ศาลตัดสินพินัยกรรม‘พล.ต.ต.เพ็ชร์’ฉบับ ‘ศักดิ์ชัย กาย’โมฆะ-ชี้ทำขณะสัมปชัญญะไม่สมบูรณ์
ศาลแพ่งพิพากษาให้พินัยกรรม ‘พล.ต.ต.เพ็ชร์ ณ ป้อมเพ็ชร์’ ฉบับ ‘ศักดิ์ชัย กาย’ เป็นโมฆะ ชี้ทำขณะสติสัมปชัญญะไม่สมบูรณ์ ก่อนหน้านี้ได้เช็คอย่างน้อย 2 ฉบับ 143 ล้าน
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า เมื่อวันที่ 5 ก.ค. 2562 ศาลแพ่งมีคำพิพากษา คดีที่ น.ส.นพมาศ ณ ป้อมเพ็ชร์ บุตร พล.ต.ต.เพ็ชร์ ณ ป้อมเพ็ชร์ เป็นโจทก์ นายศักดิ์ชัย กาย อดีตบรรณาธิการนิตยสารชื่อดัง LIPS เป็นจำเลย คดีข้อพิพาทเรื่องมรดกของ พล.ต.ต.เพ็ชร์
โดยศาลแพ่งพิพากษาว่า พินัยกรรมของ พล.ต.ต.เพ็ชร์ ณ ป้อมเพ็ชร์ ฉบับลงวันที่ 25 ธ.ค. 2546 เป็นโมฆะ ให้นายศักดิ์ชัย กาย ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 25,000 บาท และค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดี 5,000 บาท
รายละเอียดในคำพิพากษาระบุว่า น.ส.นพมาศ ณ ป้อมเพ็ชร์ เป็นบุตรของ พล.ต.ต.เพ็ชร์ และนางธนี พหลโยธิน ต่อมาเมื่อวันที่ 21 ม.ค. 2560 พล.ต.ต.เพ็ชร์ ถึงแก่ความตาย ต่อมาเมื่อวันที่ 24 ก.พ. 2560 นายศักดิ์ ชัยกาย จำเลย ซึ่งมิได้เป็นทายาทหรือมีส่วนได้เสียในทรัพย์มรดก ได้อ้างแบบพินัยกรรมเขียนเองทั้งฉบับว่า พล.ต.ต.เพ็ชร์ ได้ยกพินัยกรรมทรัพย์สินทั้งหมดให้นายศักดิ์ชัยแต่เพียงผู้เดียว
โจทก์ฟ้องว่า พินัยกรรมดังกล่าวทำขึ้นโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายเพราะขณะทำพินัยกรรม พล.ต.ต.เพ็ชร์ ผู้ตายมีอายุ 80 ปี และมีโรคประจำตัวร้ายแรงหลายโรค ผู้ตายต้องเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลหลายแห่ง อีกทั้งมีอาการป่วยทางจิต ไม่ปกติ จึงไม่มีสติสัมปชัญญะเพียงพอจะทำพินัยกรรมได้ นายศักดิ์ชัยได้อาศัยโอกาสที่ได้ใกล้ชิดผู้ตาย ใช้กลฉ้อฉลหลอกลวงให้ผู้ตายทำพินัยกรรมโดยผู้ตายไม่มีเจตนาทำพินัยกรรมยกทรัพย์สินให้จำเลย ทั้งลายมือชื่อในพินัยกรรมไม่ใช่ลายมือชื่อของผู้ตาย และพยานในพินัยกรรมลงชื่อภายหลังจากวันที่มีการทำพินัยกรรมแล้ว พินัยกรรมดังกล่าวจึงตกเป็นโมฆะ
