'ถาวร' สั่งสอบสร้างสนามบินนครศรีฯล่าช้า-ดึงสตง.ตรวจงบการบินไทยย้อนหลัง แก้ขาดทุนบักโกรก
'ถาวร เสนเนียม' รมช.คมนาคม เผยแนวทางแก้ไขปัญหาการบินไทยขาดทุนหนัก เตรียมเรียก 'สุเมธ ดํารงชัยธรรม' ดีดี.เข้าพบหารือแผนธุรกิจ ทำอย่างไรมีกำไร พร้อมดึง สตง.ช่วยตรวจสอบงบการเงินย้อนหลัง-ส่วนงานก่อสร้างสนามบินนครศรีธรรมราช ลงพื้นที่ตรวจงานเจอล่าช้า ลั่นหากพบต่ออายุสัญญาไม่ชอบมาพากล ลุยตรวจเชิงลึกต่อ ด้านการบินไทยเผย 6 กลยุทธ์ฟื้นฟูความเชื่อมั่น
นายถาวร เสนเนียม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ถึงนโยบายการแก้ไขปัญหาการขาดทุนของ บริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) ว่า จะมีการเชิญนายสุเมธ ดํารงชัยธรรม กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินไทย จำกัด(มหาชน) ในฐานะผู้กำกับดูแลบริษัทฯ มาหารือถึงแนวทางการแก้ไขปัญหา ว่าจะมีแนวทางการบริหารงานอย่างไร ที่จะทำให้องค์กรขาดทุนน้อยลงและมีกำไรมากขึ้น โดยเบื้องต้นได้สั่งการให้มีการตรวจสอบงบการเงินย้อนหลังแล้ว และเมื่อวันที่ 16 ส.ค.2562 ที่ผ่านมา ได้เชิญ รองผู้ว่าการสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เข้ามาร่วมตรวจสอบในกรณีนี้ด้วยเช่นกัน
"ในการการเชิญ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินไทยฯ มาพบ คงจะเป็นการมาหารือกันมากกว่าว่า เมื่อสรรหาในช่วงเวลาที่รู้ว่าขาดทุน ก็จะต้องมีการพูดคุยกันว่าคุณจะมีแผนการทำธุรกิจอย่างไร จะฟื้นฟูธุรกิจ ลดค่าใช้จ่าย ปรับปรุงการบริการกันอย่างไรเพื่อให้มีลูกค้ามากขึ้น ตรงไหนที่ทำแล้ว และตรงไหนที่ยังไม่ได้ทำ" นายถาวรระบุ
รมช.คมนาคม ยังระบุด้วยว่า นอกเหนือจากการหาทางแก้ไขปัญหาบริษัทการบินไทยฯ แล้ว เมื่อวันที่ 13 ส.ค.ที่ผ่านมา ได้ไปสำรวจการก่อสร้างสนามบินที่ จ.นครศรีธรรมราช พบว่ามีประเด็นความล่าช้าเกิดขึ้น จึงได้สั่งการให้ไปตรวจสอบว่าปัญหาเกิดจากอะไร โดยเฉพาะการก่อสร้างอาคารผู้โดยสาร ถ้าพบว่าการต่ออายุสัญญาก่อสร้างไม่ชอบมาพากล ก็จะต้องมีการตรวจสอบข้อมูลในเชิงลึกกันต่อไป
(อ่านบทสัมภาษณ์พิเศษ นายถาวร เสนเนียม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ฉบับเต็มที่นี่ isra-Talk : ถาวร เสนเนียม : ผมจะมาทำอะไรในตำแหน่ง รมช.คมนาคม?)
