ดีเอสไอ ลุยสอบบ่อบำบัด อบต.เชิงทะเล 355 ล. 5 วันติด -แฉเอกสารสำคัญหายจากระบบ
ดีเอสไอ ลงพื้นที่สอบสวนโครงการบ่อบำบัดน้ำเสีย อบต.เชิงทะเล จ.ภูเก็ต 355 ล้าน ต่อเนื่อง 5 วัน หลังชาวบ้านร้องเรียนไม่เดินเครื่องทำระบบนิเวศน์ทะเลพัง คนในปูดเอกสารสำคัญหลายส่วนหายจากระบบหนังสือ โดนอายัดไปตรวจสอบด้วย
สืบเนื่องจาก สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org นำเสนอข่าวกรณี นายดนัย ยาดี ตัวแทนจากเครือข่ายชุมชนชายฝั่ง และ นายจรูญ เกิดดำ ตัวแทนจากเครือข่ายอนุรักษ์พื้นที่ชายฝั่งทะเลอ่าวไทย-อันดามัน เดินทางเข้าร้องเรียนต่อสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ประจำจังหวัดภูเก็ต ศูนย์ปฏิบัติการคดีพิเศษเขตพื้นที่ 8 จังหวัดสุราษฎร์ธานี กองปฏิบัติการคดีพิเศษภาค กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) กระทรวงยุติธรรม ให้ตรวจสอบการใช้งบประมาณ 355,878,802 บาท ในการดำเนินงานก่อสร้างบ่อบำบัดน้ำเสียที่บ้านบางเทาและบ้านหาดสุรินทร์ ของ องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) เชิงทะเล อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต ว่ามีกระบวนการหรือขั้นตอนที่ทำให้รัฐและประชาชนเสียประโยชน์หรือไม่ เนื่องจากการก่อสร้างบ่อบำบัดน้ำเสียดำเนินการเสร็จนานนับปีแล้ว แต่ไม่เดินเครื่องทำให้ไม่สามารถแก้ไขปัญหาน้ำเสียได้ (อ่านประกอบ : ห่วง ป.ป.ช. ช้า! ชาวหาดสุรินทร์ ยื่น 'DSI- ปปท.- สตง.' ลุยสอบบ่อบำบัด อบต.เชิงทะเล 355 ล.)
ล่าสุด นายดนัย ยาดี แกนนำเครือข่ายร้องทุกข์องค์การบริหารตำบลเชิงทะเล อ.ถลาง จ.ภูเก็ต เปิดเผยกับสำนักข่าวอิศราว่า เมื่อวันที่ 29 ก.ค. 2562 ที่ผ่านมา พนักงานสอบสวนดีเอสไอ ประกอบด้วย ร.ต.อ.ประสิทธิ์ ขันซ้าย ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการคดีพิเศษเขตพื้นที่ 8 นายศุภชัย คำคุ้ม รักษาในตำแหน่งพนักงานสอบสวนคดีพิเศษชำนาญการพิเศษ และนายพันธมิตร ช่วยบำรุง เจ้าหน้าที่คดีพิเศษ ได้นัดหมายตนและนายจำรูญ เกิดดำ เครือข่ายอนุรักษ์พื้นที่อ่าวไทย-อันดามัน ไปพบเพื่อนำคณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษลงพื้นที่ตรวจสอบระบบบำบัดน้ำเสียรวมในพื้นที่ บ้านบางเทาและบ้านหาดสุรินทร์ พร้อมทั้งสอบสวนข้อมูลจากนายมาแอน สำราญ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลเชิงทะเล รวมถึงเจ้าหน้าที่อบต.ฯ ต่อเนื่องเป็นเวลา 5 วัน
