นักวิจัย มช.ผลิตพลาสเตอร์ข้าว-เปลือกหอยทดแทนกระดูกคน ชี้ขาดการต่อยอด
ภาคีล้านนา ถกดันวิจัยพัฒนาท้องถิ่น เน้นตอบโจทย์ชุมชน-เตรียมตัวสู่อาเซียน มช.ผลิตพลาสเตอร์ห้ามเลือดจากข้าว เปลือกหอยแทนกระดูกคน ชาวบ้านยกรูปธรรมวิจัยแก้หนี้เกษตรกรได้
เร็วๆนี้ ศูนย์ภาคีเครือข่ายวิจัยล้านนา สำนักคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ(วช.) ร่วมกับสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่(มช.) จัดประชุม “ภาคีวิจัยล้านนาเพื่อพัฒนาท้องถิ่น” ณ โรงแรมดิเอมเพรส เชียงใหม่ โดยนายกฤษณ์ธวัช นพนาคีพงษ์ รองเลขาธิการ วช.กล่าวว่าเทคโนโลยีหรืองานวิจัยเป็นองค์ความรู้ที่นำไปสู่การป้องกันแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นระหว่างการพัฒนาของชุมชน ทั้งนี้ชาวบ้านในพื้นที่จะต้องเปิดรับงานวิจัยพร้อมไปกับการบริหารจัดการชุมชนให้เข้มแข็งเพื่อแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบ
“ทุกงานวิจัยจะมีพื้นที่ต้นแบบเพื่อศึกษาปัญหาเฉพาะ และทำให้คนในพื้นที่เห็นประโยชน์แล้วนำไปใช้ได้ ไม่ใช่ศึกษาจากส่วนกลางแล้วบังคับให้ชาวบ้านทำตาม หรือศึกษาแบบขาดมิติทางสังคม”
นายกฤษณ์ธวัช ยังกล่าวต่อว่าปัจจุบันงานวิจัยมีบทบาทเข้าไปขับเคลื่อนแก้ปัญหาหลักในพื้นที่ภาคเหนือ ได้แก่ การแก้ปัญหาหมอกควันร่วมกับสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สุขภาพ มช. การแก้ปัญหาขยะโดยนำกลับมาใช้เป็นเชื้อเพลิงพลังงาน ร่วมกับ มช. และการแก้ปัญหาลำไยล้นตลาดในฤดูผลผลิต โดยวิจัยผลิตลำไยนอกฤดู ร่วมกับมหาวิทยาลัยแม่โจ้
ด้าน รศ.ดร.ภก.สุรพล นธการกิจกุล ผู้อำนวยการแผนงานวิจัย สถาบันวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่าการวิจัยเป็นกลไกสำคัญที่จะพัฒนาขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ซึ่งจะสำเร็จได้ต้องอาศัยการมีส่วนร่วมทั้งภาครัฐ ภูมิภาค และนักวิจัย ปัจจุบันการทำการวิจัยในพื้นที่นักจิวัยจะต้องเข้าใจและร่วมมือกับชุมชนเป็นหลัก เพื่อให้งานวิจัยตอบโจทย์ความต้องการชุมชน และเป็นการเผยแพร่งานวิจัยให้มากที่สุด
“ประเด็นน่าสนใจศึกษาในภาคเหนือตอนนี้คือ ปัญหากลุ่มชาติพันธุ์ แรงงานข้ามชาติ และกลุ่มคนที่จะเข้ามาเมื่อเปิดเสรีประชาคมอาเซียน ทั้งด้านสิทธิรักษาพยาบาล และความมั่นคงของรัฐ” ดร.สุรพล กล่าว
