คนซอยร่วมฤดียื่นคัดค้านการรังวัดซ้ำซ้อน-รร.ดิเอทัส ยังไม่รื้อ
คนซอยร่วมฤดี ยื่นขอคัดค้าน สำนักงานที่ดิน กรุงเทพมหานคร ตรวจรังวัดที่สาธารณะประโยชน์ ระบุชัด พื้นที่ในซอยเคยทำการรังวัดมาหลายครั้งแล้ว ขณะที่โรงแรมเอทัสฯ มีแค่ปิดป้าย ยังไม่มีการรื้อถอนแต่อย่างใด
จากคดีที่ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งยืนตามศาลปกครองกลาง ไม่รับคำร้องของบริษัท ลาภประทาน จำกัด และบริษัท ทับทิมทร จำกัด ซึ่งเป็นเจ้าของโรงแรมดิเอทัส บางกอก และเซอร์วิสอพาร์ตเมนต์ ดิ เอทัส เรสซิเดนซ์ ในซอยร่วมฤดี ที่ยื่นคำร้องคัดค้านคำสั่งควบคุมอาคารโรงแรมดิเอทัส เมื่อวันที่ 22 ก.ย. 2561 ทำให้ กทม. ต้องดำเนินการรื้อถอนอาคารดังกล่าวต่อไปนั้น
ล่าสุดผู้สื่อข่าวรายงานความคืบหน้า หลังจากได้มีการเปลี่ยนผู้อำนวยการเขตปทุมวัน ต่อมาผู้อำนวยการเขตฯ ได้ไปยื่นเรื่องต่อสำนักงานที่ดิน กรุงเทพมหานคร เพื่อขอรังวัดที่ดินอีกครั้ง และสำนักงานที่ดิน กรุงเทพมหานคร ได้แจ้งเจ้าของที่ดินในซอยร่วมฤดี ตั้งแต่ปากซอยร่วมฤดีว่า จะทำการรังวัดตรวจสอบที่สาธารณะประโยชน์ในวันที่ 1 ส.ค. 2562 ทนายความเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค และเจ้าหน้าที่ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) พร้อมด้วยผู้ที่ได้รับความเสียหายจากการก่อสร้างอาคารสูงในซอยร่วมฤดี ได้เดินทางมาเพื่อยื่นขอคัดค้านการรังวัดที่ดินของสำนักงานเขตปทุมวัน พร้อมด้วยเหตุผลว่า สำนักงานเขตปทุมวันมีการขอทำรังวัดซ้ำซ้อนในส่วนที่เคยทำการรังวัดมาหลายครั้งแล้ว โดยขอชี้แจงเป็นข้อๆ ดังนี้
1. เขตปทุมวันเคยมีหนังสือถึงสำนักงานที่ดินกรุงเทพมหานคร ให้รังวัดที่ดินจากปากซอยร่วมฤดี ด้านถนนเพลินจิต เลยซอยร่วมฤดี 2 ไปจนถึงที่ตั้งโรงแรมดิเอทัส ซึ่งทางสำนักงานที่ดิน กรุงเทพมหานคร ได้มีหนังสือตอบไปยังเขตปทุมวันว่า ความกว้างของเขตทางของซอยร่วมฤดีนั้นมีภูมิประเทศเป็นเขตทางอยู่แล้ว จึงไม่ทำการรังวัดให้
2. เมื่อประมาณปลายปี 2550 ได้มีการรังวัด ในเขตซอยร่วมฤดีตั้งแต่ด้านถนนเพลินจิต ไปจนถึงโรงแรมดิเอทัสแล้ว
3. ในคดีหมายเลขดำที่ 1475/2551 หมายเลขแดงที่ 208/2555 คดีระหว่างนายแพทย์สงคราม ทรัพย์เจริญ ที่ 1 กับพวกรวม 24 คน ผู้ฟ้องคดี บริษัท ลาภประทาน จำกัด ที่ 1 กับพวกรวม 2 คน ผู้ร้องสอดผู้อำนวยการเขตปทุมวันที่ 1 และผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ที่ 1 ผู้ถูกฟ้องคดี ซึ่งมีประเด็นข้อพิพาทว่าซอยร่วมฤดี มีความกว้างเท่าใด ศาลจึงได้มีคำสั่งให้ รังวัดความกว้างของซอยร่วมฤดี นำมาเปรียบเทียบกับแผนที่ทางอากาศแล้วพบว่าตรงกันและคู่ความทุกฝ่ายร่วมทั้งสำนักงานเขตปทุมวัน และผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ก็ได้ลงชื่อรับรองความถูกต้องของการรังวัดดังกล่าว