สำนักข่าวอิศรารายงานว่า ก่อนหน้านี้ บริษัทการบินไทยฯ ได้ออกแถลงการณ์แสดงกลยุทธ์เพื่อลดค่าใช้จ่าย โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้
บริษัท การบินไทย จํากัด (มหาชน) ประกาศกลยุทธ์ลดรายจ่ายเพิ่มรายได้ท่ามกลางวิกฤตปัจจัยภายนอก เช่น บาทแข็ง สงครามการค้าระหว่างสหรัฐ-จีน เศรษฐกิจโลกซบเซา และการปิดน่านฟ้าของปากีสถาน ส่งผลให้ปริมาณนักท่องเที่ยวและกําลังซื้อของลูกค้าลดลง ประกอบกับความล่าช้าของการซ่อมเครื่องยนต์ ของทางผู้ผลิตทําให้ปริมาณการผลิตและจํานวนเครื่องบินที่ให้บริการลูกค้าลดลง แม้ว่าในช่วงที่ผ่านมา บริษัทฯ ใช้ทุกมาตรการในการควบคุมต้นทุนจนค่าใช้จ่ายในไตรมาสที่ผ่านมาลดลงต่ํากว่าปีก่อน แต่ปัจจัยภายนอก ดังกล่าวได้ส่งผลให้กลุ่มบริษัทฯ มีการขาดทุนสุทธิในไตรมาสที่ผ่านมาเพิ่มขึ้น เช่นเดียวกับสายการบินอื่นๆ อย่างไรก็ตาม ทางบริษัทฯ ได้มีการระดมความคิดในกลุ่มผู้บริหารทั้งหมด เพื่อกําหนดแนวทางในการเพิ่ม รายได้และลดค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมอย่างเร่งด่วนที่สุด
นายสุเมธ ดํารงชัยธรรม กรรมการผู้อํานวยการใหญ่ บริษัท การบินไทยฯ เปิดเผยว่า ในท่ามกลาง การแข่งขันที่รุนแรงอันส่งผลกระทบกับการประกอบการโดยรวมของทุกสายการบิน ประกอบกับปัญหา สืบเนื่องที่ทุกส่วนพยายามแก้ไข เราจึงร่วมกันกําหนดกลยุทธ์การลดรายจ่ายเพิ่มรายได้ ดังนี้
1. กลยุทธ์ “SaveTG Co-Creation” เป็นกลยุทธ์การควบคุมค่าใช้จ่ายที่ไม่ส่งผลกระทบต่อคุณภาพการให้บริการโดยบริษัทฯ ได้ประกาศเป็นมาตรการลดค่าใช้จ่าย รวมทั้งให้พนักงานทุกภาคส่วนระดม ความคิดเห็น และข้อเสนอแนะมายังผู้บริหาร และที่สําคัญ เปิดให้ผู้โดยสารเสนอแนะความคิดเห็นมายังบริษัทฯ โดยสามารถร่วม Co-Create ได้ที่ [email protected]
2. กลยุทธ์ Zero Waste Management โดยจะเริ่มที่ Food Waste ก่อน เป็นโครงการที่จะช่วยประหยัดและสร้างมูลค่าเพิ่ม (Circular Economy) ให้ทั้งกับองค์กรและประเทศชาติโดยรวมขณะนี้ ได้เริ่มมีการศึกษาร่วมกันกับทาง FoodinnoPolis เพื่อกําหนดแผนงานปฏิบัติ
3. กลยุทธ์การรุกตลาดใหม่ในไตรมาส 4 ของปีนี้ คือ บินตรงสู่เซนได อีกหนึ่งเมืองใหญ่ที่สวยงามทุกฤดูกาลในภูมิภาคโทโฮคุของญี่ปุ่น
4. กลยุทธ์การเพิ่มรายได้ โดยใช้ Digital Marketing อาทิ การออกโปรโมชั่นผ่านสื่อดิจิทัลทุกช่องทางอย่างต่อเนื่อง เพื่อดึงฐานลูกค้ากลุ่ม Online มากขึ้น โดยเฉพาะเพิ่มความสะดวกสําหรับลูกค้า ที่ดาวน์โหลด Application Thai Airways ไว้ในโทรศัพท์มือถือ ซึ่งจะสามารถจองบัตรโดยสาร ค้นหาเที่ยวบิน โปรโมชั่นบัตรโดยสาร และนําเสนอสิทธิพิเศษ สิทธิประโยชน์ให้กับผู้โดยสาร ของการบินไทยมากขึ้น สําหรับเรื่องระบบ ได้ปรับปรุงให้ Mobile Application สามารถเพิ่มรายได้ โดยการเสนอการขายผลิตภัณฑ์เสริม (Ancillary Product) อาทิ น้ําหนักกระเป๋าสัมภาระ ประกันภัยการเดินทาง รถรับส่งสนามบิน รถเช่า โรงแรม เป็นต้น รวมทั้งเพิ่มภาษาต่างๆ และปรับเปลี่ยนหน้า Mobile Application ให้เข้าถึงผู้โดยสารในกลุ่มคนรุ่นใหม่ได้มากขึ้น นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังมีโครงการเพิ่มรายได้เสริม อาทิ โครงการการจําหน่ายสินค้าออนไลน์ eCommerce ซึ่งบริษัทฯ ได้คัดเลือกผู้จัดจําหน่าย (eCommerce Vendor) ที่มีความเชี่ยวชาญและมี ประสบการณ์ในด้านการดําเนินธุรกิจในลักษณะนี้กับสายการบินชั้นนําของโลกเรียบร้อยแล้วและคาดว่าจะเปิดให้บริการได้ในเดือนตุลาคม 2562
