ธุรกิจเสริมอาหารกับบุคลากรทางการแพทย์:ผลประโยชน์ทับซ้อน
"...แต่ในชีวิตจริง มีตัวอย่างที่เกิดขึ้นในสังคมโลกหลายครั้ง ที่บุคลากรทางการแพทย์นั้นกลับตัดสินใจใช้ประโยชน์จากสถานะความเป็นวิชาชีพแพทย์ ที่มีต้นทุนทางสังคมด้านความน่าเชื่อถือในเรื่องการมีความรู้ด้านสุขภาพ หรือสถานะตำแหน่งหน้าที่ทางวิชาการสูงๆ จะระดับศาสตราจารย์ หรืออื่นๆ ตลอดจนตำแหน่งการงาน รางวัล เป็นต้น มาใช้ประกอบการสื่อสาร ประชาสัมพันธ์ข้อมูลสู่สาธารณะ โดยมีผลประโยชน์ทับซ้อนที่เชื่อมไปสู่ธุรกิจของตน ของครอบครัว หรือของเครือข่าย ไม่ว่าจะทางตรงหรือทางอ้อม..."
Deceptive advertising หรือ False advertising นี้ จัดเป็นปัญหาที่รุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ทั่วโลก โดยได้รับการมองว่าเป็นหนึ่งในเรื่องคุกคามด้านสาธารณสุขของหลายต่อหลายประเทศ และพบมากในลักษณะของการโฆษณา ประชาสัมพันธ์สินค้าและบริการต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร หรือ Dietary supplement เพราะเป็นผลิตภัณฑ์ที่ดูจะซื้อง่ายขายคล่อง ไม่เหมือนยาหรือเครื่องมือแพทย์ ที่มีกฎหมายมากำกับอย่างเข้มงวด และต้องผ่านขั้นตอนการวิจัยพิสูจน์ทั้งเรื่องความปลอดภัยและประสิทธิภาพ ก่อนจะได้ใบอนุญาตจำหน่ายเป็นยาหรือเครื่องมือแพทย์
ผลประโยชน์ทับซ้อน หรือ Conflict of Interest (COI) นั้นแปลง่ายๆ ว่า การที่ใครสักคนหรือสักกลุ่ม ทำอะไรก็ตามภายใต้สถานะ บทบาท หรือตำแหน่งหน้าที่ โดยหวัง และ/หรือได้รับผลประโยชน์กลับมาสู่ตนเอง ไม่ว่าจะอยู่ในรูปของตัวเงิน หรืออื่นๆ
คงเป็นธรรมดาของสากลโลก หากใครจะทำธุรกิจเพื่อหากำไร ให้กิจการเติบโต ขยายตัว ไปเรื่อยๆ เพราะเป็นวิถีทำมาหากินของมนุษยโลก
แต่หากพูดถึงวิชาชีพแพทย์ หรืออื่นๆ ด้านสุขภาพแล้ว เรื่องนี้จะเป็นเรื่องอ่อนไหว และผู้ประกอบวิชาชีพด้านการแพทย์และสุขภาพนั้นจำเป็นต้องระมัดระวังอย่างยิ่งเนื่องจากเป็นวิชาชีพที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพและชีวิตคนโดยตรง
ทุกสภาวิชาชีพด้านการแพทย์ล้วนย้ำเตือนและระบุไว้เสมอว่า บุคลากรต้องมีจริยธรรมในการประกอบวิชาชีพ อันประกอบด้วย
หนึ่ง สิ่งที่แนะนำให้แก่ผู้ป่วย รวมถึงประชาชนนั้น ไม่ว่าจะเป็นวิธีการดูแลตนเอง การควบคุมป้องกันโรค การรักษาโรคทั้งหยูกยา เครื่องมือตรวจวินิจฉัย และอื่นๆ นั้น จะต้องแน่ใจว่า เป็น"สิ่งที่ได้รับการพิสูจน์อย่างถ้วนถี่ตามมาตรฐาน"แล้วว่า ได้ประโยชน์จริง เรียกว่าหลัก "Beneficence"
