวานอีกครั้ง
และคำถามก็พุ่งตรงไปยังผู้รับผิดชอบ แน่นอนว่าอันดับหนึ่งย่อมเป็นรัฐบาลพรรคเพื่อไทยที่มี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นทั้งผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (ผอ.รมน.) และผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ผอ.ศอ.บต.) โดยตำแหน่งตามกฎหมาย
ส่วนอันดับสองและสามที่มิอาจปฏิเสธความรับผิดชอบได้เช่นกัน ก็คือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ซึ่งเป็น ผอ.รมน.ด้วย และ พล.ท.อุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์ แม่ทัพภาคที่ 4 ซึ่งเป็น ผอ.รมน.ภาค 4 โดยตำแหน่ง ในฐานะที่รับผิดชอบงานด้านยุทธการและความมั่นคง มีกำลังพลในมือกว่า 6 หมื่นนาย ไม่นับรวมกองกำลังติดอาวุธภาคประชาชน
แม้สถานการณ์ร้ายได้เกิดขึ้นติดๆ กันในช่วง 8 วันแรกของเดือนรอมฎอน แต่จังหวะเวลาใกล้จะถึงเดือน ส.ค.2555 เป็นห้วงที่ใกล้จะครบ 1 ปีของรัฐบาลพรรคเพื่อไทยพอดี โดย นางสาวยิ่งลักษณ์ ได้รับโปรดเกล้าฯให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 8 ส.ค.2554 และรัฐบาลได้แถลงนโยบายต่อรัฐสภาเมื่อวันที่ 23 ส.ค.ปีเดียวกัน ทำให้มีเสียงวิจารณ์ว่าตลอด 1 ปีของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ได้ทำอะไรกับปัญหาภาคใต้บ้าง
หรือสถานการณ์ไฟใต้จะกลายเป็นฝันร้ายที่ตามหลอกหลอนเหมือนกับที่รัฐบาลพี่ชายของเธอ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เคยโดนมาแล้ว?
นโยบายสุดสับสน
จากการตรวจสอบในห้วงเวลาเกือบๆ 1 ปี พบว่ารัฐบาลพรรคเพื่อไทยค่อนข้างสับสนและส่งสัญญาณไม่ชัดเจนเกี่ยวกับนโยบายดับไฟใต้ โดยสามารถประมวลออกมาเป็นข้อๆ ได้ดังนี้
1.นโยบายที่แถลงต่อรัฐสภาเมื่อวันที่ 23 ส.ค.2554 มีประเด็นสำคัญเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ว่า "ส่งเสริมการกระจายอำนาจการปกครองส่วนท้องถิ่นในรูปแบบที่สอดคล้องกับลักษณะพื้นที่โดยไม่ขัดรัฐธรรมนูญ" ซึ่งดูเหมือนจะเป็นประเด็นที่สอดรับกับนโยบายของพรรคเพื่อไทยว่าด้วยการตั้ง "นครปัตตานี" ที่ใช้ระหว่างรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งในพื้นที่ แม้จะไม่มีผู้สมัครของพรรคเพื่อไทยได้รับเลือกเลยแม้แต่คนเดียวก็ตาม
แต่ปรากฏว่าเมื่อถูกสมาชิกรัฐสภาซักถาม นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กลับระบุว่าพรรคเพื่อไทยไม่เคยมีแนวคิดหรือนโยบายตั้ง "นครรัฐปัตตานี" หรือเขตปกครองพิเศษในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้
ส่วนการส่งเสริมการกระจายอำนาจการปกครองส่วนท้องถิ่นในรูปแบบที่สอดคล้องกับลักษณะพื้นที่โดยไม่ขัดรัฐธรรมนูญ ตามที่ระบุไว้ในนโยบายนั้น ก็ยังเป็นเพียงแค่ตัวหนังสือในกระดาษ ไม่มีความคืบหน้าในแง่รูปธรรมเลยแม้แต่น้อย
2.วันที่ 22 ก.ย.2554 นายกฯยิ่งลักษณ์นั่งหัวโต๊ะเป็นประธานการประชุมหน่วยงานด้านความมั่นคง และเห็นชอบตามที่ กอ.รมน.เสนอตั้ง "องค์กรบริหารใหม่" รับผิดชอบภารกิจดับไฟใต้ โดยใช้ชื่อ ศูนย์บูรณาการแก้ไขปัญหาและพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศบ.กช.) เพื่อแก้ปัญหาความไร้เอกภาพของหน่วยงานทั้งระดับนโยบายและระดับปฏิบัติในพื้นที่
