จับพิรุธคำอ้างสารภาพผู้ต้องสงสัยบึ้มป่วนกรุง
มีข่าวรายงานผ่านสื่อหลายแขนงว่า ผู้ต้องสงสัย 2 คนจากจังหวัดนราธิวาสที่ถูกควบคุมตัวได้ระหว่างการหลบหนี ภายหลังก่อเหตุวางระเบิดหน้าสำนักงานตำรวจแห่งชาติ แต่เก็บกู้ทัน ยอมรับสารภาพว่ามีผู้ร่วมก่อเหตุอีก 8 คน สาเหตุเพราะไม่พอใจฝ่ายทหารที่จับกุมผู้ต้องหาคดีความมั่นคงไปซ้อมในค่ายทหารจนเสียชีวิต
ข่าวนี้ได้รับการรายงานอย่างกว้างขวาง ถึงขั้นที่นายกรัฐมนตรี และโฆษกรัฐบาล ต้องดาหน้ากันออกมาปฏิเสธข่าว
มีข้อสังเกตคือ หากผู้ต้องสงสัยรับสารภาพแบบนี้จริง คำรับสารภาพที่ว่านี้เป็นความจริงหรือไม่?
ประเด็นแรก ที่อ้างว่าไม่พอใจฝ่ายทหารที่จับกุมผู้ต้องหาคดีความมั่นคงไปซ้อมจนเสียชีวิตนั้น จริงๆ แล้วกรณีล่าสุดที่มีการควบคุมผู้ต้องสงสัยคดีความมั่นคงเข้ากระบวนการซักถาม เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 20 กรกฎาคมที่ผ่านมา ผู้ต้องสงสัยรายนี้คือ นายอับดุลเลาะ อีซอมูซอ จากนั้นเพียงคืนเดียว นายอับดุลเลาะ ก็อยู่ในสภาพหมดสติ ต้องนำตัวส่งห้องไอซียูโรงพยาบาลปัตตานีด้วยอาการสมองบวม เพราะขาดออกซิเจนไปเลี้ยงสมองเป็นเวลานาน
กรณีนี้เป็นข่าวดัง มีองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนและ ส.ส.ในพื้นที่ออกมาเรียกร้อง ขณะที่นายกฯก็ชี้แจงในที่ประชุมรัฐสภา นัดที่มีการแถลงนโยบายรัฐบาลด้วย
ปัจจุบันเรื่องนี้มีการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้ว เพื่อหาสาเหตุที่ทำให้หมดสติ โดยฝ่ายทหารอ้างว่าไม่ได้มีการซ้อมทรมาน ส่วนนายอับดุลเลาะถูกย้ายไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ขณะนี้อาการยังทรงๆ และยังมีชีวิตอยู่ ช่วงเช้าที่ผ่านมายังมีตัวแทนจากภาคประชาสังคมเดินทางไปเยี่ยม และมอบเงินบริจาคช่วยเหลือภรรยาของนายอับดุลเลาะด้วย
ประเด็นที่สอง ในกรณีเดียวกันนี้ยังมีข้อน่าสังเกตเพิ่มเติม คือ นายอับดุลเลาะถูกระบุว่ามีประวัติต้องสงสัยเกี่ยวข้องกับกลุ่มก่อความไม่สงบ โดยเป็นแกนนำระดับพื้นที่ ซึ่งอยู่ในพื้นที่อำเภอสายบุรี จังหวัดปัตตานี ซึ่งปฏิบัติการที่เชื่อกันว่าเป็นการตอบโต้ของผู้ก่อความไม่สงบในจังหวัดปัตตานีก็เกิดขึ้นแล้ว คือเหตุโจมตีฐานปฏิบัติการและจุดตรวจของชุดคุ้มครองตำบล ในอำเภอเมืองปัตตานี เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม ทำให้เจ้าหน้าที่ทหาร อส. และชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน เสียชีวิตถึง 4 ราย ส่วนผู้ต้องสงสัยวางระเบิดหน้าสำนักงานตำรวจแห่งชาติ มีภูมิลำเนาอยู่ในจังหวัดนราธิวาส จึงน่าจะไม่เชื่อมโยงกัน
