บุญยืน” พบจดแจ้งองค์กรผู้บริโภคผิดปกติ คนเดียวรับมอบอำนาจกว่า 30 แห่ง
"บุญยืน" พบผิดปกติมอบอำนาจคนเดียวจดแจ้งกว่า 30 องค์กรผู้บริโภค ย้ำต้องตรวจสอบให้ได้ว่ามีอยู่จริง จี้สำนักปลัดสำนักนายกฯ เปิดเผยข้อมูลที่ตั้ง ผลงาน ขององค์กรทั้งหมดให้เป็นปัจจุบัน
ตามที่มีการเปิดรับจดแจ้งสถานะความเป็นองค์กรผู้บริโภค ตั้งแต่วันที่ 22 ก.ค. 2562 และสำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีได้มีการเปิดเผยข้อมูลขององค์กรผู้บริโภคเพียงบางส่วนถึงวันที่ 24 ก.ค. 2562 ที่ได้ยื่นจดแจ้งสถานะความเป็นองค์กรผู้บริโภค ผ่านช่องทางเว็บไซต์สำนักงานกิจการองค์กรของผู้บริโภคเท่านั้น
น.ส.บุญยืน ศิริธรรม นายกสมาคมสหพันธ์องค์กรผู้บริโภค กล่าวว่า จากการเปิดเผยข้อมูลดังกล่าว สมาคมฯ เห็นว่ามีการเปิดเผยข้อมูล ชื่อองค์กร ผู้ยื่นคำขอ เลขที่คำขอ วันที่แจ้งคำขอ เท่านั้น โดยข้อมูลดังกล่าวไม่สามารถตรวจสอบได้ว่า องค์กรที่มาจดแจ้งเป็นองค์กรผู้บริโภคที่มีอยู่จริงหรือไม่ มีใครเป็นแกนนำสำนักงาน ที่ตั้งอยู่สถานที่ใด และมีผลงานการคุ้มครองผู้บริโภคเป็นที่ประจักษ์มาแล้วสองปีตามที่กฎหมายกำหนดหรือไม่
"ที่ต้องเฝ้าระวัง คือ มีหลายองค์กรที่มีชื่อแสดงที่ตั้งอยู่ต่างภูมิภาค แต่ใช้บุคคลคนเดียวกันมาดำเนินการยื่นจดแจ้งสถานะความเป็นองค์กรผู้บริโภค คนเดียวรับมอบอำนาจยื่นจดถึง 30 กว่าองค์กร (ภาพตามแนบ) ซึ่งเป็นความผิดปกติที่ต้องมีการตรวจสอบ เพื่อคุ้มครองประโยชน์ขององค์กรผู้บริโภคและป้องกันองค์กรที่ไม่ได้ทำงานคุ้มครองผู้บริโภคมาดำเนินการแอบอ้างเพื่อรวมตัวจัดตั้งสภาองค์กรผู้บริโภค"
น.ส.บุญยืน กล่าวอีกว่า สมาคมสหพันธ์องค์กรผู้บริโภคจึงต้องการให้สำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีเปิดเผยข้อมูลองค์กรผู้บริโภคทั่วประเทศให้เป็นปัจจุบัน ข้อมูลพื้นฐานองค์กร สถานที่ตั้ง และผลงานการคุ้มครองผู้บริโภคขององค์กรผู้บริโภคทั่วประเทศที่ได้ยื่นจดแจ้งสถานะองค์กรผู้บริโภคต่อนายทะเบียนกลางและนายทะเบียนจังหวัด ผู้อำนวยการสำนักกฎหมายและระเบียบกลาง สำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี
“สมาคมสหพันธ์ฯ มีความตั้งใจที่จะสนับสนุนให้องค์กรผู้บริโภคที่ทำงานคุ้มครองผู้บริโภคขึ้นทะเบียนเป็นองค์กรผู้บริโภค เพื่อรวมตัวกันจัดตั้งสภาฯ และจากการทำงานเกี่ยวกับผู้บริโภคมากว่า 20 ปี ทำให้ทราบว่าองค์กรผู้บริโภคที่ผ่านการรับรองความเป็นองค์กรผู้บริโภคจากสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคขณะนี้ มีประมาณ 200 กว่าองค์กร แต่ในตอนนี้กลับมีองค์กรที่ไม่เคยได้ยิน ไม่รู้จักมาขึ้นทะเบียนเป็นจำนวนมาก จึงเกิดความกังวลว่าอาจจะเป็นองค์กรที่ไม่ได้ทำงานคุ้มครองผู้บริโภคมาแอบอ้าง ดังนั้น จึงต้องการให้สำนักปลัดฯ มีการเปิดเผยข้อมูลองค์กรผู้บริโภคทั่วประเทศให้เป็นปัจจุบัน และขอทราบข้อมูลองค์กร สถานที่ตั้ง และผลงานการคุ้มครองผู้บริโภคจากองค์กรผู้บริโภคทั่วประเทศ เพราะหากมีขบวนการแอบอ้างความเป็นองค์กรผู้บริโภคจริง เกรงว่าในอนาคต สภาองค์กรผู้บริโภคที่จะมีขึ้นจะไม่สามารถเป็นปากเป็นเสียงเพื่อพิทักษ์สิทธิผู้บริโภคได้แต่กลับจะทำหน้าที่เป็นตัวแทนผู้ประกอบการหรือหน่วยราชการเพื่อสนับสนุนการละเมิดสิทธิผู้บริโภคต่อไป”
ทั้งนี้ ข้อมูลดังกล่าวถือเป็นข้อมูลข่าวสารราชการที่ประชาชนสามารถเข้าถึงได้ตามพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 เพื่อเป็นประโยชน์ในการตรวจสอบสถานะองค์กรผู้บริโภคตามพระราชบัญญัติการจัดตั้งสภาองค์กรผู้บริโภค พ.ศ. 2562 .
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/