ถูกเบรกทำงานภาคใต้ ต้นเหตุ"อังคณา"ไขก๊อกพ้น กสม.
การลาออกของ 2 กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ อังคณา นีละไพจิตร แม้จะเป็นข่าวไม่ใหญ่นักในหน้าสื่อกระแสหลัก แต่มีความเชื่อมโยงกับประเด็นปัญหาในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างลึกซึ้ง
เพราะเจ้าตัวเปิดใจกับ "ทีมข่าวอิศรา" ซึ่งมีบางประเด็นที่ไม่ได้พูดถึงอย่างชัดเจนในการแถลงข่าวลาออก
"เหตุผลที่ตัดสินใจลาออกเพราะทำงานยาก และช่วงหลังคณะกรรมการ (หมายถึงคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ หรือ กสม.) มีความเห็นไม่ให้ทำงานภาคใต้ ก็เลยมีความรู้สึกว่าไม่รู้จะอยู่ไปทำไม การทำงานกับพื้นที่ภาคใต้มานาน 10 กว่าปี ทำให้มีความผูกพัน พอไม่ให้ทำ ก็เลยรู้สึกว่าไม่รู้จะอยู่ไปทำไม"
เป็นความในใจบางช่วงบางตอนของอังคณา...
อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติหมาดๆ กลายเป็นที่รู้จักในสังคมไทยจากกรณีการหายตัวไปอย่างไร้ร่องรอยของ ทนายสมชาย นีละไพจิตร อดีตประธานชมรมนักกฎหมายมุสลิม ผู้เป็นสามี ซึ่งต่อมาเป็นที่รับรู้กันว่าการหายตัวไปของทนายสมชายน่าจะเป็นเพราะถูก "อุ้มหาย" โดยเจ้าหน้าที่รัฐกลุ่มหนึ่ง สืบเนื่องจากการทำงานช่วยเหลือผู้ต้องหาคดีความมั่นคงในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้
อังคณา ในฐานะผู้หญิงตัวเล็กๆ ที่ต้องสูญเสียสามี ตัดสินใจออกมายืนกลางแสงไฟเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับชายคู่ชีวิต แต่สุดท้ายกระบวนการยุติธรรมไทยก็ไม่สามารถหาตัวคนผิดมาลงโทษได้ แม้จะระดมมือสอบสวนจากหน่วยงานที่ทรงประสิทธิภาพที่สุดในประเทศอย่างกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ ดีเอสไอ ก็ตาม
อังคณา สานต่องานของสามี ด้วยการทำงานด้านสิทธิมนุษยชนในพื้นที่ปลายด้ามขวาน โดยตั้งคณะทำงานยุติธรรมเพื่อสันติภาพขึ้นมา และกลายเป็นที่พึ่งของผู้ถูกละเมิดจำนวนไม่น้อย
กรณีล่าสุดที่อังคณาถูกพูดถึงก็คือการเรียกร้องจากญาติของ นายอับดุลเลาะ อีซอมูซอ ผู้ต้องสงสัยคดีความมั่นคง ให้ช่วยตรวจสอบข้อเท็จจริง หลังนายอับดุลเลาะหมดสติอย่างเป็นปริศนาระหว่างถูกควบคุมตัวอยู่ในค่ายอิงคยุทธบริหาร อ.หนองจิก จ.ปัตตานี เมื่อปลายเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา กระทั่งป่านนี้ยังไม่ฟื้น ต้องอยู่ในห้องไอซียู
