คสรท.จี้ ‘ม.ร.ว.จัตุมงคล’ ปรับค่าจ้างขั้นต่ำเท่ากันทั้งประเทศ
ตัวแทนแรงงานเกือบ 100 คน เข้าพบ ‘ม.ร.ว.จัตุมงคล’ จี้ดำเนินการตามข้อเรียกร้อง 10 ข้อ ระยะเร่งด่วนให้ปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำตามนโยบายหาเสียง 425 บาท/วัน ‘รองปธ.คสรท.’ แนะรัฐปูพรมตรวจโรงงานขนาดเล็ก หลังทีดีอาร์ไอเผยตัวเลข 4 ล้านคน ได้เงินต่ำกว่ากม.กำหนด
วันที่ 1 ส.ค. 2562 ที่กระทรวงแรงงาน คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) ร่วมกับสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) เกือบ 100 คน นำโดย นายสมพร ขวัญเนตร ประธาน คสรท. เดินทางเข้าพบ ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน (รมว.แรงงาน) เพื่อหารือเกี่ยวกับข้อเรียกร้องจำนวน 10 ข้อ ที่เคยยื่นไว้กับรัฐบาลชุดที่ผ่านมา เมื่อปี 2560
นายสมพร ขวัญเนตร ประธาน คสรท. กล่าวว่า การเข้าพบ ม.ร.ว.จัตุมงคล ในครั้งนี้ หนึ่งในข้อเรียกร้อง คือ ยืนยันให้กระทรวงแรงงานยกระดับประเด็นค่าจ้างให้เป็นมาตรฐานสากล โดยค่าจ้างต้องสามารถดูแลคนได้ และควรเท่ากันทั้งประเทศ เช่นเดียวกับลูกจ้างภาครัฐที่มีหลักเกณฑ์การปรับขึ้นเท่ากันและถึงแม้ว่าปัจจุบันช่องว่างของโครงสร้างค่าจ้างจะแคบลงแล้ว แต่ยังมีความเหลื่อมล้ำกันอยู่
“วันนี้อาจไม่ได้มากระทุ้งกันมากมาย เนื่องจาก ม.ร.ว.จัตุมงคล เพิ่งเข้ามารับหน้าที่ใหม่ บางคนอาจวิพากษ์วิจารณ์ แต่ ต้องให้เกียรติกัน ไม่ว่าท่านจะมาจากสายไหน อย่างไรก็ตาม มีความเชื่อมั่นว่า คณะรัฐบาลคัดสรรมาแล้วว่า คงเข้ามาทำหน้าที่ได้” ประธาน คสรท. กล่าว
ด้าน นายชาลี ลอยสูง รองประธาน คสรท. กล่าวเพิ่มเติมถึงแนวความคิดให้รัฐจ่ายสมทบประกันสังคมแทนแรงงานนั้น คิดว่าเป็นไปไม่ได้ เพราะไม่ใช่นโยบายของรัฐ แต่เป็นนโยบายของภาคอุตสาหกรรมที่ต้องการหลีกเลี่ยงการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ ขณะที่นโยบายของพรรคการเมืองให้มีการประกันรายได้ 10,000 บาท/เดือน ถือเป็นเรื่องเดียวกันกับค่าจ้างขั้นต่ำ ในกรณีที่แรงงานมีรายได้ไม่ถึง รัฐจะจ่ายสมทบส่วนขาดให้ ซึ่งต้องติดตามว่าจะทำได้หรือไม่
ส่วนข้อมูลของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) นำเสนอไว้ในเวทีเสวนาสาธารณะ (อ่านประกอบ:ทีดีอาร์ไอแนะรัฐเลี่ยงประกันรายได้ 1 หมื่น ช่วยค่าแรง หวั่นเป็นภาระ-พื้นที่คลังตึงตัว) ปัจจุบันมีแรงงานสูงถึง 4 ล้านคน หรือร้อยละ 27 ได้รับค่าแรงต่ำกว่าที่กฎหมายกำหนด รองประธาน คสรท. กล่าวว่าปัญหาดังกล่าวเกิดขึ้นมานานแล้ว ส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นกับโรงงานอุตสาหกรรมขนาดเล็ก หากแรงงานไม่ยินยอม จะถูกเลิกจ้าง ทำให้หลายคนต้องยอมรับสภาพและไม่กล้าร้องเรียนต่อหน่วยงานภาครัฐ ดังนั้น รัฐจะต้องทำงานเชิงรุกลงพื้นที่ปูพรมตรวจสอบโรงงานอุตสาหกรรมที่กระทำผิดดังกล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการเข้าพบ ม.ร.ว.จัตุมงคล ในครั้งนี้ มีข้อเสนอเร่งด่วนเกี่ยวกับการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ ให้รัฐดำเนินการปรับค่าจ้างขั้นต่ำตามที่ได้หาเสียงไว้กับประชาชนเป็นกรณีเร่งด่วน 425 บาท/วัน พร้อมกับควบคุมราคาสินค้าที่จำเป็นต่อการดำรงชีพไม่ให้สูงเกินจริงสอดคล้องกับการปรับ และต้องกำหนดโครงสร้างค่าจ้างและปรับขึ้นทุกปี ตามสภาวะค่าครองชีพที่สูงขึ้นและครอบคลุมลูกจ้างทุกสาขาอาชีพ
ขณะที่เมื่อวานนี้ (31 ก.ค. 2562) นายสุทธิ สุโกศล ปลัดกระทรวงเเรงงาน ระบุอัตราค่าจ้างตัวเลขเดิมที่คณะกรรมการค่าจ้างจังหวัดเเต่ละจังหวัดเคยเสนอให้ปรับขึ้น 2-10 บาทนั้น อาจน้อยเกินไป เนื่องจากเป็นตัวเลขที่สำรวจมานาน 1 ปีเเล้ว อย่างไรก็ตาม ค่าจ้าง 400 บาท/วัน ยอมรับว่ากดดันเช่นกันในการพิจารณา
