สมช.ประเมินไฟใต้รุนแรงยืดเยื้อ เสี่ยงเพิ่มปัญหาแทรกซ้อน ต่างชาติแทรกแซง
สภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ประเมินสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ว่ายังคงมีความรุนแรงเกิดขึ้น และความยืดเยื้อของปัญหาจะยิ่งเพิ่มความเสี่ยงต่อปัจจัยแทรกซ้อนต่างๆ รวมถึงการแทรกแซงจากองค์กรต่างประเทศ และเป็นอุปสรรคต่อการก้าวสู่ประชาคมอาเซียน
เจ้าหน้าที่ระดับสูงของ สมช.เปิดเผยข้อมูลดังกล่าวระหว่างการประชุมสัมมนาที่จัดขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ โดยสำนักเลขาธิการ สมช. เพื่อชี้แจงแนวทางการขับเคลื่อนนโยบายการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ.2555–2557 ที่โรงแรมซี.เอส.ปัตตานี อ.เมืองปัตตานี ซึ่ง พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี เลขาธิการ สมช.เดินทางไปเป็นประธานด้วยตนเอง
บทประเมินแนวโน้มสถานการณ์ที่ชายแดนใต้ของ สมช.สรุปว่า การใช้ความรุนแรงยังจำกัดอยู่ในพื้นที่ จ.ปัตตานี ยะลา นราธิวาส และใน 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา กลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงยังสามารถใช้ความรุนแรงต่อฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐและผู้บริสุทธิ์อย่างต่อเนื่อง
ขณะเดียวกันก็มีความพยายามขององค์กรต่างประเทศ เช่น องค์การความร่วมมืออิสลาม หรือ โอไอซี องค์กรด้านสิทธิมนุษยชน ในการเข้ามาแทรกแซงการแก้ไขปัญหา แต่ยังอยู่ในวิสัยที่ยังสามารถทำความเข้าใจได้
ประเด็นที่ สมช.ให้ความสำคัญเป็นพิเศษก็คือ ความยืดเยื้อของความรุนแรง เพิ่มความเสี่ยงมากขึ้นต่อการขยายตัวของปัญหาแทรกซ้อนจากกลุ่มผลประโยชน์ เพิ่มโอกาสที่ต่างประเทศจะเข้ามาแทรกแซงการแก้ไขปัญหา และเป็นอุปสรรคต่อบรรยากาศในการเข้าสู่ความเป็นประชาคมอาเซียน (ASEAN Community)
"วิเชียร"หนุนพูดคุย – รับบางกลุ่มไม่ยอมเจรจา
สำหรับบรรยากาศการประชุมสัมมนาของ สมช.นั้น ได้มีการชี้แจงนโยบายการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ.2555–2557 กับการขับเคลื่อนไปสู่ภาคปฏิบัติ โดย นายดนัย มู่สา ผู้อำนวยการสำนักยุทธศาสตร์ความมั่นคงจังหวัดชายแดนภาคใต้และชนต่างวัฒนธรรม สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ
ทั้งนี้ นโยบายการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ. 2555-2557 ถือเป็นกรอบนโยบายดับไฟใต้อย่างเป็นทางการฉบับแรกที่มาจากการรับฟังความเห็นของทุกภาคส่วนอย่างแท้จริง ตามพระราชบัญญัติการบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ.2553 เพื่อให้ทุกหน่วยงานได้ปฏิบัติ โดยได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 9 ก.พ.2555 และนำเสนอรัฐสภาทราบเมื่อวันที่ 28–29 มี.ค.2555
พล.ต.อ.วิเชียร กล่าวว่า นโยบายการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ.2555-2557เป็นนโยบายฉบับแรกที่เป็นนโยบายเฉพาะด้านที่นำเข้าอภิปรายในรัฐสภา ซึ่งรัฐสภาก็แสดงความเป็นห่วงในเรื่องของการแปรนโยบายไปสู่การปฏิบัติ จึงได้จัดการประชุมสัมมนาในครั้งนี้ขึ้น เพื่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจ และสร้างการมีส่วนร่วมจากทุกฝ่าย
"การมีส่วนร่วมมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งต่อการแก้ไขปัญหา โดยเฉพาะในแง่ของการพูดคุย หารือ เจรจา ทาง สมช.เห็นว่าในกลุ่มที่มีความคิดเห็นแตกต่าง ความเห็นที่สุดโต่ง ก็มาพูดคุยกัน ส่วนพวกที่ทำผิดก็ดำเนินการตามกฎหมายไปส่วนหนึ่ง หรือใช้กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์สำหรับผู้ที่กระทำผิดไปโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ โดยเชิญมาพูดคุยหารือเพื่อหาทางออก เราต้องยอมรับว่าวิธีการแก้ไขปัญหาที่ดีที่สุดคือแนวทางการพูดคุย เจรจา ส่วนคนที่ไม่ยอมเจรจาพูดคุยก็มีเหมือนกัน" พล.ต.อ.วิเชียร กล่าว
ปัจจุบันกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) และศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ได้ทำยุทธศาสตร์ร่วมกัน โดยพัฒนาจากกรอบนโยบายการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ฯ เพื่อใช้แก้ไขปัญหาในภาคของการปฏิบัติ โดยยุทธศาสตร์หลักตามนโยบายของ สมช.มี 9 ประเด็นยุทธศาสตร์ ขณะที่เป้าหมายยุทธศาสตร์ร่วมของ กอ.รมน. และศอ.บต. มี 29 ข้อ (ศูนย์ข่าวภาคใต้ สถาบันอิศรา เคยรายงานเรื่องนี้ไว้อย่างละเอียดแล้ว อ่านเพิ่มเติมได้ใน http://www.isranews.org/south-news/Academic-arena/45-2009-11-15-11-18-09/6753-qq-9-29-5-.html )
"ครูประสิทธิ์" ชี้ ระดับนโยบายกับปฏิบัติยังเห็นต่าง
นายประสิทธิ์ เมฆสุวรรณ ที่ปรึกษาสมาพันธ์ครู และประธานสภาประชาสังคมชายแดนใต้ ซึ่งเข้าร่วมการสัมมนาด้วย กล่าวว่า แนวทางการแก้ไขปัญหาที่ถูกต้อง รัฐต้องทำหลายเรื่องดังต่อไปนี้
1.การวิเคราะห์สถานการณ์ต้องตรง แม่นยำ สามารถระบุได้ว่าผู้ที่ก่อเหตุอยู่ที่ไหน ใครเป็นผู้แบ่งแยกดินแดน
2.จัดระบบกระบวนการการแก้ไขปัญหาให้ถูกต้อง สอดคล้องกันทุกองค์กรที่มีภาระหน้าที่เกี่ยวกับความมั่นคง ปัญหาขณะนี้ยังมองว่าระดับนโยบายกับระดับปฏิบัติการมีความคิดไม่เหมือนกัน ระบบปฏิบัติการระดับตำรวจ ทหาร พลเรือนเชื่อว่าขบวนการแบ่งแยกดินแดนเป็นตัวก่อเหตุจริงๆ ที่รัฐต้องต่อสู้ แต่ระดับนโยบายกลับมองว่าไม่ใช่ ฉะนั้นความคิดลึกๆ ระดับนโยบายกับระดับปฏิบัติการยังคิดไม่ตรงกัน
3.จัดบุคคลที่เป็นมืออาชีพให้เข้าไปมีบทบาทในการแก้ไขปัญหาเหตุการณ์ความไม่สงบ
4.รัฐบาลต้องส่งสัญญาณที่ชัดเจนให้ทุกฝ่ายที่ปฏิบัติเกิดความมั่นใจว่าทำแล้วอนาคตจะไม่ได้รับผลกระทบใดๆ
5.การกำหนดยุทธศาสตร์ ยุทธวิธีของทุกฝ่ายต้องตรงประเด็นและสอดคล้องกัน
นักการเมืองชายแดนใต้จี้ดันนโยบาย สมช.ให้เห็นผล
ก่อนหน้านั้น ที่โรงแรมซี.เอส.ปัตตานี เช่นกัน สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล จัดเวทีสานเสวนาเพื่อแลกเปลี่ยนมุมมองปัญหาและทางออกระหว่างนักการเมืองจังหวัดชายแดนภาคใต้ ครั้งที่ 6 เพื่อเปิดพื้นที่ให้นักการเมืองในจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้มีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหา ลดความรุนแรง และส่งเสริมให้เกิดสันติสุขในพื้นที่ โดยมีนักการเมืองจากหลากหลายพรรครวม 15 คนเข้าร่วมสานเสวนา
บทสรุปที่ได้จากการพูดคุยมีดังนี้
1.เห็นด้วยกับนโยบายการบริหารและพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ฯ ของ สมช. แต่สิ่งสำคัญคือการนำนโยบายและยุทธศาสตร์ไปปฏิบัติให้ได้ผลจริงในพื้นที่
2.ขอให้ปิดประกาศข้อวินิจฉัย 23 ข้อของอดีตจุฬาราชมนตรี นายประเสริฐ มะหะหมัด เพื่อให้ข้าราชการได้รับทราบอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะการเคารพประเพณีนิยม และจะต้องลงโทษทางวินัยแก่ผู้ละเมิดอย่างจริงจัง
3.ขอให้ปฏิบัติตามหลักรัฐประศาสโนบายของล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 6 อย่างจริงจัง ศอ.บต.ควรเสนอแนะให้กระทรวงต่างๆ ส่งข้าราชการที่เข้าใจและตั้งใจจริงมาปฏิบัติงานในจังหวัดชายแดนภาคใต้
4.ขอให้เร่งพัฒนาความยุติธรรมกระแสหลักให้สอดคล้องกับความเป็นจริง เพราะขณะนี้กระบวนการยุติธรรมยังมีความล่าช้า มีการ “ผ่อนฟ้อง”
5.ขอให้ ศอ.บต.พิจารณาให้มีการตกลงในระดับนโยบายระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลมาเลเซีย เพื่ออำนวยความสะดวกและสนับสนุนการประกอบอาชีพขายอาหารที่มาเลเซีย (กรณีร้านต้มยำกุ้ง)
-------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ :
1 บรรยากาศการประชุมสัมมนาที่จัดโดยสำนักเลขาธิการ สมช.
2 พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี (ภาพทั้งหมดโดย แวลีเมาะ ปูซู)