4. ในคดีหมายเลขดำที่ 931/2558 คดีหมายเลขแดงที่ 1313/2558 คดีระหว่าง บริษัท ลาภประทาน จำกัด ที่ 1 กับพวกรวม 2 คน ผู้ฟ้องคดี นางสุภาวดี ชัยชนะวงศ์ ที่ 1 กับพวกรวม 9 คน ผู้ร้องสอด ผู้อำนวยการเขตปทุมวัน ที่ 1 และผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ที่ 1 ผู้ถูกฟ้องคดี โดยกล่าวหาว่าผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง 2 ละเลยต่อหน้าที่ที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ ปล่อยให้ผู้ร้องสอดกับพวกรุกล้ำทางสาธารณะซอยร่วมฤดี ศาลปกครองกลางจึงได้มีคำสั่งให้รังวัด ที่ดินในซอยร่วมฤดีอีกครั้งหนึ่ง ผลปรากฏว่า เนื้อที่ที่ดินคงเดิมตามโฉนด ไม่ได้รุกล้ำและได้ความกว้างของซอยร่วมฤดี เป็นไปตามข้อ 3. ที่เคยรังวัดไว้
ทางด้านนางนฤมล เมฆบริสุทธิ์ หัวหน้าศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า ทางมูลนิธิฯได้รับการติดต่อจากผู้ร้องเรียนในซอยร่วมฤดี เนื่องจากสำนักงานที่ดินจะทำการรังวัดที่ดินในซอยร่วมฤดี ตั้งแต่ปากซอยร่วมฤดี ที่ได้รับการร้องขอให้ทำรังวัดที่ดินจากกรุงเทพมหานคร โดยอ้างสาเหตุว่า พื้นที่ของสถานฑูตอเมริการุกล้ำที่ดินสาธารณะ ซึ่งทางมูลนิธิฯ และกลุ่มผู้ร้องเรียนนั้นมองเห็นว่า ไม่มีเหตุผลเพียงพอที่ควรรังวัดที่ดินใหม่ เนื่องจากมีการรังวัดมาหลายครั้งแล้ว อีกทั้งการอนุญาตให้ใช้สถานที่เป็นการอนุญาตโดยสำนักงานเขต และก่อนที่จะมีการเปิดใช้อาคารต่างๆ ที่มีการขออนุญาตก่อสร้าง สำนักงานเขตจะต้องมีการตรวจสอบก่อนที่จะอนุญาตให้ใช้ว่าเป็นไปตามแบบหรือมีการรุกล้ำที่สาธารณะหรือไม่ สิ่งนี้จึงเป็นอำนาจหน้าที่ของเขตที่ต้องลงพื้นที่มาตรวจสอบก่อนจะมีการอนุญาตให้ใช้ จึงอยากให้สำนักงานเขตมีการบูรณาการการทำงานกับกลุ่มที่จะขอมาตรวจสอบ หากจะต้องทำรังวัดจริงๆ ควรจะเป็นรังวัดจากพื้นที่มีการร้องเรียนไปมากกว่าการมาทำรังวัดใหม่ทั้งซอย
หัวหน้าศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค กล่าวเพิ่มเติมว่า เรื่องที่มีผู้ร้องเรียนไปนั้นเป็นผู้ร้องเรียนที่มีรายชื่ออยู่ในกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในกรุงเทพมหานคร (กอ.รมน.กทม.) ซึ่งไม่ทราบว่า หน่วยงานดังกล่าวมีความเกี่ยวข้องอะไรกับเรื่องนี้และทำไมถึงต้องลงมาตรวจสอบเอง ในเมื่อเป็นพื้นที่เคยมีการตรวจสอบไปตั้งแต่ต้นแล้วด้วย แต่อย่างไรก็ตาม ตอนนี้ทางเจ้าหน้าที่ของ กอ.รมน.กทม. แจ้งว่าจะนำเรื่องดังกล่าวไปรายงานและอาจมีการเชิญผู้ที่เกี่ยวข้องทุกส่วนมาร่วมประชุมเพื่อหาข้อยุติร่วมกันหรือมีแนวทางในการแก้ไขปัญหาเรื่องนี้ร่วมกัน
ในส่วนเรื่องการรื้อถอนโรงแรมดิเอทัส ที่ศาลมีคำสั่งให้ดำเนินการนั้น ขณะนี้ยังไม่มีการดำเนินการรื้อถอนใดๆ รวมทั้งยังมีการใช้อาคารอีกด้วย