ทำไมต้องยะลา-ชายแดนใต้...คุมตัวผู้ต้องสงสัยบึ้มกรุง
มีเสียงวิจารณ์จากบรรดานักสิทธิมนุษยชนและองค์กรสิทธิ์ระหว่างประเทศ เกี่ยวกับการควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยในคดีลอบวางระเบิดป่วนกรุงเทพฯ
โดยเฉพาะ 2 รายแรกที่ถูกรวบตัวคารถโดยสาร บขส. บริเวณสี่แยกปฐมพร อำเภอเมือง จังหวัดชุมพร แต่ปัจจุบันกลับถูกควบคุมตัวอยู่ที่ศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ โรงเรียนตำรวจภูธร 9 อำเภอเมือง จังหวัดยะลา
ประเด็นนี้กำลังถูกจับตาจากบรรดานักสิทธิมนุษยชน เนื่องจากครอบครัวของ นายลูไอ แซแง อายุ 22 ปี และ นายวิลดัน มาหะ อายุ 29 ปี ชาวอำเภอรือเสาะ จังหวัดนราธิวาส ผู้ต้องสงสัย 2 คนแรกที่ถูกควบคุมตัว ได้เดินทางไปขอเข้าเยี่ยมลูกชายที่กรุงเทพฯ เมื่อวันอาทิตย์ที่ 4 สิงหาคม โดยขึ้นรถไฟจากในพื้นที่ชายแดนใต้เมื่อวันเสาร์ ไปถึงกรุงเทพฯวันอาทิตย์ แต่ไม่พบลูกชาย
ครอบครัวของผู้ต้องสงสัยทั้ง 2 คนพยายามติดต่อเจ้าหน้าที่ในพื้นที่และนักข่าวที่รู้จักทันทีที่มีข่าวจับกุม 2 ผู้ต้องสงสัย เมื่อช่วงเช้าของวันศุกร์ที่ 2 สิงหาคม เพื่อสอบถามว่า ทั้งนายลูไอ และนายวิลดัน ถูกควบคุมตัวอยู่ที่ไหน แต่ไม่มีใครให้ข้อมูลได้ จึงเดินทางมากรุงเทพฯ แต่ก็ไม่พบอีก กระทั่งมีข่าวล่าสุดเมื่อวันอาทิตย์ที่ 4 สิงหาคมว่า ทั้งคู่ถูกคุมตัวอยู่ในศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ โรงเรียนตำรวจภูธร 9 อำเภอเมืองยะลา จึงต้องเสียค่าเดินทางตามไปเยี่ยมลูกชายอีกทอดหนึ่ง
นักสิทธิมนุษยชนหลายคนออกมาตั้งคำถามว่า ตำรวจคุมตัวผู้ต้องสงสัยทั้ง 2 รายโดยใช้อำนาจตามกฎหมายใด เพราะหากคุมตัวโดยอาศัยอำนาจตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา หรือ ป.วิอาญา จนถึงขณะนี้ก็ล่วงเลยเวลาที่กฎหมายให้อำนาจพนักงานสอบสวน (ตำรวจ) ควบคุมตัวได้ไปแล้ว เพราะกฎหมายให้เวลาเพียง 48 ชั่วโมง และยังไม่ปรากฏว่ามีหมายจับทั้งนายลูไอ และนายวิลดัน ทำให้ทั้งคู่ยังมีสถานะเป็น "ผู้ต้องสงสัย" ตำรวจจึงน่าจะหมดอำนาจการควบคุมตัวแล้ว
ป.วิอาญา มาตรา 87 วรรค 3 ระบุว่า ในกรณีที่ผู้ถูกจับไม่ได้รับการปล่อยชั่วคราว (จากตำรวจ) และมีเหตุจำเป็นเพื่อทำการสอบสวน หรือการฟ้องคดี ให้นำตัวผู้ถูกจับไปศาลภายใน 48 ชั่วโมง นับแต่เวลาที่ผู้ถูกจับถูกนำตัวไปถึงที่ทำการของพนักงานสอบสวน เว้นแต่มีเหตุสุดวิสัยหรือมีเหตุจำเป็นอย่างอื่นอันมิอาจก้าวล่วงเสียได้ โดยให้พนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการยื่นคำร้องต่อศาลขอหมายขังผู้ต้องหานั้นไว้ ให้ศาลสอบถามผู้ต้องหาว่าจะมีข้อคัดค้านประการใดหรือไม่ และศาลอาจเรียกพนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการมาชี้แจงเหตุจำเป็น หรืออาจเรียกพยานหลักฐานมาเพื่อประกอบการพิจารณาก็ได้