ในเวทีเสวนา “การบูรณาการงานวิจัยท้องถิ่นเพื่อแก้ปัญหาในพื้นที่อย่างยั่งยืน” รศ.นพ.สิทธิพร บุญยนิตย์ หัวหน้าศูนย์ความเป็นเลิศการประดิษฐ์ชีววัสดุและเครื่องมือแพทย์ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวถึงประสบการณ์วิจัยการนำทรัพยากรที่มีอยู่ในประเทศมาประดิษฐ์เป็นเครื่องมือแพทย์ เช่น นำข้าวจ้าวมาทำพลาสเตอร์ปิดแผลผ่าตัด นำกระดูกวัวมาทำชิ้นส่วนยึดกระดูกหรือข้อระหว่างผ่าตัด และที่กำลังได้รับความสนใจคือการนำเปลือกหอยมาใช้แทนกระดูกคน นพ.สิทธิพร กล่าวว่าการค้นคว้าพัฒนาภายในประเทศเหล่านี้สามารถลดต้นทุนอย่างน้อย 5-10 เท่าตัว เช่น พลาสเตอร์ห้ามเลือดที่ทำจากข้าวจ้าว ต้นทุนนำเข้าจากต่างประเทศประมาณ 300 บาท แต่ประดิษฐ์เองแค่ 50 บาท
“ปัญหาของไทยคือการเชื่อมโยงงานวิจัยไปสู่เชิงพาณิชย์ ด้วยเหตุที่เครื่องมือทางการแพทย์มักขายไม่ค่อยได้ และผมมีหน้าที่เพียงศึกษาค้นคว้าให้ใช้ได้จริงเท่านั้น แต่ถ้าหากอยากนำไปเผยแพร่ใช้งานแพร่หลาย ต้องอาศัยนักธุรกิจเอาไปต่อยอด” นพ.สิทธิพร กล่าว
นายณรงค์ ตนานุวัฒน์ ประธานกิตติมศักดิ์หอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่าคนทั่วไปมักมองว่างานวิจัยว่ายากที่จะเข้าถึงจึงไม่สนใจ ทำให้พลาดโอกาสนำองค์ความรู้ไปต่อยอดหรือเปิดทางการประกอบอาชีพได้ โดยเฉพาะในภาคเหนือที่มีต้นทุนด้านสิ่งแวดล้อมหรือศิลปวัฒนธรรมที่สวยงามอยู่แล้ว หากได้รับการสนับสนุนหรือผู้ประกอบการให้ความสำคัญ ก็จะกลายเป็นผู้นำด้านธุรกิจในระดับท้องถิ่นได้ไม่ยาก
“ทุกจังหวัดควรมีงานวิจัยของตัวเอง เพื่อวิเคราะห์หาจุดแข็งจุดอ่อน โอกาสหรือข้อจำกัดในการประกอบอาชีพและการแก้ไขปัญหาของท้องถิ่น” นายณรงค์กล่าว
นายณรงค์ กล่าวต่อว่าในอนาคตที่จะเปิดประเทศเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน งานวิจัยด้านไบโอเทค อาหาร และการแพทย์จะเป็นเรื่องที่น่าสนใจ เพราะปัจจุบันมีนักท่องเที่ยวในเชียงใหม่นิยมเข้ามารับประทานอาหารเหนือ และส่วนใหญ่ใช้เวลาบั้นปลายชีวิตอาศัยอยู่ในพื้นที่ หากท้องถิ่นเห็นโอกาสตรงนี้และสนับสนุน เชื่อว่าจะสามารถใช้เป็นโอกาสในการพัฒนาเศรษฐกิจได้ไม่ยาก
นายสืบศักดิ์ สุภิมาส นายกเทศบาลตำบลวังผาง จ.ลำพูน กล่าวว่าอดีตชาวบ้านสนใจแต่เงินทุนที่มาลงในพื้นที่ ไม่สนใจงานวิจัย ปัจจุบันเริ่มให้ความสำคัญองค์ความรู้วิจัย เพราะสามารถทำให้คนในท้องถิ่นเห็นถึงประโยชน์ ทราบสาเหตุของปัญหา สามารถแก้ได้ตรงจุด เช่นในพื้นที่นำไปสู่การปรับโครงสร้างหนี้
“หลังทำวิจัย ชาวบ้านที่นี่พบปัญหาหนี้สินเกษตรกรซึ่งส่วนใหญ่มาจากต้นทุนการปลูกลำไย ทั้งสารเร่ง ปุ๋ยเคมี มีการนำที่ดินจำนอง ธกส.เพื่อนำเงินมาลงทุนต่อ แต่พอขายผลผลิตได้ก็เอาไปซื้อรถใหม่ ก่อหนี้โดยไม่รู้ตัว” นายสืบศักดิ์กล่าว.