ต่อมาวันที่ 18-19 ต.ค.2554 กอ.รมน.เป็นเจ้าภาพจัดประชุมเชิงปฏิบัติการ (เวิร์คชอป) กับทุกหน่วยงาน สรุปให้มี "บอร์ดดับไฟใต้" 2 ระดับ ได้แก่ "บอร์ดระดับนโยบาย" ใช้ชื่อว่า คณะกรรมการนโยบายแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (นชต.) มีรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคงเป็นประธาน กับ "บอร์ดระดับพื้นที่" ใช้ชื่อว่า คณะกรรมการบูรณาการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (กบชต.) มีแม่ทัพภาคที่ 4 ในฐานะ ผอ.รมน.ภาค 4 เป็นประธาน มีอำนาจบังคับบัญชาทุกหน่วย รวมทั้ง ศอ.บต.ซึ่งจะย่อส่วนลงเหลือเป็น "ศอ.บต.ส่วนแยก"
ทว่าหลังเวิร์คชอปจบลง กอ.รมน.ได้เสนอร่างคำสั่งตั้ง "องค์กรบริหารใหม่" ให้นายกฯยิ่งลักษณ์ลงนาม แต่จนถึงวันนี้ทุกอย่างยังคงนิ่งสนิท
3.วันที่ 9 ก.พ.2555 คณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้ความเห็นชอบนโยบายการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ.2555 -2557 ซึ่งจัดทำโดยสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) โดยผ่านการรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน อันเป็นไปตามพระราชบัญญัติการบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ.2553 จึงต้องถือเป็น "คัมภีร์" ในการแก้ไขปัญหาภาคใต้ที่ทุกหน่วยต้องถือปฏิบัติ ซึ่งนโยบายฉบับนี้ได้นำเสนอให้รัฐสภาทราบเมื่อวันที่ 28-29 มี.ค.2555 ด้วย
จุดเด่นของนโยบายคือการเปิดพื้นที่สำหรับ "พูดคุยกับกลุ่มเห็นต่าง" ซึ่งดูเหมือนรัฐบาลก็เห็นชอบกับแนวทางนี้ เพราะ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการ ศอ.บต.ก็เดินหน้าพูดคุยกับกลุ่มเห็นต่างทั้งในฝั่งไทยและมาเลเซียอย่างต่อเนื่อง
ประเด็นที่น่าสนใจก็คือ แม้ท่าทีของรัฐบาลจะเห็นด้วยกับแนวทาง "พูดคุยสันติภาพ" แต่กลับมีมติ ครม.เมื่อวันที่ 26 มิ.ย.2555 ย้าย นายสมเกียรติ บุญชู รองเลขาธิการ สมช.ผู้ผลักดันนโยบายการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ไปเป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีฝ่ายข้าราชการประจำ แล้วโยก พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ฝ่ายข้าราชการประจำ ซึ่งมีแนวคิดโอนเอียงไปในแนวทางของ กอ.รมน. (ให้แม่ทัพภาคที่ 4 คุมเบ็ดเสร็จ) มาดำรงตำแหน่งรองเลขาธิการ สมช.แทน
4. วันที่ 17 พ.ค.2555 รัฐบาลจัดประชุมเพื่อขับเคลื่อนนโยบายและยุทธศาสตร์การแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างเป็นทางการ โดยมี พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายและยุทธศาสตร์การแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (กปต.) เป็นประธาน บทสรุปของเวิร์คชอปก็คือการบูรณาการ 17 กระทรวง 66 หน่วยงานให้เดินหน้า 9 ยุทธศาสตร์ 29 เป้าหมาย และ 5 แนวทางขับเคลื่อนไปพร้อมกัน