สอง พิจารณาให้ดีว่า สิ่งที่แนะนำให้ผู้ป่วยและประชาชนนั้น มีโอกาสที่จะก่อให้เกิดโทษ ผลไม่พึงประสงค์ใดๆ หรือไม่ และจะมีทางเลือกอื่นๆ ที่มีโทษน้อยกว่าหรือไม่ หลักนี้เรียกว่า "Non-maleficence" หากหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องใช้สิ่งนี้ ต้องแน่ใจว่า ประโยชน์มากกว่าโทษ ทั้งนี้จำเป็นต้องสื่อสารให้แก่ผู้ป่วยและประชาชนให้ทราบ และร่วมกันตัดสินใจ
สาม ไม่เลือกที่รักมักที่ชัง ดูแลผู้ป่วยและประชาชนทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน ไม่แบ่งชั้นวรรณะ โดยยึดหลักมาตรฐานทางวิชาชีพ หลักนี้เรียกว่า "Justice"
และสี่ ต่อให้เราพยายามอธิบาย บอกเล่าเก้าสิบให้กับผู้ป่วยหรือประชาชนไปแล้ว แต่หากผู้ป่วยหรือประชาชนไม่เลือกที่จะปฏิบัติตาม สิ่งที่เราจะทำได้ดีที่สุดคือ เคารพการตัดสินใจของผู้ป่วยหรือประชาชน เพราะแต่ละคนมีชีวิตจิตใจ และมีสิทธิในการตัดสินใจต่อเรื่องของชีวิตของตน หลักนี้เรียกว่า "Respect for person" หรือ "Autonomy"
ประเด็นปัญหามันเกิดขึ้นเพราะมีบุคลากรทางการแพทย์จำนวนไม่น้อยที่ผันตัวไปทำธุรกิจค้าขายสินค้าหรือบริการด้วย
จะทำด้วยตนเอง หรือแท็คทีมกันเป็นกลุ่ม เป็นเครือข่าย หรือแม้แต่ให้"สมาชิกในครอบครัว" เป็นคนประกอบการธุรกิจก็ตาม
"คงจะไม่แย่อะไร หากบุคลากรทางการแพทย์นั้นรู้ว่าอะไรควรทำ ไม่ควรทำ"
แต่ในชีวิตจริง มีตัวอย่างที่เกิดขึ้นในสังคมโลกหลายครั้ง ที่บุคลากรทางการแพทย์นั้นกลับตัดสินใจใช้ประโยชน์จากสถานะความเป็นวิชาชีพแพทย์ ที่มีต้นทุนทางสังคมด้านความน่าเชื่อถือในเรื่องการมีความรู้ด้านสุขภาพ หรือสถานะตำแหน่งหน้าที่ทางวิชาการสูงๆ จะระดับศาสตราจารย์ หรืออื่นๆ ตลอดจนตำแหน่งการงาน รางวัล เป็นต้น มาใช้ประกอบการสื่อสาร ประชาสัมพันธ์ข้อมูลสู่สาธารณะ โดยมีผลประโยชน์ทับซ้อนที่เชื่อมไปสู่ธุรกิจของตน ของครอบครัว หรือของเครือข่าย ไม่ว่าจะทางตรงหรือทางอ้อม
หลายกรณีศึกษาในต่างประเทศได้ถูกหยิบยกขึ้นมา นำไปสู่การปรับปรุงตัวบทกฎหมาย และระเบียบต่างๆ เพื่อหวังจะห้ามปราม และป้องกันผลกระทบที่เกิดจากการนำเสนอข้อมูลลวงเพื่อหวังผลทางธุรกิจของผู้ประกอบวิชาชีพทางการแพทย์
สหรัฐอเมริกาถือเป็นตัวอย่างให้เรียนรู้ได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะธุรกิจผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ที่มีประชาชนจำนวนมากซื้อหามารับประทานโดยหวังผลดีต่อสุขภาพ หลังจากที่เห็นบทความ สื่อโฆษณา ประชาสัมพันธ์ และหลายต่อหลายครั้งก็นำเสนอผ่านบุคลากรทางการแพทย์ ซึ่งต่อมาได้รับการตรวจสอบและพบว่ามีสายสัมพันธ์ใกล้ชิดกับผู้ประกอบการธุรกิจ