นายดนัย กล่าวอีกว่า ได้แจ้งพนักงานสอบสวนคดีพิเศษเพิ่มเติมในวันสุดท้ายของการสอบว่า กำลังเตรียมเอกสารวัตถุพยานเพื่อส่งมอบให้พนักงานสอบสวน และได้รับการยืนยันจาก ร.ต.อ.ประสิทธิ์ ว่า ต้องใช้เวลาสอบสวนสืบสวนและสรุปเรื่องให้เสร็จภายในระยะเวลา 6 เดือน อย่างไรก็ดี จากการลงพื้นที่สอบสวนของพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ ได้สร้างความปั่นป่วนให้กับเจ้าหน้าที่ อบต.เชิงทะเล และผู้บริหารหลายราย เนื่องจากทราบว่า เอกสารสำคัญหลายส่วนได้หายจากระบบหนังสือ และพนักงานสอบสวนยังได้อายัดเอกสารสำคัญไปตรวจสอบด้วย
“มีเจ้าหน้าที่ใน อบต.เชิงทะเล ที่ทราบเรื่องว่าผมเป็นผู้ร้องเรียน ได้โทรศัพท์มาแจ้งสถานการณ์ให้ทราบ และบางรายได้แจ้งเบาะแสว่า ขณะดำเนินการก่อสร้างในการส่งมอบงาน มีกรรมการบ้างคนลาออกเนื่องจากเกรงว่าจะมีปัญหาในอนาคตอีกด้วย” นายดนัย กล่าว
ขณะที่ นายรังสรรค์ สาเหร่ ประธานชมรมประมงพื้นบ้านและการท่องเที่ยวอ่าวบางเทา กล่าวว่า อยากเรียกร้องให้พนักงานสอบสวนมาสอบสวนชาวบ้านบางเทา สมาชิก ชมรม หรือแม้แต่ตนเอง ซึ่งพร้อมจะให้สอบและยินดีมอบหลักฐานสำคัญหลายอย่างให้ เนื่องจากที่ผ่านมาการก่อสร้างไม่ได้ทำตามระบบที่ควรจะเป็น อีกทั้งไม่ได้ถามชาวบ้านในพื้นที่ว่าประสงค์ต้องการอะไร เมื่อชาวบ้านไม่มีส่วนร่วม ปัญหาในพื้นที่จึงไม่สามารถแก้ไขได้ตรงประเด็น โดยเฉพาะสภาพพื้นที่ที่มีโคลนใต้ดิน ไม่ได้ทำความมั่นคงแข็งแรงให้กับท่อที่จะลำเลียงน้ำเสียไปสู่ระบบบำบัด
ส่วน นายจำรูญ เกิดดำ เครือข่ายอนุรักษ์พื้นที่อ่าวไทย-อันดามัน กล่าวว่า ข้อมูลในอดีต พื้นที่บ้านบางเทา-หาดสุรินทร์มีความหลากหลายทางชีวะภาพสูง มีภูมิสถาปัตย์สวยงาม เป็นต้นทุนทางการท่องเที่ยวที่สำคัญ แต่พื้นที่ดั่งกล่าวผ่านการทำเหมืองแร่ดีบุกแบบเรือขุด ทำให้สภาพธรณีวิทยาใต้ดินเปลี่ยน อาจจะมีดินโคลนบางช่วง บางแห่งอาจจะเป็นทรายท้ายเรือในยุคนั้น ฉะนั้น ในการวางท่อใต้ดินเพื่อรองรับน้ำเสียในพื้นที่ และลำเลียงไปยังระบบบำบัดจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องให้สภาพท่อตรงได้ระดับ มีความลาดเอียงที่ได้องศาทำให้น้ำไหล แต่จากการสอบถามสมาชิกกลุ่มอนุรักษ์ที่อยู่ในพื้นที่ ได้รับแจ้งว่า การก่อสร้างไม่ได้ทำความมั่นคงแรงให้กับระบบท่อลำเลียงน้ำเสียแต่อย่างใด และดูจากสภาพถนนที่ทรุดตัว น่าเชื่อได้ว่าท่อไม่ได้ระดับจึงเป็นต้นเหตุสำคัญในการแก้ปัญหาระบบนำเสียไม่ได้ ต้องแก้ปัญหาให้ตรงประเด็น
“กองทุนสิ่งแวดล้อมเป็นหน่วยงานที่ยากในการอนุมัติวงเงินเพื่อดำเนินการเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม แต่มาดูงานนี้กลับตรงกันข้ามจึงเป็นเหตุอันสงสัยว่าการก่อสร้างโครงการนี้มีนัยสำคัญอะไรหรือไม่ โดยเฉพาะระยะเวลาของการเริ่มต้นการอนุมัติเงิน และการก่อสร้างที่ใช้เวลามากกว่า 5 ปี ต้องทำความจริงให้ปรากฏและแก้ปัญหาให้ถูกทางเพื่อรักษาระบบนิเวศน์ทะเลและต้นทุนทางการท่องเที่ยวไว้” นายจำรูญ กล่าว
