พม่า? เมียนม่าร์? หรือ เบอร์ม่า?
เราควรจะเรียกประเทศเพื่อนบ้านทางตะวันตก ว่าอะไรกันแน่ พม่า? เมียนม่าร์? หรือ เบอร์ม่า?
ในโอกาสที่ประธานาธิบดีพม่ามาเยือนประเทศไทย สื่อมวลชนไทย และคนไทย ก็แสดงความสับสนเรื่องการเรียกชื่อประเทศพม่าอีกครั้ง แม้กระทั่งฯพณฯนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร ก็ยังสับสนกับเขาด้วยคนหนึ่งเพราะเรียกชื่อประเทศพม่าว่า “เมียนม่าร์” เหมือนกับสื่อมวลชนหลายราย
เพื่อไม่ให้สับสนกันอีกต่อไป ขอให้เชื่อตามนี้:
คนไทยให้เรียกชื่อประเทศพม่าว่า “พม่า” ตามเดิม ไม่ว่าพม่าจะเปลี่ยนชื่อประเทศไปอย่างไรก็ช่างเถิด แต่เดิมประเทศพม่ามีชื่อเต็มเป็นทางการว่า Union of Burma (สหภาพพม่า)
ต่อมาประกาศเปลี่ยนชื่อประเทศใหม่ในปี 1989 เป็น “Union of Myanmar” ราชบัณฑิตยสถาน ซึ่งมีหน้าที่โดยตรงในการบัญญัติศัพท์ ก็เรียกชื่อเต็มยศว่า “สหภาพพม่า” พร้อมทั้งออกหนังสือเวียนไปยังสื่อมวลชนทั้งหลายว่าไม่ต้องเปลี่ยนไปเรียก “เมียนม่าร์” ขอให้คงเรียก “พม่า” หรือ “สหภาพพม่า” ตามเดิม ด้วยเหตุผลว่าประเทศไทย คนไทย ตลอดจนบันทึกประวัติศาสตร์และพงศาวดารไทยใช้คำว่า “พม่า” มานานแล้ว ไม่มีเหตุอันใดที่จะต้องเปลี่ยนไปตามกฎหมายพม่า
ผมเองก็ได้รับหนังสือเตือนเรื่องนี้จากราชบัณฑิตยสถานในปีนั้นด้วยเหมือนกัน เพราะทำงานเป็นผู้ประกาศข่าวโทรทัศน์อยู่พอดี เผลอเรียก “เมียนม่าร์” ไปวันหนึ่ง หวังจะเป็นผู้ทันโลกทันเหตุการณ์ เห็นข่าวพม่าเปลี่ยนชื่อประเทศก็เลยแปลข่าวให้ทันสมัยขึ้นเท่านั้นเอง แต่ก็กลายเป็นความผิดพลาดโดยความไม่รู้
ต่อมา ในปี 2010 พม่าในชื่อเก่า “Union of Myanmar” เปลี่ยนชื่อประเทศอีกครั้ง (พร้อมด้วยการเปลี่ยนธงชาติด้วย) เป็น “Republic of the Union of Myanmar” ชื่อใหม่นี้ราชัณฑิตยสถานยังไม่ออกประกาศเป็นทางการว่าควรจะให้คนไทยเรียก
อย่างไรจนทุกวันนี้ เรื่องนี้ผมเสียเวลาถกเถียงกับกรมอาเซียน กระทรวงการต่างประเทศอยู่นานกว่าสองเดือน เมื่อปีที่แล้ว เป็นการถกเถียงระหว่างกันเป็นเรื่องงานภายใน เพราะผมรับจ้างกระทรวงฯทำสารคดีโทรทัศน์เรื่องพม่า ในบทภาพยนตร์ที่ผมเป็นผู้เขียนผมเรียกชื่อประเทศพม่าในชื่อสั้นตามคำแนะนำ ของราชบัณฑิตยสถานว่า “พม่า” และเรียกชื่อเต็มเป็นทางการว่า “สาธารณรัฐแห่งสหภาพพม่า” โดยคิดปรับการเรียกเอาเองตามพื้นฐานเดิมที่ราชบัณฑิตย์ฯกำหนด
