ชัดๆ หนังสือ กยท. แจ้งรายชื่อ3บ.ขายน้ำยางทำถนนบิ๊กตู่หมื่นล.ก่อนสุทินอ้างเข้าข่ายชี้นำ?
"....สำนักข่าวอิศรา สืบค้นข้อมูลพบว่า เมื่อวันที่ 7 พ.ค.2562 กยท.ได้ทำหนังสือแจ้งถึงอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) เพื่อแจ้งรายชื่อบริษัทเอกชน 3 ราย คือ บริษัท โพลิเมอร์ อินโนเวชั่น จำกัด บริษัท สยามนวกรรม จำกัด และ บริษัท ไทย อีลาสโตพาร์ท จำกัด ที่ผ่านการรับรองมาตรฐานวัสดุน้ำยางพาราผสมสารผสมเพิ่ม สำหรับการก่อสร้างถนนดินซีเมนต์ปรับปรุงคุณภาพด้วยยางธรรมชาติ ที่ผ่านการรับรองจาก คณะกรรมการพิจารณารับรองมาตรฐานวัสดุผลิตภัณฑ์ ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์แล้ว..."
พฤติการณ์ที่ส่อว่าจะมีการฮั้วเกิดขึ้นสำหรับกรณีนี้ ก็คือ การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ที่ส่งหนังสือแจ้งไปยังหน่วยงานเพื่อชี้นำให้ซื้อน้ำยางผสมสารจากบริษัทเอกชนที่ผ่านการรับรองมาตรฐานจากกยท. เท่านั้น แม้จะไม่มีการบังคับให้ซื้อกับทางบริษัทโดยตรง แต่ก็เป็นหนังสือที่มีลักษณะชี้นำ
คือ คำกล่าวอ้างของ นายสุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย ต่อ กรณีการดำเนินงานโครงการแก้ไขปัญหาราคายางพาราตกต่ำที่ใช้งบประมาณวงเงินนับหมื่นล้านบาท ของ รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี โดยการสนับสนุนให้มีการนำยางไปทำถนน ที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์เรื่องการกำหนดให้หน่วยงานท้องถิ่นต้องรับซื้อยางจากบริษัทเอกชน 3 ราย ซึ่งมีความสัมพันธ์เชื่อมโยงเป็นกลุ่มเดียวกัน (อ่านประกอบ : 'สุทิน'แจงรูปแบบฮั้วซื้อน้ำยางทำถนนบิ๊กตู่หมื่นล.- ชี้เป้า กยท. เจาะจงรับรอง 3 บริษัท)
น่าสนใจว่า หนังสือที่ กยท. ทำแจ้งถึงหน่วยงานให้ซื้อน้ำยางผสมสารจากบริษัทเอกชน ทั้ง 3 ราย มีจริงตามที่ นายสุทิน คลังแสง กล่าวอ้างหรือไม่
ล่าสุด สำนักข่าวอิศรา สืบค้นข้อมูลพบว่า เมื่อวันที่ 7 พ.ค.2562 กยท.ได้ทำหนังสือแจ้งถึงอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) เพื่อแจ้งรายชื่อบริษัทเอกชน 3 ราย คือ บริษัท โพลิเมอร์ อินโนเวชั่น จำกัด บริษัท สยามนวกรรม จำกัด และ บริษัท ไทย อีลาสโตพาร์ท จำกัด ที่ผ่านการรับรองมาตรฐานวัสดุน้ำยางพาราผสมสารผสมเพิ่ม สำหรับการก่อสร้างถนนดินซีเมนต์ปรับปรุงคุณภาพด้วยยางธรรมชาติ ที่ผ่านการรับรองจาก คณะกรรมการพิจารณารับรองมาตรฐานวัสดุผลิตภัณฑ์ ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์แล้ว (ดูหนังสือประกอบ)
ต่อมาเมื่อวันที่ 28 พ.ค.2562 สถ. ได้ทำหนังสือแจ้งเวียนไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด เพื่อให้รับทราบข้อมูลเกี่ยวกับรายชื่อบริษัทเอกชน 3 ราย คือ บริษัท โพลิเมอร์ อินโนเวชั่น จำกัด บริษัท สยามนวกรรม จำกัด และ บริษัท ไทย อีลาสโตพาร์ท จำกัด ตามที่ กยท.แจ้งข้อมูลให้รับทราบ (ดูหนังสือประกอบ)
อย่างไรก็ดี ก่อนหน้านี้ สำนักข่าวอิศรา ได้รับการเปิดเผยข้อมูลจากแหล่งข่าวระดับสูงในกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ว่า บทบาทหน้าที่ของ กยท. ในการดำเนินงานโครงการนี้ คือ การรับรองเอกชนผู้ผลิตสารผสมที่ผ่านการตรวจสอบมาตรฐานในการนำไปผสมสารน้ำยางพารา เพื่อให้น้ำยางมีคุณสมบัติที่ดีสามารถนำไปใช้ราดถนนได้ ส่วนการจัดซื้อจัดจ้างทำโครงการถนน เป็นอำนาจหน้าที่ของแต่ละหน่วยงาน กยท. ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องแต่อย่างใด