5. กลยุทธ์ THAI Synergy การบินไทยมีสินค้าและบริการที่สามารถผสานพลังกับพันธมิตร โครงการที่กําลังจะเกิดขึ้นในเร็ววันนี้ คือ การผสานพลังกับ Cafe Amazon ในการขยายธุรกิจทั้งในประเทศและในภูมิภาคเอเชีย
6. กลยุทธ์ TG Group การบินไทยผนึกไทยสมายล์ เสริมความแข็งแกร่งในทุกมิติเพื่อให้เครือข่ายการบิน เชื่อมต่ออย่างเป็นระบบ สะดวกสบายสําหรับผู้โดยสาร รุกตลาดในภูมิภาคอย่างเต็มที่ภายในไตรมาส 4 ของปีนี้ และที่สําคัญคือ ดําเนินการให้สายการบินไทยสมายล์เข้าร่วมเป็น Connecting Partner ของกลุ่มพันธมิตรสายการบินสตาร์อัลไลแอนซ์ได้อย่างสมบูรณ์แบบภายในสิ้นปี 2562 เพื่อช่วยเสริมความเข้มแข็งของเครือข่ายเส้นทางบินในระดับภูมิภาค
“ตั้งแต่ผมเข้ามารับหน้าที่ที่การบินไทย 11 เดือนมาแล้ว ไม่มีวันไหนไม่มีปัญหา เราทั้งคณะกรรมการ บริษัทฯ ฝ่ายบริหาร รวมถึงพนักงานทํางานกันหนักมาก เพราะตระหนักดีว่า นี่คือสายการบินแห่งชาติ ไม่มีปัญหาไหนแก้ได้ง่าย แต่เราพยายามอย่างที่สุด ด้วยกลยุทธ์ที่กล่าวข้างต้น เราเชื่อว่าเราจะนําความมั่นใจ กลับมาสู่การบินไทยอีกครั้งหนึ่ง แม้ว่าอาจจะไม่รวดเร็วดั่งใจ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ขึ้นอยู่กับการสนับสนุน ของผู้โดยสารคนไทยที่ยังรักในการบินไทย มาช่วยกันใช้บริการ ช่วยกันแนะนํา ภายใต้แนวคิด #SaveTG ผมและพนักงานทุกคนมั่นใจว่าเป้าหมายทุกอย่างเป็นไปได้แน่นอน” นายสุเมธ ดํารงชัยธรรม กล่าว
นอกเหนือจากกลยุทธ์ข้างต้น ทางบริษัทฯ ยังได้มีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างการทํางานกับ Thai Smile Connectivity การปรับโครงสร้างงานบริการแบบรวมศูนย์ เพื่อเพิ่มความสะดวกสบายให้กับผู้โดยสาร อีกทั้งยังมีการรณรงค์เรื่ององค์กรคุณธรรมภายในองค์กรอย่างทั่วถึง เพื่อเป็นการเสริมความสามัคคีเข้มแข็ง อันเป็นส่วนหนึ่งของแผนงาน #SaveTG ภาพใหญ่ ทั้งนี้ จากวิกฤตการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าจะ สร้างความยากลําบากมากมายในการบริหารจัดการภายใน แต่บริษัทฯ ทําทุกอย่างที่จะสร้างผลกระทบต่อ คุณภาพการบริการให้น้อยที่สุด ดังจะเห็นได้จากรางวัลใหญ่ระดับโลก Skytrax ที่เพิ่งได้มา อันได้แก่ การบินไทยได้รับการจัดอันดับเป็น 1 ใน 10 สายการบินชั้นนํายอดเยี่ยมของโลก ปี 2019 พร้อมได้รับรางวัล อันดับ 1 รางวัลสายการบินที่ให้บริการสปาเลาจน์ยอดเยี่ยมของโลก และรางวัลอันดับ 1 สายการบิน ที่มีพนักงานให้บริการยอดเยี่ยมของเอเชีย ซึ่งกําลังใจและการสนับสนุนจากคนไทยและผู้รักความเป็นไทย จากทั้งโลกจะช่วยให้เรากลับมาบินสมฐานะสายการบินแห่งชาติอีกครั้งหนึ่ง
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ httpแs://www.facebook.com/isranewsfanpage/
อ่านประกอบ:
isra-Talk : ถาวร เสนเนียม : ผมจะมาทำอะไรในตำแหน่ง รมช.คมนาคม?