คิดถึง 'มาเรียม' สาวงามแห่งท้องทะเล
"..มาเรียม สาวงามแห่งท้องทะเลจอมเกยตื้น ได้ทำหน้าที่จุดประกายกระแสการอนุรักษ์ขนานใหญ่ให้เกิดขึ้นในประเทศไทย โดยเฉพาะในจังหวัดตรัง เมืองหลวงของพะยูนฝูงสุดท้ายในประเทศไทย เพราะในสภาพธรรมชาติดังเช่นปัจจุบันที่มีความเสี่ยง อาจมีพะยูนตัวอื่นๆ ที่เป็นเสมือนญาติพี่น้องของมาเรียมต้องประสบชะตากรรมเหล่านี้อีกมากมาย..."
'มาเรียม' จากไปแล้ว เหลือไว้เพียงความรักความทรงจำ
'มาเรียม' สาวงามแห่งท้องทะเลจอมเกยตื้น ได้ทำหน้าที่จุดประกายกระแสการอนุรักษ์ขนานใหญ่ให้เกิดขึ้นในประเทศไทย โดยเฉพาะในจังหวัดตรัง เมืองหลวงของพะยูนฝูงสุดท้ายในประเทศไทย
เพราะในสภาพธรรมชาติดังเช่นปัจจุบันที่มีความเสี่ยง อาจมีพะยูนตัวอื่นๆ ที่เป็นเสมือนญาติพี่น้องของมาเรียมต้องประสบชะตากรรมเหล่านี้อีกมากมาย
ขณะที่ สาเหตุการตายของพะยูน ก็ยังคงวนเวียนอยู่กับเรื่องของเครื่องมือประมงบางชนิด การกินเศษขยะและสิ่งแปลกปลอมที่เกิดจากน้ำมือมนุษย์ การคุกคามพื้นที่อยู่อาศัย พื้นที่หญ้าทะเลซึ่งเป็นแหล่งอาหาร แม้กระทั่งปัจจัยที่เบาบางลงแล้วในปัจจุบันอย่างการล่า
การจากไปของ มาเรียม นอกจากยังความเศร้าโศกเสียใจให้แก่บรรดาแฟนคลับผู้มีหัวใจอนุรักษ์แล้ว ยังเป็นความท้าทายต่อแนวคิดการอนุรักษ์ ว่าจะยังสืบทอดคงอยู่ เพิ่ม เข้มข้น ขึ้น หรือค่อยๆเลือนหายไปตามกระแสหรือไม่
ในวันที่เด็กน้อยลอยลับสู่ดวงดาว...
@ ที่มาภาพ เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2562 ทวิตเตอร์ @31102551 โพสต์ภาพน่ารัก ชวนให้ยิ้มตาม ระหว่างมนุษย์กับลูกพะยูน ในขณะที่อาสาสมัครจากกลุ่มพิทักษ์ดุหยง
ที่เกาะลิบง จังหวัดตรัง กำลังพยุงตัวน้องมาเรียม ลูกพะยูนตัวน้อย ขณะกำลังงีบหลับอยู่ที่ริมแนวป่า หลังจากกินอาหารจนอิ่มแปล้ ซึ่งเป็นภาพที่เห็นแล้วน่ารัก น่าเอ็นดูเป็นอย่างมาก
ความผูกพันระหว่างคนไทยกับพะยูน ในบ้านเรามีชื่อเรียกพะยูนหลายชื่อด้วยกัน คือ หมูน้ำ หมูดุด ดูหยง เงือก วัวทะเล และ ดูกอง พะยูน หรือที่ชาวบ้านเรียก ปลาพะยูน เป็นชื่อที่นิยมใช้ทั่วไปในประเทศไทย (บางแห่งอาจเขียนเป็น “พยูน พยูร”) ส่วนชาวปักษ์ใต้นิยมเรียกพะยูนว่า “ดูหยง” หรือ “ตูหยง” ซึ่งมาจากภาษามาเลเซียที่ใช้เรียกพะยูน (Duyong, sea pig หรือหมูทะเล) ในภาษาเขียนบ้านเราในบางแห่งอาจเพี้ยนไปเป็น “ดุยง ดุหยง ตุยง หรือตุหยง” และชาวใต้ยังเรียกพะยูนอีกชื่อหนึ่งว่า “หมูน้ำ” อีกนัยหนึ่งอาจมาจากรูปร่างที่อ้วนพร้อมทั้งมีขนตามลำตัวและลักษณะการกินอาหารที่คล้ายหมูก็ได้