ปัจจุบัน มีผู้ผลิตสารผสมที่มีน้ำยางพาราผสมเพิ่มเติม ถูกตรงตามหลักเกณฑ์ทุกประการที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน แค่จำนวน 3 ราย และ กยท.ประกาศรายชื่อรับรองเป็นทางการไปแล้ว ประกอบไปด้วย 1. บริษัท โพลิเมอร์ อินโนเวชั่น จำกัด 2. บริษัท สยามนวกรรม จำกัด และ 3. บริษัท ไทย อีลาสโตพาร์ท จำกัด ส่วนบริษัทอื่นๆ อยู่ระหว่างยื่นคำรองขอรับรองมาตรฐาน และไม่ได้มีการบังคับให้ที่หน่วยงานใดจะต้องมาซื้อสินค้ากับบริษัทที่ผ่านการรับรองจากคณะกรรมการของกระทรวงเกษตรฯ เท่านั้น
ขณะที่ สำนักข่าวอิศรา ตรวจสอบข้อมูล บริษัท โพลิเมอร์ อินโนเวชั่น จำกัด บริษัท สยามนวกรรม จำกัด และ บริษัท ไทย อีลาสโตพาร์ท จำกัด พบว่า มีความสัมพันธ์เชื่อมโยงเป็นบริษัทกลุ่มเดียวกันจริง อาทิ แจ้งที่อยู่บริเวณใกล้เคียงกัน ขณะที่กรรมการผู้ถือหุ้น บางบริษัทเป็นกลุ่มเดียวกัน เช่น นางสาว ชนม์นาถ วุฒิชาญ กรรมการผู้ถือหุ้นใหญ่บริษัท ไทย อีลาสโตพาร์ท จำกัด มีนามสกุลเดียวกับ นาย ชัยอรุณ วุฒิชาญ กรรมการผู้ถือหุ้นใหญ่บริษัท โพลิเมอร์ อินโนเวชั่น จำกัด (อ่านประกอบ : ส่องกูเกิลดูที่ตั้ง 3 บ.ขายสารผสมถนนยาง! พนง.แจงเครือเดียวกัน มีสิทธิ์ขอยื่นรับรองคุณภาพ, เจาะคำสั่งเกษตรฯ ตั้งคกก.รับรองสารผสมถนนยาง-ก่อนเจอปม3 บ.'กก.-ผู้ถือหุ้น' กลุ่มเดียวกัน , 'กก.-ผู้ถือหุ้น' กลุ่มเดียวกัน! เปิดข้อมูล3 บ.ขายน้ำยางทำถนนพาราฯ -กยท.ยันไม่มีล็อคสเปค)
ขณะที่ เจ้าหน้าที่บริษัท โพลิเมอร์ อินโนเวชั่น จำกัด ให้ข้อมูลยืนยันว่า บริษัททั้ง 3 แห่ง เป็นบริษัทที่อยู่ในเครือเดียวกันและผลิตและจำหน่ายน้ำยางเหมือนกันจริง ส่วนสินค้าของบริษัทมีคุณภาพ ถูกต้องตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการพิจารณารับรองมาตรฐานวัสดุผลิตภัณฑ์ ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์กำหนด และกระบวนการทำงานของบริษัทเป็นไปตามคู่มือของคณะกรรมการพิจารณารับรองมาตรฐานวัสดุผลิตภัณฑ์และ กยท. ทุกประการ
“ทั้ง 3 บริษัทนั้น มีความรู้ความชำนาญหรือ Know How เหมือนกัน เรามีสิทธิ์ที่จะยื่นขอรับรองที่มีคุณภาพเหมือนกัน ขอยืนยันว่าเราไม่มีการฮั้วแต่อย่างใด อันที่จริงแล้วเรายังไม่ได้ประมูลอะไรเลย ตอนนี้เราแค่ขึ้นทะเบียนเฉยๆ เรายังไม่มีการขายอะไรเป็นล็อตใหญ่ๆเลย มีขายบ้างเล็กน้อย แต่ก็เอาน้ำยางขึ้นทะเบียนไปขายตามหลักเกณฑ์ของคณะกรรมการฯที่ได้มีการรับรองไว้” พนักงานบริษัทฯ ระบุ
ส่วนหนังสือ กยท.ฉบับนี้ จะเข้าข่ายชี้นำ ตามที่ นายสุทิน กล่าวอ้างหรือไม่ คงเป็นหน้าที่ของหน่วยงานที่มีส่วนรับผิดชอบโดยตรงที่จะต้องเป็นผู้ชี้แจงต่อสาธารณชนอีกครั้ง!
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/
อ่านประกอบ :
ส่องกูเกิลดูที่ตั้ง 3 บ.ขายสารผสมถนนยาง! พนง.แจงเครือเดียวกัน มีสิทธิ์ขอยื่นรับรองคุณภาพ
เจาะคำสั่งเกษตรฯ ตั้งคกก.รับรองสารผสมถนนยาง-ก่อนเจอปม3 บ.'กก.-ผู้ถือหุ้น' กลุ่มเดียวกัน
เปิดแผนงานกองทัพ ใช้งบ 2.5 พันล. ทำถนนยางพารา-ให้กยท.ประมูลก่อนขายต่อ อปท.
'กก.-ผู้ถือหุ้น' กลุ่มเดียวกัน! เปิดข้อมูล3 บ.ขายน้ำยางทำถนนพาราฯ -กยท.ยันไม่มีล็อคสเปค