เปิดตัวผู้บริหาร3บ.ขายน้ำยางทำถนนบิ๊กตู่หมื่นล.-ไขข้อมูล 'สุทิน' ใครกันแน่เสียผลปย.?
"...มาตรฐานการขึ้นทะเบียนรับรองน้ำยางแบบเก่าที่ทำกันมานั้น นอกจากบริษัทในเครือของสยามโพลิเมอร์ทั้ง 3 บริษัทแล้ว ยังมีบริษัทอื่นอีกจำนวน 7 บริษัทที่เข้าหลักเกณฑ์ด้วย แต่ในปัจจุบันมีการกำหนดมาตรฐานใหม่ขึ้นมา ว่าจะต้องมีการตรวจโรงงานและตรวจลงลึกไปถึงขั้นตอนการทำน้ำยางด้วยว่ามีกระบวนการผลิตน้ำยางจริงหรือไม่ ทำให้บริษัทที่ผ่านมาตรฐานการขึ้นทะเบียนน้ำยางในปัจจุบัน มีเพียงแค่ 3 บริษัทในเครือสยามโพลิเมอร์เท่านั้น..."
ยังเป็นประเด็นร้อนที่สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ติดตามตรวจสอบข้อมูลเชิงลึกอย่างต่อเนื่อง
เกี่ยวกับการดำเนินงานโครงการแก้ไขปัญหาราคายางพาราตกต่ำที่ใช้งบประมาณวงเงินนับหมื่นล้านบาท ของ รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี โดยการสนับสนุนให้มีการนำยางไปทำถนน ที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์เรื่องการกำหนดให้หน่วยงานท้องถิ่นต้องรับซื้อยางจากบริษัทเอกชน 3 ราย ซึ่งมีความสัมพันธ์เชื่อมโยงเป็นกลุ่มเดียวกัน ที่อยู่ในความรับผิดชอบของการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ซึ่งเป็นหน่วยงานภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
ขณะที่ สำนักข่าวอิศรา ตรวจสอบข้อมูล บริษัท โพลิเมอร์ อินโนเวชั่น จำกัด บริษัท สยามนวกรรม จำกัด และ บริษัท ไทย อีลาสโตพาร์ท จำกัด พบว่า มีความสัมพันธ์เชื่อมโยงเป็นบริษัทกลุ่มเดียวกันจริง อาทิ แจ้งที่อยู่บริเวณใกล้เคียงกัน ขณะที่กรรมการผู้ถือหุ้น บางบริษัทเป็นกลุ่มเดียวกัน เช่น นางสาว ชนม์นาถ วุฒิชาญ กรรมการผู้ถือหุ้นใหญ่บริษัท ไทย อีลาสโตพาร์ท จำกัด มีนามสกุลเดียวกับ นาย ชัยอรุณ วุฒิชาญ กรรมการผู้ถือหุ้นใหญ่บริษัท โพลิเมอร์ อินโนเวชั่น จำกัด
โดยเบื้องต้น สำนักข่าวอิศรา ตรวจสอบข้อเท็จจริงจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้รับการยืนยันว่า บทบาทหน้าที่ของ กยท. ในการดำเนินงานโครงการนี้ คือ การรับรองเอกชนผู้ผลิตสารผสมที่ผ่านการตรวจสอบมาตรฐานในการนำไปผสมสารน้ำยางพารา เพื่อให้น้ำยางมีคุณสมบัติที่ดีสามารถนำไปใช้ราดถนนได้ ส่วนการจัดซื้อจัดจ้างทำโครงการถนน เป็นอำนาจหน้าที่ของแต่ละหน่วยงาน กยท. ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องแต่อย่างใด
ปัจจุบัน มีผู้ผลิตสารผสมที่มีน้ำยางพาราผสมเพิ่มเติม ถูกตรงตามหลักเกณฑ์ทุกประการที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน แค่จำนวน 3 ราย และ กยท.ประกาศรายชื่อรับรองเป็นทางการไปแล้ว ประกอบไปด้วย 1. บริษัท โพลิเมอร์ อินโนเวชั่น จำกัด 2. บริษัท สยามนวกรรม จำกัด และ 3. บริษัท ไทย อีลาสโตพาร์ท จำกัด ส่วนบริษัทอื่นๆ อยู่ระหว่างยื่นคำรองขอรับรองมาตรฐาน และไม่ได้มีการบังคับให้ที่หน่วยงานใดจะต้องมาซื้อสินค้ากับบริษัทที่ผ่านการรับรองจากคณะกรรมการพิจารณาการรับรองมาตรฐานวัสดุน้ำยางพาราผสมสารผสมเพิ่มและสารผสมเพิ่ม สำหรับการก่อสร้างถนนดินซีเมนต์ปรับปรุงคุณภาพด้วยยางธรรมชาติ ที่แต่งตั้งโดยกระทรวงเกษตรฯ เท่านั้น
