ก.แรงงานตั้งกลุ่มผู้รับงานไปทำบ้าน หลังบังคับใช้ พ.ร.บ. 2 ปีไม่คืบ
ก.แรงงานฯ ส่งเสริมตั้งกลุ่มผู้รับงานไปทำบ้าน สร้างฐานข้อมูลแก้ปัญหาหลัง พ.ร.บ.บังคับใช้ 2 ปีไม่คืบ ผู้ประกอบการแนะจ่ายค่าตอบแทนตามฝีมือไม่ใช่ขั้นต่ำ แรงงานวอนดูแลค่าจ้าง-ความปลอดภัย
วันที่ 25 – 28 ก.ค. 55 กรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน จัดโครงการส่งเสริมการรับงานไปทำที่บ้านเพิ่มรายได้ในครัวเรือน ณ ศูนย์การค้าริเวอร์ซิตี้ โดยมีนิทรรศการและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ของกลุ่มผู้รับงานไปทำที่บ้านกว่า บริการให้คำปรึกษา และเปิดรับลงทะเบียนเป็นผู้รับงานไปทำที่บ้านและจัดตั้งกลุ่มเพื่อเป็นศูนย์กลางสำหรับรับงาน
นอกจากนี้มีการบรรยาย “พระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.) คุ้มครองผู้รับงานไปทำที่บ้าน พ.ศ. 2553” โดยนางอารีย์ อุณอนันต์ กลุ่มงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน พื้นที่ 1 กล่าวว่า กฎหมายฉบับนี้คุ้มครองผู้รับงานไปทำที่บ้านจากการจ้างงานในกิจการอุตสาหกรรมและได้รับค่าตอบแทนเป็นค่าจ้าง แต่หากเป็นกรณีที่ผู้รับงานร่วมลงทุนด้วยและแบ่งปันผลกำไรจะเข้าข่ายเป็นผู้เหมางาน ซึ่งกฎหมายฉบับนี้ไม่คุ้มครอง
นอกจากนี้กฎหมายระบุให้มีการทำสัญญาจ้างงานไปทำที่บ้าน ซึ่งมีรายละเอียดได้แก่ อัตราค่าตอบแทน ปริมาณการจ้างงาน ระยะเวลาการจ้างงาน ค่าสินไหมทดแทนกรณีบอกเลิกสัญญา สำหรับค่าตอบแทนนั้นให้ผู้จ้างงานคำนวณจากคุณภาพและปริมาณอย่างเดียวกัน โดยต้องไม่น้อยกว่าอัตราค่าจ้างตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน หากให้ค่าตอบแทนรายชิ้นเมื่อคำนวณระยะเวลา 1 วันต้องไม่ต่ำกว่ากฎหมายกำหนดเช่นกัน ที่สำคัญห้ามผู้จ้างงานหักค่าตอบแทนของผู้รับงานไปทำที่บ้านนอกเหนือจากที่กฎหมายให้สิทธิ ยกเว้นหักชำระภาษีเงินได้ ชดใช้ค่าเสียหายกรณีส่งงานไม่ทันกำหนดหรืองานไม่ได้คุณภาพ โดยได้รับความยินยอมจากผู้รับงานไปทำที่บ้าน แต่จะหักได้ไม่เกินร้อยละ 10 ของแต่ละงวด
นางอารีย์ กล่าวต่อว่า กฎหมายยังระบุการคุ้มครองความปลอดภัยในการทำงาน เช่น ห้ามหญิงมีครรภ์หรือเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปีทำงานที่ก่อให้เกิดอันตราย ตลอดจนผู้จ้างงานจะเป็นผู้จ่ายค่าฟื้นฟูสมรรถภาพและค่าทำศพ หากผู้รับงานไปทำที่บ้านเกิดอันตราย เจ็บป่วย ทุพพลภาพ หรือเสียชีวิต เนื่องจากใช้อุปกรณ์และการรักษาความปลอดภัยขาดมาตรฐาน ซึ่งหากผู้รับงานไปทำที่บ้านไม่ได้รับความเป็นธรรมสามารถร้องเรียนต่อพนักงานตรวจแรงงานในพื้นที่ได้ หรือโทร 1546 เพื่อลงตรวจสอบข้อเท็จจริง หากผู้จ้างงานมีความผิดไม่ว่ากรณีใดจะต้องโทษทางอาญา
ส่วนการบังคับใช้ พ.ร.บ.คุ้มครองผู้รับงานไปทำที่บ้านฯ นางอารีย์ ชี้แจงว่ากฎหมายฉบับนี้บังคับใช้มา 2 ปีแล้ว แต่ไม่สามารถบังคับใช้ได้ดี เนื่องจากกระทรวงแรงงานไม่มีข้อมูลจำนวนผู้รับงานไปทำที่บ้านและผู้จ้างงาน จึงเร่งส่งเจ้าหน้าที่สำรวจข้อมูลและจัดตั้งกลุ่มผู้รับงานไปทำที่บ้าน
ส่วนการคุ้มครองแรงงานรับงานไปทำที่บ้านที่เป็นคนต่างด้าวนั้น กระทรวงแรงงานมีการคุ้มครองเทียบเท่าแรงงานไทยทุกประการ โดยปัจจุบันได้มีการผลักดันจัดระบบแรงงานตามกลุ่มสัญชาติพม่า ลาว กัมพูชา ก่อน 14 ธ.ค. 55 ให้อยู่ในระบบ เพราะงานที่คนต่างด้าวทำนั้นมักเป็นตำแหน่งที่แรงงานไทยปฏิเสธและเสี่ยงอันตราย
ด้านนางเพลินพิศ เอี่ยมสำอาง ผู้ประกอบการถักไหมพรม ร้านพ. หัตถกรรม กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยกับกฎหมายที่ระบุให้จ่ายค่าตอบแทนตามเกณฑ์ขั้นต่ำ เพราะไม่เป็นธรรมกับคนที่มีฝีมือดีหากจ่ายค่าตอบแทนเท่ากัน ทั้งที่ควรจ่ายตามฝีมือ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากข้อมูลสำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี 53 จำแนกประเภทงานที่รับไปทำที่บ้าน 5 อันดับ ได้แก่ 1.เสื้อผ้า เครื่องแต่งกาย และสิ่งทอ ร้อยละ 53.9, 2.การขายส่ง-ปลีก ของใช้ส่วนบุคคและในครัวเรือน ร้อยละ 11.4, 3.ผลิตภัณฑ์จากไม้และกระดาษ ร้อยละ 8.6, 4.เครื่องประดับเพชรพลอย ร้อยละ 8.1 และ5.สินค้าอื่น ๆ จำพวก ร่ม ดอกไม้ประดิษฐ์ มาลัย ร้อยละ 5.8 โดยมีเรื่องความไม่ปลอดภัยจากการทำงานและค่าตอบแทนเป็นปัญหาที่ต้องการให้รัฐบาลช่วยเหลือเป็นอันดับแรก .