ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล : แทรกแซงแบงก์ชาติ แบบไม่ฉลาด!
"...ถ้าใครจะศึกษาศิลปะความเป็นอิสระของผู้ว่า ธปท. ก็ต้องอ่านที่ ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล เคยเขียนถึงไว้ใน “จดหมายจากใจถึงอาจารย์ป๋วย... ศาสตร์และศิลป์บนเส้นทางของ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย” ในช่วงปี 2553-2558 นั้น ดร.ประสาร ต้องสู้กับประธาน ธปท. และ รมว.คลัง ที่พยายามแทรกแซงการทำงาน แต่ ดร.ประสาร ประคองตัวได้อย่างนิ่มนวล ผ่านวิกฤตมาได้ ข้อเขียนดังกล่าวก็เป็นยุทธปัจจัยที่แยบยลอย่างหนึ่ง.."
หมายเหตุ สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org : เมื่อวันที่ 8 ส.ค.2562 นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในสมัยน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ได้โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กส่วนตัว ชื่อว่า Thirachai Phuvanatnaranubala แสดงความเห็น ต่อ แนวทางการตั้งคณะกรรมการขึ้นมากำกับดูแลนโยบายการเงินกับนโยบายการคลัง เพื่อแก้ไขปัญหาค่าเงินบาทไม่ให้แข็งค่าจนเกินไปของ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี
-------------------
“แทรกแซงแบงก์ชาติ แบบไม่ฉลาด!”
วันนี้ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ต่อไปจะมีการตั้งคณะกรรมการ ประกอบด้วยกระทรวงการคลัง ธปท. ก.ล.ต. ตลาดหลักทรัพย์ และหน่วยงานอื่นๆ เพื่อทำให้นโยบายการเงินกับนโยบายการคลังไปด้วยกัน
เป็นที่ชัดเจนว่า มาตรการดังกล่าวมีเจตนาที่จะลดความเป็นอิสระของ ธปท.
เนื่องจาก ดร.สมคิดกล่าวว่า
“จะบอกว่าผมอิสระ เมืองไทยไม่มีแล้วอิสระ!
ฉะนั้นการเงินการคลังมันต้องไปด้วยกัน มือซ้ายกับมือขวาต้องไปด้วยกัน จะมีการตั้งคณะกรรมการนี้เร็วๆ นี้ และทุกฝ่ายเห็นชอบร่วมกันแล้ว”
ถ้าใครจะศึกษาศิลปะความเป็นอิสระของผู้ว่า ธปท. ก็ต้องอ่านที่ ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล เคยเขียนถึงไว้ใน “จดหมายจากใจถึงอาจารย์ป๋วย... ศาสตร์และศิลป์บนเส้นทางของ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย”
ในช่วงปี 2553-2558 นั้น ดร.ประสาร ต้องสู้กับประธาน ธปท. และ รมว.คลัง ที่พยายามแทรกแซงการทำงาน แต่ ดร.ประสาร ประคองตัวได้อย่างนิ่มนวล ผ่านวิกฤตมาได้
ข้อเขียนดังกล่าวก็เป็นยุทธปัจจัยที่แยบยลอย่างหนึ่ง
มาถึงวันนี้ นักวิเคราะห์ทั้งในประเทศและต่างประเทศ จะจับตามอง ดร.วีรไท ว่ามีกึ๋นและฟุตเวิร์ค จะลอยตัวพลิ้วได้พอหรือไม่ หรือจะนอนนิ่งยอมรับการบีบจากภาคการเมือง
คำกล่าวที่ว่า ‘นโยบายการเงินกับนโยบายการคลังจะต้องไปด้วยกัน’ นั้น แสดงว่าไม่เข้าใจเรื่องนโยบายการเงิน
นโยบายการเงินไม่จำเป็นต้องล้อเลียนนโยบายการคลัง และอาจจำเป็นต้องคานอำนาจนโยบายการคลังด้วยซ้ำ
ตัวอย่างเช่น เมื่อใดที่รัฐบาลตะบี้ตะบันใช้จ่ายเกินตัว ถ้าทำนโยบายการคลังผ่อนคลายแบบเว่อร์ จนเกินพอดี เมื่อนั้นแบงก์ชาติอาจต้องขึ้นดอกเบี้ย และทำนโยบายการเงินแบบตึงตัว เพื่อถ่วงดุล
การตั้งคณะกรรมการ ก็คือการเอาหลายๆ หน่วยงานมาร่วมประชุม เพื่อจะใช้หลายคนช่วยกันบีบผู้ว่าแบงก์ชาติ
และถ้าไม่มีผู้ว่าที่ float like a butterfly ได้เหมือนดัง ดร.ประสาร ความเป็นอิสระของแบงก์ชาติก็จะขาดกระจุย
แทนที่จะตั้งคณะกรรมการ รัฐมนตรีคลังควรจะนัดประชุมกับแบงก์ชาติบ่อยๆ เพื่อจับเข่าคุยกัน อันจะเป็นการให้เกียรติแก่กัน ผมเคยแนะนำอย่างนี้ผ่านเฟซบุ๊คแก่รัฐมนตรีคลังคนก่อนหลายครั้ง แต่ก็ไม่เห็นทำอย่างนั้น
รัฐมนตรีคลังคนใหม่ก็คงเหมือนกัน เพราะโตมาทางแบงก์พาณิชย์เช่นกัน ก็คงไม่ค่อยกล้าเอ่ยปากกับผู้ว่าเท่าใด จึงต้องอาศัยมือของท่านรองนายกฯ ตั้งคณะกรรมการ เอาคนจำนวนมากเข้ามาช่วยบีบ
การจะมีอิทธิพลโน้มน้าวแบงก์ชาติได้นั้น มีวิธีชาญฉลาด ที่ทำได้อย่างนุมนวล บัวไม่ช้ำน้ำไม่ขุ่น กับวิธีไม่ฉลาด ที่ใช้อำนาจดิบ - จะบอกผมว่า แบงก์ชาติจะต้องอิสระเหรอ เมืองไทยไม่มีแล้ว ไม่เหลือองค์กรที่อิสระแล้ว(หลายองค์กรเลยแหละ)
การจัดตั้งกรรมการทำนองนี้ เป็นวิธีไม่ฉลาดอย่างแน่นอน
วันที่ 8 สิงหาคม 2562
ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล
Facebook Thirachai Phuvanatnaranubala
หมายเหตุ: การกล่าวถึงชื่อบุคคลใดมิใช่เป็นการกล่าวหากระทำความผิด แต่เป็นเพื่อประกอบการบรรยายทางวิชาการเพื่อประโยชน์แก่ทางราชการในการรักษาประโยชน์ของประเทศชาติเป็นสำคัญ
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/
อ่านประกอบ :
ย้อนจม.ประสาร ถึงอ.ป๋วย ว่าด้วยความอิสระ ธปท. ก่อน 'สมคิด' สั่งตั้งกก.ดูแลค่าเงินบาท