ล่าสุด สำนักข่าวอิศรา ได้เดินทางไปติดต่อขอสัมภาษณ์ ผู้บริหารบริษัทเอกชนทั้ง 3 ราย หลังจากที่ตรวจสอบพบว่า เป็นบริษัทกลุ่มเดียวกัน และแจ้งที่ตั้งอยู่บริเวณเดียวกันในซอยโชคมงคล
โดย บริษัท โพลิเมอร์ อินโนเวชั่น จำกัด แจ้งที่ตั้ง 75/1-7 หมู่ที่ 5 ถนนบางกรวย-ไทรน้อย ตำบลบางบัวทอง อำเภอบางบัวทอง จังหวัดนนทบุรี ส่วน บริษัท สยามนวกรรม จำกัด แจ้งที่ตั้ง 71/30-31 หมู่ที่ 5 ถนนบางกรวย-ไทรน้อย ตำบลบางบัวทอง อำเภอบางบัวทอง จังหวัดนนทบุรี และ บริษัท ไทย อีลาสโตพาร์ท จำกัด แจ้งที่ตั้ง 71/29 หมู่ที่ 5 ตำบลบางบัวทอง อำเภอบางบัวทอง จังหวัดนนทบุรี
เมื่อเดินทางไปถึงที่ตั้งบริษัท โพลิเมอร์ อินโนเวชั่น จำกัด คือ 75/1-7 หมู่ที่ 5 ถนนบางกรวย-ไทรน้อย ตำบลบางบัวทอง อำเภอบางบัวทอง จังหวัดนนทบุรี พบว่ามีป้ายชื่อบริษัททั้ง 3 แห่ง ติดอยู่หน้าบริเวณทางเข้าในซอยโชคมงคลชัดเจน (ดูรูปประกอบ)
ขณะที่ นายชัยอรุณ วุฒิชาญ กรรมการผู้มีอำนาจบริษัทโพลิเมอร์ฯ ให้สัมภาษณ์ชี้แจงข้อมูลเกี่ยวกับที่มาที่ไปของทั้ง 3 บริษัท และการยื่นเรื่องขอรับรองมาตราสารผสมน้ำยางพารา ที่ใช้ทำถนนตามที่ปรากฎเป็นข่าว
นายชัยอรุณ ชี้แจงว่า ตนได้เปิดบริษัทโพลิเมอร์ อินโนเวชั่น เมื่อประมาณปี 2533-2534 ขณะนั้น มีผู้ถือหุ้นประมาณ 4 ราย หลังจากทำธุรกิจไปช่วงหนึ่ง ก็เกิดปัญหาขัดแย้งกัน จึงไปเปิดบริษัทสยามนวกรรมขึ้นมาทำธุรกิจรวมกับนายรุ่งเรือง ชูชาติ แต่ผ่านไปพอเวลาผ่านไป บริษัทโพลิเมอร์ อินโนเวชั่น เกิดปัญหาธุรกิจขึ้น ตนก็เลยกลับมาเทคโอเวอร์บริษัทโพลิเมอร์ อินโนเวชั่น เพื่อทำธุรกิจใหม่อีกครั้ง
ส่วนที่มาของบริษัท ไทย อีลาสโตพาร์ท จำกัด เกิดขึ้นจากการที่มีเพื่อนชวนร่วมหุ้นทำธุรกิจบริษัทยางอัด ซึ่งตนก็ไปร่วมหุ้นทำด้วย เพราะต้องการจะขยายกิจการ แต่เมื่อทำไปได้สักระยะ เพื่อนก็ทิ้งกิจการไป ตนเลยต้องเข้าไปดูแลธุรกิจบริษัท ไทย อีลาสโตพาร์ท จำกัด ต่อ
สำหรับประเด็นเกี่ยวกับคุณภาพสินค้าของบริษัท และการยื่นเรื่องขอรับรองมาตรฐานสารผสมน้ำยางพารา ที่ใช้ทำถนนตามที่ปรากฎเป็นข่าว
นายชัยอรุณ ยืนยันว่า น้ำยางพาราของบริษัทฯ เป็นนวัตกรรมที่ถูกต้องตามมาตรฐานผ่านการขึ้นทะเบียนรับรองมาโดยตลอด
อย่างไรก็ดี มาตรฐานการขึ้นทะเบียนรับรองน้ำยางแบบเก่าที่ทำกันมานั้น นอกจากบริษัทในเครือของสยามโพลิเมอร์ทั้ง 3 บริษัทแล้ว ยังมีบริษัทอื่นอีกจำนวน 7 บริษัทที่เข้าหลักเกณฑ์ด้วย