ก่อนถึงแก่ความตายผู้ตายจึงได้ให้โจทก์ฟ้องเรียกเงินและที่ดินพร้อมบ้านคืนจากจำเลย การที่จำเลยร้องขอจัดการมรดกตามพินัยกรรมเป็นการใช้สิทธิเรียกร้องตามข้อกำหนดในพินัยกรรมเมื่อจำเลยรู้หรือควรรู้ถึงสิทธิตามพินัยกรรมตั้งแต่ปี 2546 จนปัจจุบันเป็นเวลา 10 กว่าปี จึงพ้นกำหนด 1 ปี นับตั้งแต่รู้หรือควรรู้ถึงสิทธิตามพินัยกรรม การขอจัดการมรดกจึงขาดอายุความ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754 วรรคสอง จำเลยไม่มีสิทธิรับมรดกตามพินัยกรรม
ฝ่ายจำเลยให้การว่า พล.ต.ต.เพ็ชร์ ผู้ตายได้ทำพินัยกรรมยกทรัพย์สินทั้งหมดให้จำเลย จำเลยจึงเป็นทายาทผู้รับมรดกตามพินัยกรรมของผู้ตายและมีส่วนได้ส่วนในการยื่นคำร้องขอจัดการทรัพย์มรดกของผู้ตาย ขณะทำพินัยกรรมเมื่อวันที่ 25 ธ.ค. 2546 ผู้ตายมีสติสัมปชัญญะครบถ้วน สามารถดำเนินการใด ๆ ได้ด้วยตัวเอง และผู้ตายได้ทำบันทึกการแสดงเจตนายกทรัพย์สินให้แก่จำเลยไว้เป็นหลักฐาน ผู้ตายลงลายมือชื่อในพินัยกรรมและพยานในพินัยกรรมได้ลงลายมือชื่อต่อหน้าผู้ตาย พินัยกรรมจึงไม่ตกเป็นโมฆะ ผู้ตายเพิ่งล้มป่วยเมื่อวันที่ 6 มิ.ย. 2555 และเข้ามาผ่าตัดสมอง ภายหลังผ่าตัดผู้ตายไม่สามารถเดิน เขียนหนังสือ และสื่อสารได้ โจทก์ยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งว่าผู้ตายเป็นคนเสมือนไร้ความสามารถ ศาลมีคำสั่งว่าผู้ตายเป็นคนเสมือนไร้ความสามารถ และให้อยู่ในความปกครองของโจทก์ โดยคดีที่โจทก์ฟ้องเรียกเงินและทรัพย์สินคืนจากจำเลยนั้นยังไม่สิ้นสุด โจทก์ไม่เคยบอกกล่าวให้จำเลยทำลายพินัยกรรม และคดีนี้มีโจทก์ฟ้องขอให้พินัยกรรมตกเป็นโมฆะ จึงไม่อยู่ในบทบัญญัติเรื่องอายุความ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1745 วรรคสอง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลพิจารณาในประเด็นว่า พล.ต.ต.เพ็ชร์ ลงลายมือชื่อในพินัยกรรมขณะมีสติสัมปชัญญะครบถ้วนหรือไม่ ลายมือของ พล.ต.ต.เพ็ชร์ ในพินัยกรรมเป็นลายมือแท้จริงหรือไม่ พยานในพินัยกรรมลงลายมือชื่อหลังวันทำพินัยกรรมหรือไม่ และพินัยกรรมเป็นโมฆะหรือไม่
สรุปได้ว่า บิดาของโจทก์ (พล.ต.ต.เพ็ชร์) ได้มีความสนิทสนมกับจำเลยอย่างมาก และเป็นผู้ติดต่อโรงพยาบาลสมิติเวช สุขุมวิท ให้บิดาของโจทก์เข้ารับการรักษาในปี 2546 บิดาของโจทก์มีอายุประมาณ 80 ปี เข้ารักษาระหว่างวันที่ 24 พ.ย. 2546-19 ธ.ค. 2546 หลังจากนั้นบิดาของโจทก์ได้ออกจากโรงพยาบาลและกลับมาพักรักษาตัวที่บ้านแต่อาการไม่ดีขึ้น และได้ไปพบแพทย์เพื่อทำการรักษาอย่างต่อเนื่อง โดยพินัยกรรมฉบับที 25 ธ.