สำหรับข้อเรียกร้อง 10 ข้อ ที่เคยยื่นถึงพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในวันกรรมกรสากล ปี 2560 มีดังต่อไปนี้
1.รัฐต้องจัดให้มีรัฐสวัสดิการถ้วนหน้าที่มีคุณภาพให้ประชาชนทุกคน ได้เข้าถึงอย่างเท่าเทียม โดยไม่เลือกปฏิบัติ
-ด้านสาธารณสุข ประชาชนทุกคนเข้าถึงการรักษาพยาบาลที่มีคุณภาพและไม่มีค่าใช้จ่าย
-ด้านการศึกษาตามความต้องการในทุกระดับ โดยไม่มีค่าใช้จาย
2.รัฐต้องกำหนดค่าจ้างแรงงานที่เป็นธรรมให้ครอบคลุมผู้ใช้แรงงานทุกภาคส่วน
-กำหนดนิยามค่าจ้างขั้นต่ำแรกเข้าที่มีรายได้เพียงพอต่อการเลี้ยงตนเองและครอบครัวอีก 2 คน ตามหลักการขององค์การแรงงานระหว่างประเทศและต้องเท่ากันทั้งประเทศ
-กำหนดให้มีโครงสร้างค่าจ้างและปรับค่าจ้างทุกปี
3.รัฐต้องให้สัตยาบันอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 87 ว่าด้วยเสรีภาพในการสมาคมและการคุ้มครองสิทธิในการรวมตัวกัน และอนุสัญญาฯ ฉบับที่ 98 ว่าด้วยการปฏิบัติตามหลักการแห่งสิทธิในการรวมตัวและการร่วมเจรจาต่อรอง เพื่อสร้างหลักประกันในการรวมตัวและการเจรจาต่อรองและอนุสัญญาฯ ฉบับที่ 183 ว่าด้วยการคุ้มครองความเป็นมารดา (ตามรัฐธรรมนูญ หมวด 3 มาตรา 48)
4.รัฐต้องปฏิรูปรัฐวิสาหกิจ เพื่อให้เกิดการพัฒนาศักยภาพรัฐวิสาหกิจในการให้บริการที่ดี มีคุณภาพ เพื่อประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน
-ยกเลิกนโยบายการแปรรูปรัฐวิสาหกิจและการแปลงสภาพรัฐวิสาหกิจทุกรูปแบบ
-จัดตั้งกองทุนพัฒนารัฐวิสาหกิจ
-ให้มีการบริหารจัดการที่โปร่งใส ตรวจสอบได้และมีส่วนร่วมจากภาคส่วนต่าง ๆ
5.รัฐต้องยกเลิกนโยบายว่าด้วยการลดสวัสดิการพนักงานรัฐวิสาหกิจและครอบครัว
6.รัฐต้องปฏิรูประบบประกันสังคม
-ปฏิรูปโครงสร้างการบริหารงานสำนักงานประกันสังคมให้เป็นอิสระ โปร่งใส ตรวจสอบได้ และให้ผู้ประกันตนมีส่วนร่วม
-จ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมในสัดส่วนที่เท่ากันระหว่างรัฐ นายจ้าง ลูกจ้าง ตามหลักการของพ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ. 2533 และนำส่งเงินสมทบที่รัฐบาลค้างจ่ายให้เต็มจำนวน
-เพิ่มสิทธิประโยชน์ผู้ประกันตน มาตรา 40 ให้เท่ากับมาตรา 33
-เพิ่มสิทธิประโยชน์ชราภาพ 50% ของเงินเดือนสุดท้าย
-ให้สำนักงานประกันสังคมประกาศใช้อนุบัญญัติทั้ง 17 ฉบับที่ออกตาม พ.ร.บ.ประกันสังคม ฉบับแก้ไข ปี 2558
-ขยายกรอบเวลาการเข้าถึงสิทธิประโยชน์ในกองทุนเงินทดแทน จนสิ้นสุดการรักษาตามคำวินิจฉัยของแพทย์
7.รัฐต้องดูแลให้มีการปฏิบัติตามและบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด กรณีที่นายจ้างไม่จ่ายค่าชดเชยตามกฎหมาย เช่น ปิดกิจการ หรือยุบเลิกกิจการในทุกรูปแบบ
8.รัฐต้องจัดตั้งกองทุนประกันความเสี่ยงจากการลงทุนโดยให้นายจ้างจ่ายเงินเข้ากองทุนเพื่อเป็นหลักประกันในการคุ้มครองสิทธิแรงงาน เมื่อมีการเลิกจ้างหรือเลิกกิจการไม่ว่ากรณีใดก็ตาม ผู้ใช้แรงงานมีสิทธิได้รับเงินชดเชยจากกองทุน รวมทั้งการสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างได้
9.รัฐต้องเร่งรัดให้มีการพัฒนากลไกการเข้าถึงสิทธิ การบังคับใช้ พ.ร.บ.ความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. 2554 อย่างจริงจัง ภายใต้การมีส่วนร่วมของกลุ่มผู้ใช้แรงงานทุกภาคส่วน และยกเลิกการใช้แร่ใยหินทุกรูปแบบ
10.รัฐต้องจัดสรรเงิบงบประมาณให้กับสถาบันความปลอดภัยฯ เพื่อใช้ในการบริหารจัดการเรื่องความปลอดภัยให้มีประสิทธิภาพ
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/