ทว่าต่อมาในวันที่ 30 มิ.ย. พล.อ.ยุทธศักดิ์ กลับให้สัมภาษณ์ในทำนองขู่จะริบงบประมาณของกระทรวงที่ไม่ยอมลงไปทำงานในพื้นที่ ขณะที่คำให้สัมภาษณ์ล่าสุดของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ที่เพิ่งเดินทางลงพื้นที่เมื่อวันที่ 24 ก.ค. ก็ระบุว่าปัจจุบันทหารยังคงต้องรับผิดชอบภารกิจต่างๆ ในพื้นที่มากถึง 3,500 ภารกิจต่อวัน สะท้อนว่าการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์เชิงบูรณาการยังไม่ปรากฏผลเป็นรูปธรรมเลย
3 ท่านรองฯ กับ 1 นายกฯ
5.ท่ามกลางการเรียกร้องจากหน่วยปฏิบัติให้รัฐบาลปลดชนวนปัญหาเรื่องเอกภาพในการดำเนินงาน แต่ในระดับรัฐบาลเองกลับถูกตั้งคำถามเรื่องเอกภาพของการกับดูแลงานด้านความมั่นคงเช่นกัน เพราะมีรองนายกรัฐมนตรีกระจายกันรับผิดชอบหน่วยงานหลักๆ ที่เกี่ยวข้องกับงานความมั่นคงถึง 3 คน กล่าวคือ นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ กำกับดูแลกระทรวงมหาดไทย พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา กำกับดูแลกระทรวงกลาโหม และ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง กำกับดูแลสำนักงานตำรวจแห่งชาติ
ตลอด 1 ปีของรัฐบาลแทบไม่เคยเห็นรองนายกรัฐมนตรีทั้ง 3 คนนั่งประชุมด้วยกันเพื่อถกประเด็นปัญหาภาคใต้เป็นการเฉพาะเลย หนำซ้ำ ร.ต.อ.เฉลิม ยังจัดตั้ง "ศูนย์ปฏิบัติการส่วนหลัง" เรียกประชุมหน่วยงานด้านการข่าวที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติในกรุงเทพฯ โดยไม่ยอมเดินทางลงพื้นที่ ด้วยเหตุผลไม่อยากให้ข้าราชการเสียเวลามาต้อนรับ ในขณะที่หน่วยงานอื่นๆ มี "ศูนย์ปฏิบัติการส่วนหน้า" ในพื้นที่ทั้งสิ้น เพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการปฏิบัติงาน เช่น กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า เป็นต้น
6.แม้จะไม่เกี่ยวกับทิศทางนโยบาย แต่หลายฝ่ายมองว่าเป็นการแสดงความเอาใจใส่กับปัญหา นั่นก็คือการเดินทางลงพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ของคนระดับผู้นำประเทศ แต่ปรากฏว่าตลอดเกือบ 1 ปีที่ผ่านมา นายกฯยิ่งลักษณ์เคยเดินทางลงพื้นที่เพียงครั้งเดียวเมื่อวันที่ 29 เม.ย.2555 หนำซ้ำยังไปแค่ค่ายสิรินธร ต.เขาตูม อ.ยะรง จ.ปัตตานี ซึ่งเป็นฐานบัญชาการของ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า เท่านั้น ไม่ได้ออกพบปะเยี่ยมเยียนประชาชนแต่อย่างใด แต่ใช้วิธีให้ประชาชนเดินทางไปพบที่ค่ายสิรินธร
ในฐานะผู้นำประเทศ 1 ปีที่ผ่านมา นางสาวยิ่งลักษณ์ เดินทางลงพื้นที่ภาคใต้ตอนล่าง 2 ครั้ง แต่ก็หยุดอยู่แค่ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา โดยครั้งแรกเมื่อวันที่ 2 ธ.ค.2554 เพื่อเป็นประธานเปิดงาน "5 ธันวาฯ รวมพลังคนไทย รวมหัวใจถวายพระพร" ที่ลานจัตุรัสนครหาดใหญ่ เขตเทศบาลนครหาดใหญ่ พร้อมทั้งติดตามสถานการณ์อุทกภัย และรับฟังความคิดเห็นจากภาคธุรกิจ
อีกครั้งหนึ่งคือเมื่อวันที่ 2 เม.ย.2555 ภายหลังเกิดเหตุการณ์คาร์บอมบ์ที่โรงแรมลีการ์เดนส์พลาซ่า ย่านธุรกิจกลางเมืองหาดใหญ่ วันที่ 31 มี.ค. ซึ่งในวันเดียวกันนั้นเกิดเหตุคาร์บอมบ์ในย่านธุรกิจกลางเมืองยะลาด้วย แต่นายกรัฐมนตรีก็ไม่ได้ลงพื้นที่ เพียงแต่ส่ง นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ไปตรวจจุดเกิดเหตุและเยี่ยมเยียนประชาชนแทน
ชัยชนะในสงครามตัวเลข?