ที่สำคัญการจับนั้นต้องมีหมายจับ ยกเว้นเพียง 4 กรณีเท่านั้นตาม ป.วิอาญา มาตรา 78 คือ 1.เมื่อบุคคลนั้นได้กระทำความผิดซึ่งหน้า 2.เมื่อพบบุคคลโดยมีพฤติการณ์อันควรสงสัยว่าผู้นั้นน่าจะก่อเหตุร้ายให้เกิดภยันตรายแก่บุคคลหรือทรัพย์สินของผู้อื่น โดยมีเครื่องมือ อาวุธ หรือวัตถุอย่างอื่นอันสามารถอาจใช้ในการกระทำความผิด 3.เมื่อมีเหตุที่จะออกหมายจับบุคคลนั้นตามมาตรา 66(2) แต่มีความจำเป็นเร่งด่วนที่ไม่อาจขอให้ศาลออกหมายจับบุคคลนั้นได้ และ 4.เป็นการจับผู้ต้องหาหรือจำเลยที่หนีหรือจะหลบหนีในระหว่างถูกปล่อยชั่วคราว
นอกจากนั้นตาม ป.วิอาญา มาตรา 83 ยังระบุให้นำตัวผู้ถูกจับไปยังที่ทำการของพนักงานสอบสวนแห่งท้องที่ที่ถูกจับ (กรณีนี้คือ สภ.เมืองชุมพร) หรือที่ทำการของพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ (กรณีนี้หมายถึงที่เกิดเหตุ ก็คือ สน.ปทุมวัน กรุงเทพฯ)
จากข้อกฎหมายที่ยกมา ทำให้เห็นว่าการจับและการควบคุมตัว 2 ผู้ต้องสงสัย น่าจะไม่เป็นไปตามที่ ป.วิอาญา กำหนดเอาไว้
และล่าสุดที่ปรากฏว่า ทั้งสองถูกควบคุมตัวอยู่ที่จังหวัดยะลา จึงเกิดคำถามว่าใช้อำนาจตามกฎหมายใดในการควบคุมตัว เพราะหากอ้างอำนาจตามกฎอัยการศึก หรือพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ก็ไม่น่าจะทำได้
เพราะกฎอัยการศึก ให้อำนาจทหารในการควบคุมตัวบุคคลในพื้นที่ประกาศกฎอัยการศึกได้โดยไม่ต้องตั้งข้อหาเป็นเวลา 7 วัน แต่กรณีนี้ฝ่ายที่จับกุมและควบคุมตัวไม่ใช่ทหาร แต่เป็นตำรวจ และหากจะอ้างว่าเป็นการควบคุมตัวตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ก็ต้องตั้งคำถามว่า พื้นที่เกิดเหตุลอบวางระเบิดอยู่ในกรุงเทพฯ และจุดที่จับกุมตัวก็อยู่ที่จังหวัดชุมพร ซึ่งอยู่นอกพื้นที่ประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ทั้งสิ้น แล้วเหตุใดตำรวจจึงสามารถนำตัวผู้ต้องสงสัยไปควบคุมที่จังหวัดยะลาได้
นักสิทธิมนุษยชนชื่อดังรายหนึ่ง ให้ข้อมูลว่า เจ้าหน้าที่น่าจะต้องการใช้อำนาจตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ซึ่งสามารถควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยโดยไม่ต้องแจ้งข้อหาได้คราวละ 7 วัน แต่ต่อเนื่องไม่เกิน 30 วัน เพื่อซักถามในเบื้องต้น จึงคุมตัวไปไว้ที่ศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่กรณีนี้น่าจะถือว่ามีปัญหาในการใช้อำนาจตามกฎหมาย เพราะพื้นที่เกิดเหตุและพื้นที่จับกุมล้วนไม่ได้อยู่ในเขตสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ
สำหรับศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ ตั้่งอยู่ในพื้นที่ของโรงเรียนตำรวจภูธร 9 อำเภอเมืองยะลา ภายในมีศูนย์ซักถามของตำรวจที่ชื่อว่า "ศูนย์พิทักษ์สันติ" คาดว่าทั้งนายลูไอ และนายวิลดัน น่าจะถูกคุมตัวและเข้าสู่กระบวนการซักถามภายใน "ศูนย์พิทักษ์สันติ"
---------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : "ศูนย์เยี่ยมญาติ" ด้านหน้าศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้