ท่าทีของ อังคณา ต่อเรื่องนี้ก็ยังกล้าหาญ ตรงไปตรงมาไม่เคยเปลี่ยน ท่ามกลางการพยายามชี้แจงจากฝ่ายความมั่นคงว่า กรณีของนายอับดุลเลาะ ไม่มีการซ้อมทรมาน เพราะไม่มีบาดแผลตามร่างกาย
"เรื่องของการมีบาดแผลหรือไม่มีบาดแผลไม่ใช่ประเด็น เพราะว่าถ้าหากว่าเราทราบถึงนิยามการทรมานของสหประชาชาติ จะเข้าใจดีว่าการทรมานไม่จำเป็นต้องมีแผล มันเป็นเรื่องลดทอนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ มีการใช้วิธีที่จะไม่เกิดบาดแผลได้ ทำให้เป็นเรื่องยากมากที่จะตรวจสอบ ที่มีการพูดถึงกันบ่อยๆ ก็คือเขาไม่ให้นอน มีการร้องเรียนเข้ามาส่วนใหญ่ว่าเขาไม่ให้นอน เวลาเราตรวจสอบก็ไม่พบบาดแผล ขณะที่ข้อมูลของเจ้าหน้าที่กับชาวบ้านจะมีข้อมูลคนละอย่าง คนละชุด ตรงนี้ส่วนตัวจึงคิดว่าทางเจ้าหน้าที่เองก็ควรจะตรวจสอบกระบวนการภายในของตนเองด้วย ไม่ใช่พูดแค่ว่าไม่มีบาดแผลเท่านั้น"
นี่คือบทสัมภาษณ์สุดท้ายของอังคณาเกี่ยวกับปัญหาชายแดนใต้ ก่อนจะมีข่าวแถลงลาออก
"ต้องยอมรับความจริงว่าการที่เรารับเงินเดือนแต่ละเดือน เราก็ต้องถามตัวเองตลอดว่าเรามาทำอะไรบ้าง แม้จะดีใจที่ได้เป็น กสม. แต่ก็ต้องคิดทบทวนตลอด ก็หวังว่าคนที่เข้ามาใหม่จะสามารถทำงานได้มากขึ้น เพราะการทำงานให้สำเร็จหรือไม่อยู่ที่ตัวบุคคล หากว่าเป็นคนที่เชื่อมั่นในสิทธิมนุษยชนก็เชื่อว่าจะทำงานได้และประสบผลสำเร็จ"
และดูเหมือนว่าประเด็นข้อกล่าวหาที่พูดกันมากเกี่ยวกับปัญหาซ้อมทรมานในภาคใต้ ยังเป็นเรื่องที่เธอคาใจและเป็นห่วง
"ตลอดหลายปีที่ผ่านมามีการร้องเรียนอย่างต่อเนื่องมาตลอด มีการสรุปรายงานล่าสุดด้วยว่ามีการร้องเรียน 100 คำร้องในประเด็นถูกจับ ถูกซ้อม และซ้อมแบบไม่มีบาดแผล คนที่มาร้องเรียนอ้างว่าถูกถุงดำคลุมหัวบ้าง เอาน้ำสาดใส่หน้าบ้าง มันยากที่จะพิสูจน์ แต่มันก็เป็นคำร้องที่ซ้ำๆ เป็นร้อยครั้งเหมือนกันหมด ซึ่งเรื่องนี้ทางประธานกสม.บอกว่าจะไปทำเอง จึงอยากให้รัฐใจกว้าง"
เมื่อถามถึงอนาคตของการทำงานในระยะต่อไป อังคณา ตอบตรงๆ ว่ายังไม่มีแผนอะไรชัดเจน
"ยังไม่รู้เลยว่าจะทำอะไรต่อ ก็มีหลายคนชวนไปสอนหนังสือ ไปเป็นที่ปรึกษาองค์กรเอกชนในพื้นที่ แต่ยังไม่ได้ตัดสินใจ ไม่มีแพลนที่จะลาออกว่าไปทำอะไร แต่ที่ผ่านมาได้ทำงานกับสามจังหวัดมานานแล้ว ก็เชื่อมันว่าเรามีประสบการณ์ตรงนี้ คิดว่าน่าจะมีโอกาสได้กลับไปทำงาน และมีความเป็นอิสระมากขึ้น อาจจะได้ทำอะไรได้มากขึ้นกว่าตอนที่เป็นกสม."