กรมอาเซียนไม่ยอมตามผม บังคับให้ผมแก้บทสารคดีเป็น “Myanmar” ทุกที่ที่คำว่า “พม่า” ปรากฏ นัยว่าเกรงว่าผมจะเรียกผิด และอาจเกรงใจพม่าอีกด้วย ผมไม่ยอมแก้บทให้นานกว่าสองเดือน ยืนยันกลับไปที่กระทรวงการต่างประเทศว่าผมเป็นฝ่ายถูก และกรมอาเซียนของกระทรวงต่างประเทศเป็นฝ่ายผิด แต่ด้วยเหตุที่ผมต้องถูกปรับทุกวันเพราะส่งงานช้า วันละนับหมื่นบาท ความดื้อดึงของผมดึงดันไปจนเสียหายหลายแสนบาท เห็นท่าจะไม่ได้การผมจึงยอมแพ้อำนาจเงินของกรมอาเซียน เพราะผมรับจ้างกรมอาเซียนทำสารคดี เขาสั่งอย่างไรก็ต้องทำตามนั้น ในที่สุดผมก็ยอมแก้บทสารดีและตัดต่อภาพใหม่ส่งงานให้กรมอาเซียน
หลังจากนั้นไม่นานกรมอาเซียนก็กลับลำ สั่งให้ผมแก้ “เมียนม่าร์” เป็น “พม่า” ตามเดิม ยอมรับว่าผมถูกมาแต่ต้น (แต่ก็ยังคงปรับเงินตามที่วันเวลาผ่านไป!) แล้วกำชับว่าถ้าผมจะออกเสียงคำว่า “Myanmar” ก็ให้ออกเสียงว่า “เมียนม่าร์” ไม่ใช่ “เหมียนม่าร์” ตรงที่ออกเสียงผิดก็ต้องแก้กันใหม่อีก สรุปว่าคนไทยต้องเรียกตามแบบไทยเดิมว่า “พม่า” ตามราชบัณฑิตย์ หรือ “สาธารณรัฐแห่งสหภาพพม่า” (เรียกตามผมและตามกระทรวงการต่างประเทศไปก่อน เพราะยังไม่มีประกาศจากราชบัณฑิตย์ฯอย่างเป็นทางการ)
รัฐบาลพม่าจะเรียกชื่อประเทศตัวเองอย่างเป็นทางการว่า “เมียนม่าร์” ตามการเปลี่ยนชื่อประเทศใหม่ ตามกฎหมาย และตามรัฐธรรมนูญ โดยเขียนเป็นภาษาอังกฤษว่า “Myanmar”
ชาวพม่าเองก็ไม่เป็นเอกภาพ นางอองซานซูจีแม้จะเป็นชาวพม่าแท้ๆก็ยังเรียก “Burma” ตามที่อังกฤษนิยม ชาวไร่อ้อยพม่าผู้อาวุโสคนหนึ่งเรียก “Burma” ตามที่ผมได้ยินตอนสัมภาษณ์ท่านเมื่อปี 2009 แถมเรียกประเทศไทยว่า “อโยธยา” อีกต่างหาก
ในข่าวสารภาษาอังกฤษที่ปรากฎในโลก บ้างก็เรียก “Myanmar” บางแห่งก็ใช้ “Burma” ตามความคุ้นเคย สำนักข่าว BBC ของอังกฤษใช้ตามความคุ้นเคยว่า “Burma”
แต่ละประเทศมีสิทธิ เสรีภาพที่จะใช้ภาษาและบันทึกประวัติศาสตร์ของตนเอง ไม่จำเป็นต้องไปเกรงกลัวหรือเกรงใจประเทศใดๆ จะเรียกชื่อประเทศใดว่าอย่างไรก็ตามแบบแผนประเพณีประวัติศาสตร์วัฒนธรรมของชาติของตน
ประเทศญี่ปุ่นชื่อจริงว่า “Nippon” หรือ “Nihon” ออกเสียงว่า “นิปปอง หรือ “นิฮอน” แต่เราก็เรียกว่า “ญี่ปุ่น”, คนต่างประเทศเรียก “Japan” ออกเสียงว่า “แจแปน”, คนอินเดียเรียก “จาปาน”, มาโค โปโล (Marco Polo) เรียกว่า “Zipangu” (ซิปังกุ)
ชื่อประเทศไทยว่า “Thailand” นั้น คนพม่าก็ไม่เรียก แต่นิยมเรียกไทยว่า “อโยธยา” หรือ “สยาม”, ฝรั่งบางคนก็เรียก “Muang Thai / เมืองไทย / Prathet Thai / ประเทศไทย”