เวลาผ่านมานาน ปัญหารุนแรงขึ้น จนกระทั่งเป็นที่มาของ US FDA ต้องออกประกาศในเดือนมีนาคม 2019 ที่ผ่านมาว่าจะทำการปฏิรูปกฎระเบียบเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร โดยจะกำกับอย่างเข้มงวดมากขึ้น เพื่อลดปัญหาการโฆษณาเกินจริง จนทำให้ประชาชนวัยผู้ใหญ่ในอเมริกาถึง 3 ใน 4 ที่ซื้อหาผลิตภัณฑ์เสริมอาหารมากิน ทั้งๆ ที่ไม่มีผลิตภัณฑ์เสริมอาหารใดที่ได้รับการพิสูจน์ชัดเจนว่ามีสรรพคุณในการป้องกันหรือรักษาโรคได้ แถมแทนที่จะกินแล้วได้สรรพคุณตามที่โม้ กลับกลายเป็นเกิดปัญหาสุขภาพจากการกินผลิตภัณฑ์เหล่านั้นแทน
ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารนั้น ไม่ใช่ยา จึงไม่สามารถโฆษณาสรรพคุณต่อร่างกาย ทั้งในลักษณะป้องกันโรค รักษาโรค ทุเลาอาการของโรค ฯลฯ
ก่อนเชื่อ จงใช้สติปัญญาไตร่ตรองให้ดีว่า ถ้ามันดีจริง ป้องกันโรค รักษาโรคได้จริง มันก็ต้องได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นยาไปแล้ว แต่ที่มันไม่ได้เป็นยา เพราะมันไม่สามารถผ่านด่านพิสูจน์ตามมาตรฐานได้นั่นเอง
สำหรับในเมืองไทยนั้น เรายังไม่เห็นรายละเอียดของปัญหาอย่างเป็นลายลักษณ์อักษร แต่เหลียวซ้ายแลขวา ก็คงเห็นสถานการณ์ที่ดูจะคล้ายคลึงกับต่างประเทศ
เช่น บทความที่มีการสื่อสารสาธารณะ เชียร์สารเคมี สารสกัดจากโน่นนี่นั่น อ้างงานวิจัยหลอดทดลอง และในสัตว์ มาอวดสรรพคุณต่างๆ นานา พร้อมอาจเห็นหลายบทความที่พยายามทำให้ประชาชนตื่นกลัวยาแผนปัจจุบันว่าจะทำลายตับไตหรืออวัยวะอื่นๆ รวมถึงให้กลัวแก่ กลัวพิการ กลัวตาย อยากอายุยืนอะไรเหล่านี้เป็นต้น จนสุดท้ายแล้วจึงเห็นความนิยม ความเชื่องมงายในหลายต่อหลายเรื่องจึงเกิดขึ้น ทั้งการแพทย์ทางเลือก เอายาเสพติดมารักษาสารพัดโรค อาหารเสริมสกัดจากโน่นนี่นั่นป้องกันอวัยวะเสื่อม เป็นต้น
หากคนเราฉุกคิดได้ ก็คงไม่หลงเชื่อ ไม่ติดตาม ไม่แชร์ต่อ แต่สถานการณ์จริงกลับไม่เป็นเช่นนั้น
สินค้าผลิตภัณฑ์ต่างๆ จึงขายดิบขายดี ใครว่าคนไทยจนคงไม่ใช่ เพราะเวลาเจ็บป่วยก็อ้างไม่มีเงินไปรักษา แต่กลับมีเงินไปถลุงกับสิ่งที่ไม่เป็นเรื่อง ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารบางชนิด ขายกล่องละหลายพันบาท อวดอ้างสรรพคุณทำให้"ไม่ป่วย ไม่แก่ กันมะเร็งไม่ให้แพร่กระจาย" กลับขายดิบขายดี