แม้ทิศทางนโยบายดับไฟใต้ค่อนข้างมีปัญหา แต่ทางด้านผลงานของฝ่ายปฏิบัติที่มี ผบ.ทบ. แม่ทัพภาคที่ 4 และเลขาธิการ ศอ.บต.เป็นหัวหอกสำคัญนั้น ยังคงยืนยันผ่านข้อมูลเชิงสถิติว่าสถานการณ์ในพื้นที่ดีขึ้น แม้จะมีเหตุรุนแรงขนาดใหญ่เกิดขึ้นต่อเนื่องก็ตาม
รายงานเชิงสถิติที่สรุปจากหน่วยในพื้นที่ ระบุว่า เหตุการณ์รุนแรงเกิดขึ้นสูงสุดในปี 2550 จำนวน 2,475 เหตุการณ์ จากนั้นก็ลดลงอย่างต่อเนื่อง แนวโน้มในปัจจุบัน ปี 2555 เหตุร้ายลดลงเนื่องจากรัฐบาลมีนโยบายใช้แนวทางสันติวิธี ให้ความสำคัญกับการเปิดพื้นที่ให้ผู้มีความเห็นต่างได้ร่วมแก้ปัญหาความขัดแย้ง เปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนร่วมแก้ไขปัญหา เคารพและให้เกียรติในพหุวัฒนธรรม ให้ความเป็นธรรม และนำมาตรการเยียวยาฟื้นฟูผู้เสียหายกับผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบมาใช้เป็นจุดเปลี่ยนผ่าน "จากความรุนแรงสู่สันติวิธี"
ทั้งหมดนี้ทำให้ค่าเฉลี่ยของการเกิดเหตุรุนแรงลดลงจาก 2.97 เหตุการณ์ต่อวันในปี 2554 เหลือ 2.42 เหตุการณ์ต่อวันในปี 2555 หรือลดลงร้อยละ 18.51
เมื่อเปรียบเทียบสถิติเหตุการณ์รอบ 6 เดือน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณียิง ระเบิด และลอบวางเพลิงระหว่างเดือน ม.ค.ถึง ก.ค.2554 กับ เดือน ม.ค.ถึง ก.ค.2555 พบว่าเหตุการณ์ลดลงจาก 406 ครั้ง เหลือ 172 ครั้ง กรณีเหตุระเบิดในช่วงเวลาเดียวกันลดลงจาก 147 ครั้ง เหลือ 92 ครั้ง หรือลดลงร้อยละ 37.41
จำนวนผู้เสียชีวิตเทียบระหว่างเดือน ม.ค.ถึง มิ.ย.ปี 2554 กับปี 2555 พบว่าผู้เสียชีวิตลดลงจาก 234 คน เหลือ 145 คน คิดเป็นร้อยละ 38.04
เป็นตัวเลขที่สวนทางกับความรู้สึกของประชาชนหรือไม่...ทุกคนต้องช่วยกันตัดสิน!
