คดีแพรวา นักกม.ชี้ช่องว่าง ศาลไทยไร้อำนาจสั่งจำเลยชดใช้จ่ายสินไหมทดแทน
ถอดบทเรียน 'คดีเเพรวา' ศ.ณรงค์ หวังไทยจัดตั้งศูนย์ช่วยเหลือผู้เสียหาย ดูเเลค่าใช้จ่ายรวบรวมพยานหลักฐานตั้งเเต่ต้น เพิ่มอำนาจศาลกำหนดค่าสินไหมทดเเทนให้จำเลยชดใช้ 'ผอ.ศูนย์กฎหมายแพ่ง' เเนะ ก.คมนาคม ออกเเบบมาตรการลดความเสี่ยงอุบัติเหตุ เชื่อไม่ว่าระบบรถตู้หรือมินิบัส ความปลอดภัยเป็นสิ่งที่ต้องการ
วันที่ 17 ส.ค. 2562 ศูนย์นิติศาสตร์และศูนย์กฎหมายแพ่ง คณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ (มธ.) จัดเสวนาวิชาการ เรื่อง ถอดบทเรียนทางกฎหมายจากคดีอุบัติเหตุบนทางด่วนโทลล์เวย์ กรณีน.ส.เเพรวา หรืออรชร ขับรถยนต์นั่งส่วนบุคคลสีขาว ยี่ห้อฮอนด้า ซีวิค ด้วยความเร็วสูงพุ่งชนท้ายรถตู้โดยสารสาธารณะ เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต 9 ราย บาดเจ็บ 5 ราย ส่วน น.ส.เเพรวา ได้รับบาดเจ็บเล็กน้อย โดยท้ายที่สุดศาลฎีกาพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ร่วมกันชำระค่าเสียหายให้เเก่โจทก์ในเเต่ละคดี เเละให้จำเลยที่ 4 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ถึง 3 ต่อโจทก์ที่ 5 เเละที่ 11 ด้วย ซึ่งรวมค่าสินไหมทดเเทนทุกคดีเป็นเงินทั้งสิ้น 25,261,164 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับเเต่วันที่ละเมิด ณ ห้องศาลจำลอง มารุต บุนนาค คณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ (ท่าพระจันทร์)
ศ.ณรงค์ ใจหาญ อาจารย์ประจำศูนย์กฎหมายอาญาและอาชญาวิทยา คณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ กล่าวถึงคดีอุบัติเหตุบนทางด่วนโทลล์เวย์มีความโชคดีมาก เพราะเมื่อเริ่มคดีนั้นได้รับความร่วมมือจากเจ้าพนักงานในกระบวนการยุติธรรม ซึ่งในช่วงค้นหาความจริงทุกคนเห็นว่า เรื่องนี้น่าจะนำความเป็นธรรมให้ญาติผู้เสียหายได้ ฉะนั้นการรวบรวมพยานหลักฐานตั้งแต่ในชั้นพนักงานสอบสวน การดำเนินคดี การสืบพยาน พบว่า ทุกท่านทำงานกันอย่างเต็มที่เพื่อนำข้อเท็จจริงนำเสนอต่อศาลได้วินิจฉัยคดีได้อย่างชัดเจน ทั้งคดีแพ่งและคดีอาญา
ขณะที่อีกมุมหนึ่งที่ไม่เห็นในการดำเนินคดี แต่อยู่ในชั้นการเปลี่ยนคดี เนื่องจากคดีนี้มหาวิทยาลัยตั้งทีมงานขึ้นมาและมีความร่วมมือ พบว่า ผู้เสียหายในคดีอาญาได้รับการปฏิบัติแบบนี้ในทุกคดี มองเป็นเรื่องของภาครัฐและเอกชนร่วมมือกัน ดูแลเนื้อหาตั้งแต่ต้นจนจบ ซึ่งมุมมองอันหนึ่งไม่เกี่ยวกับค่าเสียหายหรือรวบรวมพยานหลักฐาน นั่นคือ ผู้ประสบเหตุ มองว่า ไม่ว่าญาติพี่น้องหรือเจ้าตัวต้องได้รับการเยียวยาและดูแลจากคนในสังคมผ่านศูนย์ดูแลลักษณะเดียวกันนี้ ซึ่งกระทรวงยุติธรรมมี “ศูนย์ยุติธรรมใส่ใจ”
ทั้งนี้ ปัจจุบันประเทศไทยขาดเรื่องการดูแลค่าใช้จ่ายในการรวบรวมพยานหลักฐานตั้งแต่ต้น แต่คดีอุบัติเหตุบนทางด่วนโทลล์เวย์ บริษัทประกันภัยมีความเข้าใจ จึงออกค่าใช้จ่ายให้ ดังนั้นอยากให้คดีนี้เป็นกรณีศึกษาที่พยายามผลักดันให้เรื่องดังกล่าวเกิดขึ้น
อย่างไรก็ตามจากกรณีนี้ กลุ่มผู้เสียหายได้รับการเยียวยาเบื้องต้น แม้จะไม่ครอบคลุม แต่ได้รับบางส่วน โดยไม่ต้องรอคดี เพราะหากรอ ต้องใช้เวลานานถึง 7-8 ปี จึงจะได้รับ
นักวิชาการด้านนิติศาสตร์ มธ. กล่าวต่อว่า นอกจากเรื่องการจัดตั้งศูนย์ให้ความช่วยเหลือผู้เสียหายและดำเนินการเรื่องค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีแล้ว สิ่งที่ต้องเพิ่มเติมไปอีก คือ บทบาทของศาลในคดีอาญา โดยเฉพาะศาลเยอรมันและศาลฝรั่งเศสจะมีอำนาจในการกำหนดค่าสินไหมทดแทนให้จำเลยชดใช้แก่ผู้เสียหาย ซึ่งประเทศไทยยังมีช่องว่างในเรื่องดังกล่าวอยู่
"กรณีคดีนี้พบว่า ผู้เสียหายต้องเข้าไปขอเองภายในระยะเวลาที่กำหนดและเป็นช่วงระยะเวลาสั้นมาก ขณะที่ในบางประเทศ ศาลสามารถสั่งให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายทดแทนได้เลย ดังนั้น อาจต้องปรับปรุงกฎหมายเพิ่มอำนาจบทบาทการทำหน้าที่ของศาล
ด้าน ผศ.ดร.สมเกียรติ วรปัญญาอนันต์ ผอ.ศูนย์กฎหมายแพ่ง คณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ กล่าวถึงนโยบายขยายอายุรถตู้โดยสารสาธารณะจาก 10 ปี เป็น 12 ปี และให้เปลี่ยนเป็นรถโดยสารสาธารณะขนาดเล็ก (มินิบัส) โดยสมัครใจ ว่า คดีอุบัติเหตุบนทางด่วนโทลล์เวย์กับนโยบายดังกล่าวไม่มีความสัมพันธ์กันโดยตรง เพราะฉะนั้น ไม่ว่าจะเป็นระบบรถตู้โดยสารสาธารณะหรือไม่ สิ่งแรกที่ต้องการ คือ การสร้างมาตรฐานความปลอดภัย เพื่อไม่ให้เกิดความเสี่ยงต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน ด้วยเหตุนี้กระทรวงคมนาคมจึงต้องกลับไปออกแบบมาตรการที่จะนำพาไปสู่การบรรลุในสิ่งที่กำลังจะเกิดผลสัมฤทธิ์ที่ดีแก่สังคม .
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/