ถ้าสังคมเรามีระบบการติดตามกำกับ ตรวจสอบ อาจเห็นปัญหาที่ชัดเจน ที่อาจครอบคลุมทั้งเรื่อง การโฆษณาเกินจริง "การผิดจริยธรรมวิชาชีพทางการแพทย์อันมาจากผลประโยชน์ทับซ้อนทางธุรกิจ" ฯลฯ
ข้อมูลของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เมื่อปี 2558 มีการจับกุมและดำเนินคดี รวม 101 ครั้ง พบผู้กระทำผิด 148 คน จำนวนของกลาง 1,019 รายการ คิดเป็นมูลค่ากว่า 185 ล้านบาท แยกเป็นผลิตภัณฑ์ยา อาหาร เครื่องสำอาง วัตถุอันตราย วัตถุออกฤทธิ์อันตรายต่อจิตประสาท โดยในรอบ 5 ปีที่ผ่านมามีการดำเนินคดีมาแล้วประมาณ 400 ราย มูลค่าของกลางกว่า 300 ล้านบาท
อย่างไรก็ตามข้อมูลเกี่ยวกับคดีที่มีการเชื่อมโยงสายสัมพันธ์ของธุรกิจผิดกฎหมายกับบุคลากรทางการแพทย์นั้นยังไม่เคยได้รับการเผยแพร่ให้ได้ทราบ จึงยังไม่รู้ว่ามีมากน้อยเพียงใด แต่น่าสนใจหากหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องจะมีการวิเคราะห์เจาะลึกและเปิดเผยแก่สาธารณะ
เรื่อง Dietary supplement fraud นี้เป็นเรื่องใหญ่ มีความซับซ้อน และต้องระดมสรรพกำลังในการควบคุมป้องกันและแก้ไขปัญหาในระยะยาว แต่ควรตระหนักถึงปัญหานี้ตั้งแต่บัดนี้ ก่อนจะสายเกินไป
แต่ปัญหาจะหนักมากขึ้นหลายเท่า หากบุคลากรทางการแพทย์ไปทำเสียเอง
ระหว่างนี้ คงได้แต่ภาวนาว่า สังคมไทยจะรู้เท่าทัน และช่วยกันตรวจสอบความเคลื่อนไหวที่ผิดปกติ
เรื่องบางเรื่องในสังคมอย่างเช่น ความพยายามทำให้ยาเสพติดเปลี่ยนจากผิดไปเป็นถูกอย่างรวดเร็ว โดยขาดหลักฐานที่มีน้ำหนักเพียงพอนั้น ก็น่าลองคิดดูให้ดีว่า มีโอกาสไหมที่จะนำไปสู่เรื่องธุรกิจในลักษณะ Dietary supplement fraud ในอนาคต
คิดไตร่ตรองให้ดี และวางแผนเตรียมรับมือเพื่อลูกหลานไทยในอนาคต
ผศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์
คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
อ้างอิง
1. Cohen MH. Key Points for Physicians and other Healthcare Licensees to Consider When Selling Dietary Supplements to Patients. Cohen Healthcare Law Group. December 2, 2014.
2. Deceptive Advertising in Dietary Supplements. Kozonis & Klinger Ltd. August 16, 2018.
3. Fuster V. The Hazards of Physician Advertising. Journal of the American College of Cardiology. 2015;66(22). DOI: 10.1016/j.jacc.2015.10.016
4. 5 ปี คดีผลิตภัณฑ์สุขภาพ-อาหารเสริมพุ่ง. ข่าวสังคม. Thai PBS. 25 เมษายน 2561.
ที่มา : https://www.hfocus.org/content/2019/08/17462