วอร์รูม กอ.รมน.สรุปหวังผลเด้งแม่ทัพ
กล่าวเฉพาะเหตุรุนแรงเที่ยวล่าสุด คือ เหตุคนร้ายเกือบ 20 คนใช้อาวุธสงครามรุมยิงทหารจนเสียชีวิต 4 นายที่ อ.มายอ จ.ปัตตานี นั้น แหล่งข่าวระดับสูงจาก กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า เผยว่า หลังเกิดเหตุได้มีการเปิด "วอร์รูม" เพื่อประชุมสรุปสถานการณ์ เบื้องต้นได้ข้อสรุปว่าคนร้ายจงใจก่อเหตุต่อหน้ากล้องโทรทัศน์วงจรปิด (ซีซีทีวี) เพื่อแสดงศักยภาพและข่มขวัญกำลังพลในพื้นที่ ลักษณะคล้ายเหตุการณ์คนร้ายบุกยิงทหารชุดรักษาความปลอดภัยพระ (ชุด รปภ.พระ) เสียชีวิต 2 นายในเขต อ.เมือง จ.ยะลา และทำให้พระได้รับบาดเจ็บ 1 รูป เมื่อวันเสาร์ที่ 18 ธ.ค.2553 ซึ่งเป็นปฏิบัติการต่อหน้ากล้องวงจรปิดอย่างไม่สะทกสะท้านเช่นกัน
"จากการตรวจสอบคนร้ายที่ก่อเหตุ พบว่ามีทั้งแนวร่วมในพื้นที่และต่างพื้นที่ แสดงว่าระดมกำลังกันมาเพื่อก่อเหตุรุนแรงในลักษณะให้เกิดผลทางจิตวิทยา ทั้งข่มขวัญทหาร และโชว์ศักยภาพว่ายังสามารถก่อเหตุได้ เพื่อกดชาวบ้านให้อยู่ใต้อำนาจและความหวาดกลัวต่อไป ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริงขบวนการก่อความไม่สงบอ่อนกำลังลงมากแล้ว เพราะถูกปิดล้อมจับกุมจำนวนมาก"
แหล่งข่าวยังระบุอีกว่า ตลอดเกือบ 2 ปีที่ผ่านมา แกนนำขบวนการก่อความไม่สงบไม่สบายใจกับนโยบาย "พาคนกลับบ้าน" ของแม่ทัพภาคที่ 4 เพราะนโยบายดังกล่าวทำให้มีคนกลับใจวางอาวุธและออกจากขบวนการจำนวนไม่น้อย จึงต้องก่อเหตุใหญ่เพื่อสยบความเคลื่อนไหว
"ที่สำคัญคือการเลือกก่อเหตุในห้วงเวลานี้ ซึ่งเป็นห้วงของการพิจารณาบัญชีรายชื่อแต่งตั้งโยกย้ายนายทหารประจำปี ทั้งยังเลือกพื้นที่ก่อเหตุใน อ.มายอ ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของกองพลทหารราบที่ 15 (พล.ร.15) ขึ้นตรงกับแม่ทัพภาคที่ 4 ด้วย ย่อมชัดเจนว่าคนร้ายหวังผลให้เกิดแรงกดดันเพื่อให้ผู้บังคับบัญชาสั่งย้าย พล.ท.อุดมชัย ออกจากตำแหน่งแม่ทัพ เพื่อให้นโยบายพาคนกลับบ้านต้องล้มไปหรือขาดความต่อเนื่อง หลังจากที่ก่อนหน้านี้ผู้บังคับบัญชาระดับสูงส่งสัญญาณว่าอาจให้แม่ทัพอยู่ในตำแหน่งต่อไปอีก 1 ปี ซึ่งจะส่งผลสะเทือนต่อขบวนการเป็นอย่างมาก"
แหล่งข่าวระบุด้วยว่า นโยบายพาคนกลับบ้านของแม่ทัพ นับว่าประสบความสำเร็จ มีแนวร่วมกลับใจหลายร้อยคน แต่ที่ไม่ค่อยปรากฏเป็นข่าวเพราะไม่มีกระบวนการอภัยโทษตามกฎหมายรองรับ จึงใช้กระบวนการทางปกครองช่วยเหลือแนวร่วมที่ออกจากขบวนการและดูแลความปลอดภัยให้ดำรงชีวิตได้อย่างปกติสุข
------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : แผนที่เกิดเหตุคนร้ายเกือบ 20 คน มีรถกระบะ 3 คันเป็นพาหนะ ใช้อาวุธสงครามรุมยิงทหารเสียชีวิต 4 นายที่ อ.มายอ จ.ปัตตานี เมื่อวันเสาร์ที่ 28 ก.ค.2555
ขอบคุณ : ฝ่ายศิลป์ หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ เอื้อเฟื้อภาพแผนที่
หมายเหตุ : บางส่วนของรายงานชิ้นนี้ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันอาทิตย์ที่ 29 ก.ค.2555 ด้วย