เครือข่ายเพื่อนตะวันออกปักหลักทำเนียบฯ ค้านผังเมืองอีอีซี ไม่ตรงเจตนารมณ์กม.
เครือข่ายเพื่อนตะวันออก ปักหลักชุมนุมข้างทำเนียบรัฐบาล จี้คกก.นโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ชะลอจัดทำผังเมืองอีอีซี 8 พื้นที่ ชี้ไม่เป็นตามเจตนารมณ์กม. ให้คำนึงถึงความสัมพันธ์ชุมชน สุขภาวะปชช. สภาพเเวดล้อม
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า วันที่ 5 ส.ค. 2562 เครือข่ายเพื่อนตะวันออก วาระเปลี่ยนตะวันออก ชุมนุมตรงข้ามทำเนียบรัฐบาล เลียบคลองเปรมประชากร ถ.พระราม 5 เรียกร้องให้ที่ประชุมของคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ที่มีวาระการพิจารณาร่างแผนผังการใช้ประโยชน์ที่ดิน (ผังเมืองอีอีซี) ในบ่ายวันนี้ ชะลอการจัดทำผังเมืองอีอีซีฉบับดังกล่าว เนื่องจากไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ที่เขียนไว้ในพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ. 2561 ที่ระบุว่า ให้คำนึงถึงความสัมพันธ์กับชุมชน สุขภาวะของประชาชน สภาพแวดล้อม และระบบนิเวศตามหลักการพัฒนาอย่างยั่งยืน ใน
โดยเครือข่ายฯ ได้ทำคำร้องฉบับที่ 2 พร้อมข้อเสนอแนะยื่นถึงเลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก และอธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมืองเมื่อวันที่ 1 ส.ค. ที่ผ่านมา เพื่อให้ทบทวนและปรับการใช้ประโยชน์ที่ดินให้เหมาะสมกับสภาพและสภาพของพื้นที่ ยังผลให้เกิดความสำคัญของชุมชน สุขภาวะของประชาชน สภาพแวดล้อม และระบบนิเวศตามหลักการการพัฒนาอย่างยั่งยืนอย่างแท้จริง โดยสรุปมีคำร้องให้ปรับปรุง 8 กรณี ดังต่อไปนี้
1.พื้นที่ตำบลเขาดิน อำเภอบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทราที่ถูกเปลี่ยนจากที่ดินชนบทและเกษตรกรรมเป็นที่ดินประเภทพัฒนาอุตสาหกรรม
2.พื้นที่บริเวณรอยต่อจังหวัดฉะเชิงเทราและชลบุรีที่ถูกกำหนดเป็นที่ดินประเภทเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษสำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมายพิเศษ โครงการนิคมอุตสาหกรรมอมตะนคร โครงการ 2
3.พื้นที่บริเวณต้นน้ำบางปะกง ตำบลเขาหินซ้อน อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา ที่ถูกกำหนดเป็นที่ดินพัฒนาอุตสาหกรรมเพิ่มเติมจากผังเมืองรวมเดิมราว 2,000 ไร่ ทั้งเป็นพื้นที่ต้นน้ำที่มีความเสี่ยงด้านปริมาณน้ำและคุณภาพน้ำ ที่มีผลกระทบจากผังเมืองตะวันออกและผังเมืองรวมบังคับใช้
4.พื้นที่ริมแม่น้ำนครนายก บริเวณตำบลโยธะกา อำเภอบางน้ำเปรี้ยว จังหวัดฉะเชิงเทรา ไม่ถูกกำหนดประเภทที่ดิน ถูกยกเว้นผังเมือง
5.พื้นที่เขาลงยาง บริเวณรอยต่ออำเภอแปลงยาว อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา ที่ดินประเภทอนุรักษ์ป่าไม้หายไป
6.พื้นที่เขาไม้แก้ว อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี ถูกกำหนดเป็นที่ดินประเภทพัฒนาอุตสาหกรรม ทั้งที่มีข้อพิพาทเรื่องการออกเอกสารสิทธิทับพื้นที่ป่าคุ้มครอง และปัจจุบันมีชุมชนอาศัยในพื้นที่นี้ราว 400 ครัวเรือน
7.พื้นที่ตำบลป่ายุบใน อำเภอวังจันทร์ จังหวัดระยอง ถูกกำหนดเป็นที่ดินส่งเสริมเขตเศรษฐกิจพิเศษสำหรับกิจการพิเศษโดยไม่มีข้อห้ามที่เป็นข้อตกลงร่วมระหว่างชุมชน ผู้ประกอบการ และราชการ บัญญัติไว้ เหมือนดังที่ผังเมืองรวมจังหวัดระยอง
8.ที่ดินประเภทชุมชนชนบทสีเหลืองอ่อนที่อนุญาตให้โรงงานมากกว่า 95% ตามกฎหมายว่าด้วยโรงงาน ตั้งได้ในที่ดินประเภทนี้
จึงขอเรียกร้องคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกชะลอการพิจารณาร่างแผนผังการใช้ประโยชน์ที่ดินที่มีปัญหาอยู่นี้ โดยให้มีการติดประกาศเพื่อรับคำร้องไม่น้อยกว่า 30 วัน ซึ่งเป็นกระบวนการสำคัญในการจัดทำผังเมืองรวมที่จะมีผลบังคับใช้ อาจเป็นการรอนสิทธิของประชาชนในพื้นที่ และในการพิจารณาคำร้องให้มีผู้แทนที่ยื่นคำร้องเข้าชี้แจงและมีส่วนร่วมในการพิจารณาด้วยตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 43 และจะปักหลักชุมนุมจนกว่าจะได้คำตอบตามข้อเรียกร้อง
ผู้สื่อข่าวรายงานอีกว่า ในวันพรุ่งนี้ (6 ส.ค. 2562) คาดว่าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) จะมีการพิจารณาวาระเห็นชอบผังเมืองอีอีซีด้วย .
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/