อังคณา ยังฝากขอบคุณทุกกำลังใจที่ส่งถึงเธอ ทำให้เธอได้รู้ว่าไม่ได้ต่อสู้อยู่เพียงลำพัง
"ต้องขอบคุณมากที่ไว้วางใจ ยอมรับว่าไม่ง่ายเลยที่จะทำงานในพื้นที่ภาคใต้ เจ้าหน้าที่เองก็ไม่ค่อยเข้าใจเท่าไหร่ แต่เราถือว่าเรายืนอยู่ข้างผู้เสียหายมาตลอด ผู้ที่ถูกละเมิดสิทธิ์ทุกคนไม่ว่าจะนับถือศาสนาใด เรายืนอยู่เคียงข้างทุกคน ก็หวังว่าจะได้กลับไปทำงานในภาคใต้อีกครั้งหนึ่ง ซึ่งจะเป็นบทบาทใหม่"
การทำงานด้านสิทธิมนุษยชนในพื้นที่พิเศษซึ่งมีการบังคับใช้กฎหมายพิเศษ และมีข้อยกเว้นให้กับปฏิบัติการของฝ่ายความมั่นคงมากมาย ทำให้ผู้ตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชนดูเหมือนเป็นฝ่ายตรงข้ามของหน่วยงานรัฐ เจ้าหน้าที่บางรายมองว่าเธอเป็นศัตรู
แต่เมื่อถามความรู้สึกของโฆษกกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า พ.อ.ปราโมทย์ พรหมอินทร์ ที่ทั้งเคยเผชิญหน้าและร่วมงานกับอังคณามานาน กลับได้รับคำตอบว่าเขารู้สึกเสียดาย"
ได้ทราบข่าวแล้วก็รู้สึกเสียดายมากๆ ส่วนตัวชื่นชมการทำงานของทั้งสองท่าน (กรรมการที่ลาออกอีกคนคือ เตือนใจ ดีเทศน์) เพราะทั้งสองทำหน้าที่เป็นกรรมการสิทธิ์ได้ดี และติดตามสถานการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มาอย่างต่อเนื่องยาวนาน"
พ.อ.ปราโมทย์ เล่าว่า การทำงานของอังคณา เน้นการประสานงานและให้คำแนะนำที่ดีกับฝ่ายความมั่นคง
"คุณอังคณาทำงานประสานงานกับเจ้าหน้าที่ได้ดี แล้วก็ให้คำแนะนำที่เป็นประโยชน์ อย่างในเรื่องของการแก้ไขปัญหาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ในประเด็นสิทธิมนุษยชน ที่ผ่านมาเมื่อมีประเด็นของการร้องเรียน ก็ต้องยอมรับว่าเราทำงานยาก เพราะคนร้องก็ร้องไปทั่วทุกช่องทาง แต่ทางกรรมการสิทธิ์ก็ประสานงานได้ทั้งหมด และประสานมาที่เราด้วยเพื่อให้มีการตรวจสอบ และทำหน้าที่ในการชี้แจงผลการตรวจสอบในอีกมิติหนึ่ง"
"ถ้าถามความเห็นส่วนตัวก็รู้สึกเสียดาย ตอนเกิดเหตุนายอับดุลเลาะก็โทรคุยกัน ถามว่าทำไมไม่ได้มาติดตามเรื่องพวกนี้ ก็ได้คำตอบว่าลาออกแล้ว และก็เพิ่งรู้ว่าลาออก ก็หวังว่าหลังจากนี้จะได้ทำงานร่วมกันอีก เพราะต้องตรวจสอบประเด็นการละเมิดต่างๆ ที่มีการร้องเรียนร้องทุกข์ตลอดอยู่แล้ว"
ด้านความเห็นของชาวบ้านในพื้นที่อย่าง วันเพ็ญ จันทร์มณี ชาวจังหวัดยะลา บอกว่า ทุกครั้งที่ชาวบ้านประสบปัญหาด้านสิทธิมนุษยชน ก็จะเรียกหานักสิทธิ์อย่างอังคณา เพื่อให้เข้ามาเป็นคนกลางหรือเป็นผู้ที่ร่วมตรวจสอบข้อเท็จจริงให้ชาวบ้าน
"ชัดเจนว่าชาวบ้านที่นี้ต้องการคุณอังคณา ไว้วางใจ แม้แต่คนที่นับถือศาสนาพุทธก็ยังรู้สึกดี เขาเข้ามาช่วยทุกคนทุกกลุ่ม ส่วนคนอิสลามแน่นอนอยู่แล้ว เพราะเขามีบทบาท รวมทั้งสมัยสามีเขาที่ทำหน้าที่ทนายความด้วย"
วันเพ็ญ บอกทิ้งท้ายว่าชาวบ้านทราบดีถึงความยากลำบากในการทำงานด้านสิทธิมนุษยชนในพื้นที่พิเศษแบบนี้ จึงขอส่งกำลังใจให้เดินหน้าทำงานต่อไป แม้จะในบทบาทอื่นก็ตาม...
เพราะยุคนี้แม้จะมีเทคโนโลยีทันสมัย แต่ก็ยากที่จะทำความจริงให้ปรากฏ!
----------------------------------------------------------------------------------------------------
ขอบคุณ : ภาพประกอบจากเฟซบุ๊ค Angkhana Neelapaijit