แต่ข้อมูลจากแหล่งข่าวในหน่วยงานความมั่นคง ระบุว่า มีความเป็นไปได้เหมือนกันที่ผู้ต้องสงสัย 2 รายนี้จะถูกปลุกระดมให้เกลียดชังเจ้าหน้าที่ โดยอาศัยกรณีของนายอับดุลเลาะมาเป็นเชื้อไฟในการสร้างความรู้สึกให้เกิดความโกรธแค้นอย่างรุนแรง แต่การเดินทางเข้ากรุงเทพฯเพื่อก่อเหตุ น่าจะมีผู้เกี่ยวข้องมากกว่า 2 คน และมากกว่าอีก 8 คนที่พาดพิงถึง เพราะน่าจะมีคนวางแผน มีการสนับสนุนเงินทุน จัดหาที่พัก และประกอบวัตถุระเบิดให้ก่อนนำไปวาง ฉะนั้นผู้เกี่ยวข้องต้องไม่ได้มีแค่ 8-10 คน
ด้าน แม่ทัพภาคที่ 4 "บิ๊กเดฟ" พลโทพรศักดิ์ พูลสวัสดิ์ บอกว่ายังไม่ทราบข่าวที่มีการระบุว่า 2 ผู้ต้องสงสัยวางระเบิดหน้าสำนักงานตำรวจแห่งชาติรับสารภาพ และอ้างว่าทำไปเพราะแค้นทหารที่จับเพื่อนเข้าค่ายทหารและซ้อมจนตาย โดยยืนยันกรณีผู้ต้องหาคดีความมั่นคงหมดสติในค่ายทหาร ยังอยู่ระหว่างการตรวจสอบข้อเท็จจริง และยังไม่เสียชีวิต ส่วนข่าวที่อ้างคำรับสารภาพของผู้ต้องสงสัย ตนไม่ทราบ และไม่อยากตอบโต้ เพราะเกรงจะถูกมองว่าเข้าข้างเจ้าหน้าที่ด้วยกัน
มีรายงานด้วยว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจและฝ่ายความมั่นคงไม่ได้ปักใจเชื่อคำให้การของ 2 ผู้ต้องสงสัย และกำลังเร่งตรวจสอบหลักฐานและพยานแวดล้อม ล่าสุดมีข้อมูลจากญาติว่า ทั้งสองคนเพิ่งเดินทางเข้ากรุงเทพฯเมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม ขณะที่เหตุลอบวางระเบิดเกิดขึ้นในวันที่ 1 สิงหาคม ซึ่งหากทั้งสองคนนี้ก่อเหตุจริง ก็เท่ากับว่าขึ้นมากรุงเทพฯเพื่อก่อเหตุอย่างเดียว แล้วเดินทางกลับทันที คล้ายคลึงกับเหตุลอบวางระเบิด 7 จังหวัดภาคใต้ตอนบน เมื่อเดือนสิงหาคม ปี 59 และยังมีรูปแบบปฏิบัตการ รวมถึงรูปแบบของระเบิดที่ใช้ก็คล้ายคลึงกันด้วย
สำหรับเหตุระเบิด 7 จังหวัดภาคใต้ตอนบน พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เป็นผู้ควบคุมคดี มีการออกหมายจับผู้ต้องหา 13 คน ทั้งหมดเป็นคนจากสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่จับกุมได้จริงเพียง 3 คน ล่าสุด ผบ.ตร.เพิ่งมีคำสั่งตั้งให้ พล.ต.อ.ศรีวราห์ คุมคดีระเบิดป่วนกรุงอีกครั้ง (อ่านประกอบ : เปิดครบ! ผู้ต้องหา"บึ้ม7จังหวัด–วางแผนบอมบ์กรุง" ไทยเสี่ยงก่อการร้ายภายใน?)
-----------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : นาทีจับกุม 2 ผู้ต้องสงสัยลอบวางระเบิดหน้าสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จากรถ บขส. บริเวณแยกปฐมพร จังหวัดชุมพร
ขอบคุณ : ภาพข่าวจากทีมข่าวอาชญากรรม