สนามฟุตซอล -บ้านเอื้ออาทร-จัดซื้อเครื่องออกกำลังกาย โมเดลเดียวกัน
"...ความจริงโมเดลทุจริตสนามฟุตซอล ของ สพฐ. คล้ายกับโครงการก่อสร้างบ้านเอื้ออาทรอื้อฉาว ของการเคหะแห่งชาติ (กคช.) (โครงการนี้มีหลายคดีในชั้นไต่สวนของ ป.ป.ช.และในศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง) ในช่วงก่อนหน้านี้ และโครงการจัดซื้อเครื่องเล่นเครื่องออกกำลังกายสันทนาการ ของกรมพลศึกษา และ กรมการท่องเที่ยว กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ใช้งบแปรญัตติ ปี 2555-2556 (โครงการนี้ ป.ป.ช. สอบหลายปีแล้วยังไม่สรุปผล) เป็นลักษณะ TOP DOWN นักการเมืองสั่งการอยู่ข้างบน มีเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน (conflict of interests) เข้ามาเกี่ยวข้อง..."
คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ชี้มูลความผิดนักการเมือง พรรคพลังประชารัฐ 3 คน ( 2 ใน 3 คน เคยเป็น ส.ส. พรรคเพื่อไทย) กับพวกรวม 24 ราย กรณีทุจริตจัดสรรงบประมาณปี 2555 (งบแปรญัตติ) ในการก่อสร้างสนามฟุตซอลในพื้นที่การศึกษาเขตที่ 2 จ.นครราชสีมา
โดยพฤติการณ์ สรุปจากคำแถลงของ ป.ป.ช.ได้ 2 ประการ
1. กระบวนการจัดซื้อจัดจ้างมีลักษณะมุ่งหมายมิให้มีการแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรม เพื่อเอื้ออำนวยแก่ผู้เข้าทำการเสนอราคารายใดให้เป็นผู้มีสิทธิทำสัญญากับหน่วยงานของรัฐ
2.การก่อสร้างไม่ได้มาตรฐานตามรูปแบบรายการและวิธีการก่อสร้าง สนามกีฬาไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างแท้จริง
ขอนำข้อมูลมาเรียนเพิ่มเติมดังนี้
1. โครงการนี้เกิดขึ้นในปี 2555-2556 เม็ดเงินงบประมาณทั้งสิ้น 4.4 พันล้านบาท มีการก่อสร้างสนามฟุตซอลอย่างน้อย 16 จังหวัด จำแนกเป็นภาคอีสาน 9 จังหวัด ได้แก่ จ. ขอนแก่น ชัยภูมิ มุกดาหาร นครราชสีมา สกลนคร สุรินทร์ ยโสธร อุบลราชธานี อำนาจเจริญ และ ภาคเหนือ 7 จังหวัด ได้แก่ พิษณุโลก อุตรดิตถ์ พะเยา เพชรบูรณ์ น่าน ตาก และ เชียงใหม่
2. ผู้รับเหมาคู่สัญญา จำแนกเป็น 2 กลุ่มหลัก
กลุ่มแรก เป็นบริษัทของอดีตอดีตที่ปรึกษา รมว.ท่องเที่ยวและกีฬา จำนวน 4 บริษัท เป็นคู่สัญญาอย่างน้อย 28 แห่ง ในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (บริษัทเดียวกวาดยกจังหวัด)
กลุ่มที่สอง เป็นเครือญาติเครือข่าย อดีต ส.ส.ชัยภูมิ พรรคเพื่อไทย จำนวน 9 บริษัท (รวม 3 บริษัทที่ถูก ป.ป.ช.ชี้มูลด้วย เป็นผู้รับเหมาในจ.นครราชสีมา) เป็นคู่สัญญาหลายจังหวัดในภาคอีสาน
ที่เหลือเป็นกลุ่มย่อยซึ่งบางแห่งเกี่ยวพันกับเครือญาติ อดีต ส.ส.อุบลราชธานี พรรคเพื่อไทย รวมถึงจังหวัดอื่นๆ ด้วย
3. มีผู้เกี่ยวข้องมากกว่า 100 คน ประกอบด้วย นักการเมือง ข้าราชการ และเอกชน คน อาทิ ผู้บริหารระดับสูงของ สพฐ. ผู้อำนวยการโรงเรียน ฯลฯ สามารถ
