ประเดิมปัตตานี! เวที ส.ว.พบประชาชน ชงสร้างท่าเรือนราฯ โก-ลกปลอดภาษี
ส.ว.เดินเครื่องลุยโครงการ "สมาชิกวุฒิสภาพบประชาชน" ประเดิมเวทีแรกที่ปัตตานี หนึ่งในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ผู้นำภาคส่วนต่างๆ ในพื้นที่ชง 5 ข้อเรียกร้อง เน้นงานพัฒนาและส่งเสริมคุณภาพชีวิต ก้าวข้ามสถานการณ์ความไม่สงบ
เวทีจัดขึ้นที่โรงแรมปาร์ควิว รีสอร์ท อำเภอเมือง ปัตตานี โดยมี พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ในฐานะรองประธานคณะกรรมการโครงการสมาชิกวุฒิสภาพบประชาชน เป็นหัวหน้าคณะ นำทีม ส.ว.เข้าร่วมกิจกรรม ร่วมกับ นายจำนัล เหมือนดำ ผู้แทนพิเศษของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ นายไกรศร วิศิษฎ์วงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี และมีผู้นำศาสนาทุกศาสนา ทั้งพระภิกษุและอิหม่าม ตลอดจนภาคประชาสังคม และผู้นำประชาชนกลุ่มต่างๆ เข้าร่วมประชุมอย่างคึกคัก
ที่ประชุมได้เปิดให้ผู้แทนประชาชนกลุ่มต่างๆ ได้แสดงความคิดเห็นและข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย โดยเน้นไปที่การพัฒนาคุณภาพชีวิต สรุปได้ 5 ประเด็นใหญ่ๆ คือ 1. ขอให้ทบทวนโครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำลำพระยา อำเภอเมือง จังหวัดยะลา เนื่องจากกระทบกับพื้นที่เกษตรกรรมของชุมชนไทยพุทธ ซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อยในพื้นที่จนต้องอพยพย้ายถิ่นฐาน และยังกระทบสุสานบรรพชนทั้งชาวพุทธและมุสลิมด้วย จึงขอให้ผู้รับผิดชอบลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริง ทั้งยังเสนอให้ปรับปรุงฟื้นฟูแหล่งน้ำเดิมซึ่งมีอยู่แล้ว 2 แห่ง โดยชาวบ้านสนับสนุนมากกว่าการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำแห่งใหม่
2. นโยบายส่งเสริมการเรียนวิทยาศาสตร์ การสร้างนวัตกรรม แม้จะเป็นเรื่องดี แต่ไม่ตรงกับความต้องการของคนในพื้นที่ ที่ผ่านมามีการบรรจุครูสายวิทย์เพิ่ม ทั้งๆ ที่ไม่ค่อยมีนักเรียน และยังเชิญชวนให้เด็กหันมาเรียนสายวิทย์มากขึ้น ทำให้เงินอุดหนุนนักเรียนสายวิทย์ลักลั่นกับสายสังคมที่ถูกตัดงบประมาณไป ทั้งๆ ที่นักเรียนในพื้นที่ต้องการศึกษาสายสังคมจำนวนมาก แต่ไม่มีการบรรจุครูสายสังคมเพิ่มเติม
3. ขอให้รัฐบาลสนับสนุนตั้งโรงงานแปรรูปมะพร้าว และท่าเรือนราธิวาส เพื่อขนส่งสินค้า 4. ขอให้รัฐบาลสนับสนุนสร้างโรงงานกำจัดขยะ โดยเฉพาะที่ อำเภอสุไหงโก-ลก จังหวัดนราธิวาส และ 5. อยากให้ทำเมืองสุไหงโก-ลก เป็นเมืองปลอดภาษี เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวจากมาเลเซีย
ส่วนข้อเสนออื่นๆ ที่น่าสนใจก็เช่น จัดตั้งชุมชนบำบัดยาเสพติด ตำบลละ 1 แห่ง, ให้วีซ่าชาวต่างชาติให้เข้ามาเที่ยวในพื้นที่ง่ายขึ้น และให้มีการพูดคุยแลกเปลี่ยนกันระหว่างมหาวิทยาลัยสงฆ์กับมหาวิทยาลัยฟาฏอนี ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยอิสลาม รวมถึงจัดเวทีสานเสวนาระหว่างศาสนาให้มากขึ้นกว่าเดิม
สำหรับโครงการสมาชิกวุฒิสภาพบประชาชน เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 77 ที่กำหนดไว้ว่า ก่อนการตรากฎหมายทุกฉบับ จะต้องมีการรับฟังความคิดเห็นจากผู้ที่เกี่ยวข้อง และมีการวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นอย่างรอบด้าน และเมื่อกฎหมายมีผลบังคับใช้แล้วก็ต้องมีการประเมินผลสัมฤทธิ์ตามระยะเวลาที่กำหนดด้วย เพื่อพัฒนากฎหมายทุกฉบับให้สอดคล้องและเหมาะสมกับบริบทต่างๆ ในสังคมอย่างแท้จริง
ภารกิจนี้เป็นภารกิจหลักของ ส.ว.ซึ่งมีการวางบทบาทใหม่ เน้นฟังเสียงประชาชนก่อนตรากฎหมาย ซึ่งเป็นงานด้านนิติบัญญัติโดยตรง และพยายามไม่เกี่ยวข้องกับงานบริหาร ซึ่งเป็นหน้าที่ของคณะรัฐมนตรี และ ส.ส.
สำหรับโครงการสมาชิกวุฒิสภาพบประชาชนครั้งต่อไป จะจัดขึ้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช และกระบี่