เราไม่เรียกประเทศ “Cambodia” ตามอย่างฝรั่ง แต่เรากลับเรียกว่า “กัมพูชา” เหมือนที่ชาวกัมพูชานิยมเรียก ส่วนชื่อจังหวัด “เสียมเรียบ” เราก็ไม่เรียกด้วยเพราะมีความหมายว่า “สยามถูกเขมรปราบเรียบ” แต่กลับมาเรียก “เสียมราฐ” ตามที่เราคุ้นเคย เพราะมีความหมายว่า “สยามชนะ” ส่วน “เขาพระวิหาร” เราก็เรียกแบบเดิม ไม่ยอมเรียก “เพรวิเฮียร์” ตามชาวเขมร ฯลฯ มีตัวอย่างอื่นๆอีกมากมายที่แสดงถึงอิสระของแต่ละชนชาติแต่ละวัฒนธรรมจะ เรียกชื่อประเทศไหนๆได้อย่างอิสระโดยไม่ถือเป็นการไม่เคารพเจ้าของประเทศหาก ไม่เรียกเหมือนกับเจ้าของประเทศ
หลายประเทศที่เคยตกเป็น อาณานิคมของชาติในยุโรป หลังได้รับเอกราชก็ปรับเปลี่ยนชื่อกลับไปสู่ชื่อดั้งเดิมแต่โบราณของประเทศ ของตน อินเดียและพม่า เป็นตัวอย่างที่ชัดเจน ชื่อ “India” และ “Burma” เป็นชื่อภาษาอังกฤษ ใช้เรียกโดยจ้าวอาณานิคมอังกฤษ “Burma/Burman”โดยมีความ หมายถึงชนเผ่าพม่าที่เป็นชนกลุ่มใหญ่ที่สุดในดินแดน ชื่อแม่น้ำ ชื่อเมือง ชื่อรัฐต่างๆของพม่าที่อังกฤษเรียกตามความคุ้นเคยและบันทึกในตำราประวัติ ศาสตร์ต่างๆก็ถูกพม่าเปลี่ยนกลับมาเป็นชื่อที่แท้จริงแต่สมัยโบราณ
อินเดีย ก็เหมือนกัน ทุกวันนี้อินเดียกลับไปเรียกชื่อรัฐและเมืองต่างๆตามแบบดั้งเดิมหมดแล้ว เช่น Madras เป็น Chennai, Calcutta เป็น Kolkata ชื่อประเทศอินเดีย (India) ก็เป็นคำอังกฤษ มาจาก “Indus” และ “Sindhu” ซึ่งเป็นชื่อแม่น้ำและลุ่มน้ำทางเหนืออันเป็นต้นกำเนิดอารยธรรมโบราณ ชื่อเป็นทางการของอินเดียที่ใช้มานานแล้วตั้งแต่ก่อนสมัยอังกฤษปกครองและใช้ ต่อเนื่องมาคู่ขนานกับชื่อ “India” คือ “Bharat” (ภารตะ) และ “Hindustan” (ฮินดูสถาน)
รวมความว่า พม่า คือ “พม่า” ในภาษาไทย ไม่จำเป็นต้องเรียก “เมียนม่าร์” แต่หากจะเรียกก็ได้ไม่มีข้อห้าม ราชบัณฑิตย์ฯก็เพียงกำหนดหลักเกณฑ์แล้วให้คำแนะนำ ประชาชนพลเมืองไทยก็เรียกเอาตามสะดวก
ส่วนสื่อมวลชนก็น่าจะพยายามปฏิบัติตามแนวทางของราชบัณฑิตย์ฯไว้จะเป็นการดี จะได้เป็นแบบอย่างทางภาษาที่ถูกต้องตามบริบทไทย
สำนักพิมพ์ที่พิมพ์ผิดไปแล้วก็ต้องลงทุนพิมพ์ใหม่ให้ถูกต้อง
เริ่มต้นบอกให้เชื่อตามข้อเขียนนี้
ที่จริงไม่ต้องเชื่อก็ได้!
ที่มา : เฟซบุ๊กของ นายสมเกียรติ อ่อนวิมล (Somkiat Onwimon) สื่อมวลชนอาวุโส ผู้เชี่ยวชาญด้านการต่างประเทศ เคยจัดรายการและอ่านข่าวอยู่กับสถานีโทรทัศน์หลายแห่ง