สมัยก่อนพบพะยูนมากในทะเลไทยทั้งสองฝั่ง และคนไทยน่าจะมีความผูกพันกับพะยูนอย่างมากมาช้านานแล้ว อาจจะเป็นเพราะทั้งความน่ารักน่าสงสารของพะยูน การที่พะยูนเป็นสัตว์มีรูปร่างพิเศษ รวมทั้งความเชื่อต่างๆ ที่มีเกี่ยวกับพะยูน หลักฐานความผูกพันของคนไทยกับพะยูน คือ การนำชื่อที่ใช้เรียกพะยูนไปตั้งเป็นชื่อสถานที่ที่อยู่ติดกับชายฝั่งทะเล ได้แก่ คำว่า “พะยูน หมูดุด ตุหยง ดุหยง ตุยง” ชื่อสถานที่ต่างๆ เหล่านี้น่าจะถูกเรียกต่อๆ กันมานับร้อยปี
ในประเทศไทยคงไม่มีชื่อสัตว์ทะเลชนิดอื่นใดที่ถูกนำไปตั้งเป็นชื่อสถานที่มากเท่าชื่อพะยูน และยังไม่พบรายงานจากที่อื่นที่กล่าวถึงการนำชื่อพะยูนไปตั้งเป็นชื่อสถานที่
นอกจากนี้ ในตรังบ้านเรา หลังจากเกิดกระแสการอนุรักษ์พะยูนอย่างกว้างขวาง กอร์ปกับเป็นแหล่งที่มีพะยูนอาศัยอยู่มากที่สุดในประเทศไทย พะยูนกลายเป็นสัตว์สัญลักษณ์ของจังหวัดตรังในการอนุรักษ์ ดังเมื่อปี 2539 มีการนำพะยูนไปเป็นสัตว์นำโชคในกีฬาแห่งชาติครั้งที่ 29 หรือ “พะยูนเกมส์”
มีรูปพะยูนหรือรูปปั้นพะยูนอยู่มากมาย เช่น รูปปั้นพะยูนคู่หนึ่งที่หน้าทางเข้าอควาเรียมของสถาบันราชมงคล , รูปปั้นพะยูนที่ฉางหลางรีสอร์ท , หุ่นสต๊าฟพะยูนที่อุทยานแห่งชาติเจ้าไหม ที่สถาบันราชมงคลฯ และที่สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งจังหวัดตรัง มีร้านค้ารวมถึงวงเวียนพะยูนหน้าจวนผู้ว่าฯจังหวัดตรัง และสำนักงานหลายแห่งในตัวเมืองตรังนำคำว่าพะยูนไปเป็นชื่อร้าน เช่น สำนักทนายความ ร้านอาหาร บริษัทท่องเที่ยว(พะยูนทราเวล) ร้านถ่ายรูป(พะยูนเอ็กซ์เพลส) มีรูปพะยูนตามป้ายต่างๆ เช่น ป้ายหน้าโรงเรียนปาตูดูเป๊ะบนเกาะตะลิบง ป้ายหน้าอุทยานแห่งชาติเจ้าไหม ข้างรถตุ๊กตุ๊ก ฯลฯ
@ ภาพจากมูลนิธิสืบ นาคะเสถียร
ยังมีเรื่องเล่าเกี่ยวกับพะยูนที่ผูกพันผูกใจ ไว้กับเมืองตรังอีกมาก...ไว้จะนำมารายงานในโอกาสต่อไป
มาเรียม เดินทางไปหา ลุงโทน แล้ว (เป็นพะยูนนอนบาลโดยคนเหมือนกัน แต่อยู่ได้นานกว่า ตายเพราะอวนประมง) และเชื่อว่าทั้งลุงและหลาน จะอยู่ในความทรงจำของทุกคนอีกนานแสนนาน
ทั้ง มาเรียม และ เจ้าโทน ต่างก็เป็นพะยูนที่ได้รับการอนุบาลโดยมนุษย์ทั้งสิ้น ก่อนปล่อยให้ทดลองใช้ชีวิตตามธรรมชาติ ซึ่งวิทยาการด้านการอนุรักษ์จะต้องพัฒนากันต่อไป
แต่แม้ทำเต็มที่แล้วเท่าไหร่ #ธรรมชาติก็จะเป็นผู้คัดสรรเสมอ
คิดถึง “มาเรียม” จัง ... ไม่แพ้กับที่คิดถึง เจ้าโทน...
(ขอบคุณคลิปประกอบบทความ #พะยูนเพื่อนรัก เรื่องราวของ #จิ๋วเจ้าไหม ลูกทะเลแห่งสิเกา กับ #เจ้าโทน พะยูนเพื่อนของเขา ที่พี่นก-นิรมล เมธีสุวกุล เคยฉายภาพสถานการณ์ท้องทะเลไทย ทะเลตรัง ในห้วงปี 2537 ผ่ายรายการ #ทุ่งแสงตะวัน )
ชมรายการทุ่งแสงตะวันตอน พะยูนเพื่อนรัก คลิก
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/
หมายเหตุ : ภาพประกอบเรื่องจาก https://www.thebangkokinsight.com/193280/