แต่ในปัจจุบันมีการกำหนดมาตรฐานใหม่ขึ้นมา ว่าจะต้องมีการตรวจโรงงานและตรวจลงลึกไปถึงขั้นตอนการทำน้ำยางด้วยว่ามีกระบวนการผลิตน้ำยางจริงหรือไม่ ทำให้บริษัทที่ผ่านมาตรฐานการขึ้นทะเบียนน้ำยางในปัจจุบัน มีเพียงแค่ 3 บริษัทในเครือสยามโพลิเมอร์เท่านั้น
“พูดง่ายๆถ้าตามมาตรฐานเก่า คุณมาซื้อน้ำยางจากบริษัทผมไป คุณก็สามารถเอาไปขึ้นทะเบียนได้แล้ว โดยไม่มีการตรวจสอบในรายละเอียด แต่ถ้าเป็นมาตรฐานใหม่นั้น เขาจะต้องตรวจลงลึกไปด้วยว่าบริษัทได้มีการทำน้ำยางกันจริงหรือไม่"
นายชัยอรุณ ยังระบุด้วยว่า ส่วนที่นายสุทิน กล่าวอ้างว่า มีบริษัทอื่นๆได้รับการรับรองนอกเหนือจาก 3 บริษัทของตนด้วยนั้น เข้าใจว่าคงหมายถึงบริษัทที่ได้รับการรับรองการขึ้นทะเบียนน้ำยางตามมาตรฐานเก่าที่ไม่ได้มีการตรวจโรงงานด้วย
ทั้งนี้ ในระหว่างการให้สัมภาษณ์ นายชัยอรุณ ยังได้นำตัวอย่างน้ำยางพารา มาให้ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา ตรวจสอบคุณภาพ โดยการทดลองคนน้ำยางของบริษัทที่มีชื่อว่าน้ำยาง NRPB กับน้ำยางธรรมดา ที่จะนำมาผสมกับปูนซีเมนต์ โดยเมื่อผสมน้ำยางกับปูนซีเมนต์ไปแล้วพบว่าน้ำยาง NRPB สามารถผสมเข้ากับปูนซีเมนต์ได้เป็นเนื้อเดียวกัน แต่ว่าน้ำยางธรรมดาเมื่อผสมกับปูนซีเมนต์ ปรากฏว่าปูนซีเมนต์จับตัวเป็นก้อน (ดูภาพประกอบ)
นายชัยอรุณ ยังกล่าวทิ้งท้ายว่า "ข้อมูลและที่ไปที่มาของเรื่องนี้ ที่นายสุทินนำมาอภิปรายในรัฐสภานั้น น่าจะมาจากกรณีที่มีบริษัทน้ำยางแห่งหนึ่ง ที่น่าจะเคยซื้อน้ำยางแล้วไปขายต่อให้กับบริษัทซึ่งเป็นผู้รับเหมาในการทำถนนให้กับกรมชลประทาน มาร้องเรียนว่ามีการผูกขาดกัน"
"เพราะในช่วงหลังกรมชลประทานได้มีการเปลี่ยนแปลงมาตรฐานและหลักเกณฑ์ในการก่อสร้างถนนใหม่ โดยยึดเอามาตรฐานของน้ำยางที่ใช้ทำถนนว่าจะต้องมีมาตรฐานแบบเดียวกับที่คณะกรรมการฯของกระทรวงเกษตรฯ กำหนด ก็ส่งผลทำให้บริษัทรับเหมาทำถนนที่เคยมีสัญญาซื้อขายกับทางกรมชลประทานนั้น ไม่สามารถทำสัญญาซื้อขายต่อได้ และทำให้บริษัทที่ขายน้ำยางให้กับบริษัทรับเหมาแห่งนี้เสียผลประโยชน์เช่นกัน เพราะไม่สามารถไปเบิกเงินกับทางบริษัทผู้รับเหมาได้แล้ว ดังนั้น ผู้ที่เสียผลประโยชน์ก็เลยเอากรณีดังกล่าวนั้นไปร้องต่อนายสุทินว่ามีการผูกขาดกันเกิดขึ้น" นายชัยอรุณระบุ
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/
อ่านประกอบ :
'สุทิน'แจงรูปแบบฮั้วซื้อน้ำยางทำถนนบิ๊กตู่หมื่นล.- ชี้เป้า กยท. เจาะจงรับรอง 3 บริษัท
ส่องกูเกิลดูที่ตั้ง 3 บ.ขายสารผสมถนนยาง! พนง.แจงเครือเดียวกัน มีสิทธิ์ขอยื่นรับรองคุณภาพ
เจาะคำสั่งเกษตรฯ ตั้งคกก.รับรองสารผสมถนนยาง-ก่อนเจอปม3 บ.'กก.-ผู้ถือหุ้น' กลุ่มเดียวกัน
เปิดแผนงานกองทัพ ใช้งบ 2.5 พันล. ทำถนนยางพารา-ให้กยท.ประมูลก่อนขายต่อ อปท.
'กก.-ผู้ถือหุ้น' กลุ่มเดียวกัน! เปิดข้อมูล3 บ.ขายน้ำยางทำถนนพาราฯ -กยท.ยันไม่มีล็อคสเปค