อนึ่ง ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 23 พ.ค. 2562 ที่ผ่านมา นายมาแอน สำราญ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลเชิงทะเล ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวอิศราว่า การก่อสร้างบ่อบำบัดน้ำเสียดังกล่าว สร้างเสร็จเมื่อปี 2560 แต่ที่ไม่ได้ดำเนินการเป็นเพราะว่า ต้องดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างหาเอกชนมาดำเนินการและดูแลระบบบำบัดก่อน ซึ่ง อบต.เชิงทะเล ได้ประกาศเชิญชวนจัดซื้อจัดจ้างหาผู้รับจ้างเข้ามาดูแลระบบดังกล่าวถึง 4 ครั้ง แต่ไม่มีผู้ใดประสงค์จะเข้าเสนอราคา ทำให้ไม่สามารถเดินเครื่องบำบัดได้ ซึ่งต่อมาได้ปรึกษา องค์การจัดการน้ำเสีย (อจน.) และได้เสนอความประสงค์ที่จะให้ อจน. เข้ามาดูแลระบบบำบัด แต่ต่อมา อจน. แจ้งว่า ยังไม่พร้อมดำเนินการ อบต.เชิงทะเล จึงได้ประกาศจัดซื้อจัดจ้างหาเอกชนเข้ามาดูแลระบบบำบัดไปก่อน ซึ่งทำสัญญาและดำเนินการเดินระบบไปแล้ว เมื่อวันที่ 1 มี.ค. 2562 ที่ผ่านมา และจะสิ้นสุดสัญญาในวันที่ 30 ก.ย. 2562 โดยก่อนหน้านี้ มีการตรวจสอบและซ่อมแซมระบบบำบัดไปแล้ว”(อ่านประกอบ : ชาวหาดสุรินทร์ ร้องสอบรัฐทุ่ม 355ล. สร้างบ่อบำบัดน้ำเสียแต่ไม่เดินเครื่อง ทำนิเวศน์ทะเลพัง , ยื่น ป.ป.ช. สอบ อบต.เชิงทะเล สร้างบ่อบำบัด 355ล.เสร็จปี 60 แต่ไม่เดินเครื่องทำนิเวศน์ทะเลพัง , ไขปมร้อน อบต.เชิงทะเล สร้างบ่อบำบัด 355ล. เสร็จปี 60 แต่ไม่เดินเครื่องทำนิเวศน์ทะเลพังจริงหรือ?)
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/
อ่านประกอบ :
ห่วง ป.ป.ช. ช้า! ชาวหาดสุรินทร์ ยื่น 'DSI- ปปท.- สตง.' ลุยสอบบ่อบำบัด อบต.เชิงทะเล 355 ล
อจน. แจงปม อบต.เชิงทะเล อ้างขอให้ดูแลระบบบำบัดน้ำเสีย355ล. รอทำบันทึกข้อตกลงอยู่เริ่มปี 64
เจาะ บ.ขวัญรวี คว้า 2 งาน ซ่อม/ดูแลระบบบำบัดน้ำเสียอบต.เชิงทะเล-ยื่นแข่งรายเดียว 1 สัญญา
เจาะสัญญาก่อสร้างระบบบำบัดน้ำเสียอบต.เชิงทะเล 346 ล. เอกชนแข่ง 3 ราย ไม่เผยชื่อคู่เทียบ?
ไขปมร้อน อบต.เชิงทะเล สร้างบ่อบำบัด 355ล. เสร็จปี 60 แต่ไม่เดินเครื่องทำนิเวศน์ทะเลพังจริงหรือ?
ยื่น ป.ป.ช. สอบ อบต.เชิงทะเล สร้างบ่อบำบัด 355ล.เสร็จปี 60 แต่ไม่เดินเครื่องทำนิเวศน์ทะเลพัง
ชาวหาดสุรินทร์ ร้องสอบรัฐทุ่ม 355ล. สร้างบ่อบำบัดน้ำเสียแต่ไม่เดินเครื่อง ทำนิเวศน์ทะเลพัง