สืบค้นข้อมูลจากเว็บไซต์สำนักข่าวอิศราที่เปิดโปงเรื่องนี้ตั้งแต่วันที่ 8 ต.ค.2557
4. เอกชนที่เป็นคู่สัญญารับเหมาสนามฟุตซอลรายใหญ่ ไม่ได้อยู่ในรายชื่อผู้รับเหมาในจ.นครราชสีมา เขต 2 ปรากฎว่าเป็นผู้รับเหมาสร้างสนามฟุตซอลขององค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ในช่วงปี 2555-2557 อย่างน้อย 17 จังหวัด เม็ดเงินเกือบ 300 ล้านบาท อาทิ อบจ.อุบลราชธานี อบจ.อุดรฯ สระแก้ว กระบวนการจัดซื้อจัดจ้างใช้รูปแบบเดียวกัน คือ บริษัทหนึ่งชนะ อีกบริษัทในกลุ่มเป็นคู่เทียบ ไม่เพียงเท่านี้ ยังเป็นคู่สัญญาก่อสร้างสนามฟุตซอลของสถานศึกษาในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ได้แก่ วิทยาลัยเทคนิค วิทยาลัยการอาชีพ วิทยาลัยสารพัดช่างวิทยาลัยเกษตรช่าง รวม 66 แห่ง วงเงินรวมกว่า 128 ล้านบาท (สามารถสืบค้นข้อมูลจากเว็บไซต์สำนักข่าวอิศราเช่นเดียวกัน)
ฉะนั้น กรณี จ.นครราชสีมาเขต 2 จึงเป็นแค่เมนูเดียวบนโต๊ะ ยังมีอีกหลายเมนูที่ปรุงและเสิร์ฟกันไปเรียบร้อยแล้ว ถ้าเอ็กซเรย์อย่างละเอียด จะมีผู้เกี่ยวข้องอีกจำนวนมาก รวมถึง ส.ส.ที่ร่วมกันแปรญัตติ งบประมาณในช่วงปี 2555 อีกนับสิบคน
ความจริงโมเดลทุจริตสนามฟุตซอล ของ สพฐ. คล้ายกับโครงการก่อสร้างบ้านเอื้ออาทรอื้อฉาว ของการเคหะแห่งชาติ (กคช.) (โครงการนี้มีหลายคดีในชั้นไต่สวนของ ป.ป.ช.และในศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง) ในช่วงก่อนหน้านี้ และโครงการจัดซื้อเครื่องเล่นเครื่องออกกำลังกายสันทนาการ ของกรมพลศึกษา และ กรมการท่องเที่ยว กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ใช้งบแปรญัตติ ปี 2555-2556 (โครงการนี้ ป.ป.ช. สอบหลายปีแล้วยังไม่สรุปผล) เป็นลักษณะ TOP DOWN นักการเมืองสั่งการอยู่ข้างบน มีเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน (conflict of interests) เข้ามาเกี่ยวข้อง
กรณีโครงการบ้านเอื้ออาทร แจกโควตากันเป็นลอตๆ ผู้รับเหมาคู่สัญญาบางราย เป็นบริษัทของอดีตรัฐมนตรี , ส.ส. ในพื้นที่ กรณีการจัดซื้อเครื่องเล่น
เครื่องออกกำลังกาย มีราคาแพงเกินจริง เฉพาะบริษัทเมีย ส.ส. แห่งเดียวกวาดกว่า 500 ล้านบาท
3 โครงการอื้อฉาวนี้มีบุคคล 3 กลุ่มเกี่ยวข้อง (รวมถึงโครงการอื้อฉาวอื่น) คือ นักการเมืองระดับชาติ -ท้องถิ่น ข้าราชการยอมเป็นเบี้ยล่าง และกลุ่มนักธุรกิจบางคน เพียงแต่ ‘ตัวแสดง’ต่างกันออกไป
คดีนี้ ป.ป.ช.น่าจะตรวจสอบเส้นทางการเงิน (หรืออาจทำแล้ว) ตรวจสอบทรัพย์สินในเชิงลึก เผลอๆ อาจมีคดีร่ำรวยผิดปกติตามมา
ทำทั้งที ล่าช้าไปบ้าง ต้องกวาดล้างให้สิ้นซาก
ว่าไปโมเดลคอร์รัปชันรูปแบบนี้เป็นโมเดลคอร์รัปชันตั้งแต่ยุคดึกดำบรรพ์ จับได้บ้าง ไม่ได้บ้าง ยังปรากฎให้เห็นทุกยุคทุกสมัย เพียงแต่แยบยล ยังไม่ถูก
เปิดโปงและจับได้เท่านั้นครับ
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/