สธ.ชง ครม.สัญจร รับมือภัยพิบัติ-แก้พยาธิอีสาน 70 ล้านบาท
ก.สาธารณสุข ชง ครม.สัญจรสุรินทร์ พัฒนาระบบแพทย์ฉุกเฉินรับมือภัยพิบัติ - ลดพยาธิอีสาน 70 ล้านบาท นำร่อง 107 รพ.ส่งเสริมสุขภาพตำบล สุรินทร์ โคราช บุรีรัมย์ ชัยภูมิ
วันที่ 27 ก.ค. 55 ที่ร.พ.โนนไทย จ.นครราชสีมา นพ.สุรวิทย์ คนสมบูรณ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข (รมช.สธ.) รับฟังบรรยายสรุปโครงการพัฒนาพื้นที่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (อีสาน) ก่อนเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) สัญจรที่จ.สุรินทร์ ในวันที่ 30 ก.ค. นี้
นพ.สุรวิทย์ เปิดเผยว่า การพัฒนาการแพทย์และสาธารณสุข เตรียมเสนอ 2 โครงการ วงเงิน 70 ล้านบาท ประกอบด้วย 1. โครงการกำจัดโรคพยาธิใบไม้ตับ ลดมะเร็งท่อน้ำดี ซึ่งพบกระจายในผู้ป่วย 20 จังหวัดภาคอีสาน ใช้งบประมาณ 10.5 ล้านบาท โดยจะนำร่องในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) 107 แห่ง และโรงพยาบาลชุมชน 11 แห่ง ในจ.สุรินทร์ นครราชสีมา บุรีรัมย์ ชัยภูมิ และขยายยังโรงพยาบาลอื่น ๆ โดยจะตรวจคัดกรองหาไข่พยาธิใบไม้ตับในอุจจาระ ด้วยกล้องจุลทรรศน์ และตรวจคัดกรองมะเร็งท่อน้ำดี ด้วยเครื่องอัลตาซาวด์ระบบดิจิตอลให้ประชาชนกลุ่มเสี่ยงที่มีอายุ 30 ปี ขึ้นไปตั้งแต่ปี 55-56
สำหรับโรคมะเร็งท่อน้ำดีเกิดจากเป็นพยาธิใบไม้ตับมาก่อน โดยผลสำรวจทางระบาดวิทยา ใน 75 จังหวัด ปี 52 พบคนไทยในภาคอีสานมีอัตราการติดโรคพยาธิใบไม้ตับสูงกว่าที่อื่นๆ เนื่องจากค่านิยมกินอาหารที่ทำจากปลาน้ำจืดชนิดมีเกล็ดไม่ผ่านการปรุงสุก เช่น ก้อยปลาดิบ ลาบปลาดิบ ปลาส้ม ปลาร้าดิบ และมีความเชื่อว่าโรคพยาธิใบไม้ตับมียารักษา นอกจากนี้ยังมีพฤติกรรมถ่ายอุจจาระนอกส้วมด้วย
รมช.สธ. กล่าวต่อว่า ส่วนโครงการนำร่องพัฒนาการแพทย์และสาธารณสุขรองรับภัยพิบัติและภาวะฉุกเฉิน เพื่อเทิดพระเกียรติสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฏราชกุมาร พร้อมเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) งบประมาณ 56 ล้านบาท เป็นโครงการเร่งด่วน 1 ปี รองรับสถานการณ์เกิดภัยพิบัติในประเทศที่มีแนวโน้มสูงขึ้น เช่น สึนามิ แผ่นดินไหว ให้พร้อมรับมือทั้งการเฝ้าระวัง เตือนภัย ให้บริการการแพทย์และการสาธารณสุข ดูแลผู้เจ็บป่วย การควบคุมป้องกันโรคระบาดและภัยสุขภาพที่มากับภัยพิบัติ ภาวะฉุกเฉินทั้งในประเทศ และตามแนวชายแดนไทย-กัมพูชาให้มีประสิทธิภาพ โดยนำร่องจ.สุรินทร์ นคราชสีมา บุรีรัมย์ และชัยภูมิ
โครงการดังกล่าวจะพัฒนาระบบการแพทย์ฉุกเฉิน การส่งต่อและการเคลื่อนย้ายผู้ป่วย ผู้บาดเจ็บ ณ จุดเกิดเหตุ หรือพื้นที่ประสบภัย หรือจากโรงพยาบาลเล็กไปสู่โรงพยาบาลใหญ่ เพื่อลดอัตราตายให้น้อยลงที่สุด โดยจะจัดซื้อรถพยาบาลฉุกเฉินขนาดใหญ่พิเศษหรือซุปเปอร์ แอมบูแลนซ์ มีเครื่องมือแพทย์ และอุปกรณ์ช่วยชีวิต เตียงผู้ป่วย 6 เตียง อุปกรณ์สื่อสาร จำนวน 4 คัน มอบให้ร.พ.มหาราชนคราชสีมา,สุรินทร์ ,บุรีรัมย์ และชัยภูมิ จัดซื้อรถพยาบาลฉุกเฉินขนาดมาตรฐาน 4 คัน และรถทีมแพทย์สนามฉุกเฉิน หรือดีเมิร์ท จุคนได้ไม่ต่ำกว่า 20 คน และเครื่องมือแพทย์ อีก 6 คัน มอบให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด 4 แห่ง.