ค. 2546 ทำขึ้นในขณะที่บิดาของโจทก์มีสติสัมปชัญญะไม่สมบูรณ์ บิดาของโจทก์เรียนจบปริญญาเอกด้านกฎหมายจากประเทศฝรั่งเศส หากบิดาของโจทก์มีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์เป็นอย่างดีแล้ว จะต้องทำพินัยกรรมอย่างรอบคอบ ช่วงเวลาที่บิดของโจทก์รู้จักกับจำเลยก่อนทำพินัยกรรมนับแต่ปี 2541-2546 เป็นระยะเวลาอันสั้น การทำพินัยกรรมยกทรัพย์สินให้แก่บุคคลอื่นที่มิใช่ทายาทย่อมเป็นไปไม่ได้ และบิดาของโจทก์จะไม่ยอมให้พยานในพินัยกรรมลงมือชื่อทับซ้อนกัน โดยมีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตเวช โรงพยาบาลสมิติเวช สุขุมวิท เบิกความเป็นพยานรับรองเกี่ยวกับอาการป่วยของ พล.ต.ต.เพ็ชร์ โดยพบอาการไบโพล่า และสมองเสื่อม นอกจากนี้ยังรับประทานยานอนหลับชื่อว่า ดอร์มิคุ่ม ทุกวัน
ขณะที่จำเลยเบิกความตอบทนายโจทก์ถามค้านยอมรับว่า ในปี 2546 พล.ต.ต.เพ็ชร์มีอาการป่วย และรักษาตัวที่โรงพยาบาลระหว่างวันที่ 24 พ.ย. 2546-18 ธ.ค. 2546 และจำเลยเป็นคนพา พล.ต.ต.เพ็ชร์ พบแพทย์เพื่อทำการผ่าตัดสมอง คำพยานจำเลยเจือสมกับคำพยานโจทก์ ทำให้คำพยานโจทก์มีน้ำหนักน่าเชื่อถือ
แม้ข้อเท็จจริงจะรับฟังได้ตามผลการตรวจพยานเอกสาร สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงยุติธรรมว่า ลายมือเขียนพินัยกรรมและลายมือชื่อผู้เขียนพินัยกรรมเป็นลายมือชื่อของ พล.ต.ต.เพ็ชร์ แต่ พล.ต.ต.เพ็ชร์ เขียนพินัยกรรมเมื่อวันที่ 25 ธ.ค. 2546 ซึ่งอยู่ในช่วงเวลาที่ พล.ต.ต.เพ็ชร์ มีอาการไบโพล่าควบคู่ไปกับอาการสมองเสื่อม ทั้งรับประทานยานอนหลับที่มีชื่อว่า ดอร์มิคุ่ม เป็นระยะเวลายาวนานพอที่จะมีผลต่อสมองและความจำ แม้วันที่ 25 ธ.ค. 2546 วันทำพินัยกรรม พล.ต.ต.เพ็ชร์ จะไม่ได้พบแพทย์ แต่วันที่ 26 ธ.ค. 2546 พล.ต.ต.เพ็ชร์ ไปพบแพทย์ตามที่นัดไว้ และยังมีอาการสมองเสื่อม และได้รับการรักษาอาการสมองเสื่อมจนถึงวันที่ 30 ม.ค. 2557
เมื่อพิจารณาพินัยกรรมแล้ว พล.ต.ต.เพ็ชร์ เขียนพินัยกรรมโดยใช้ปากกาหมึกสีดำ แต่พยานในพินัยกรรมใช้ปากกาหมึกสีน้ำเงินแตกต่างกัน เชื่อว่าพยานในพินัยกรรมลงลายมือชื่อภายหลังจากที่ พล.ต.ต.เพ็ชร์ ทำพินัยกรรมแล้ว และเป็นการลงลายมือชื่อคนละคราวกัน แม้พินัยแบบเขียนเองทั้งฉบับไม่ต้องมีพยานลงลายมือชื่อรับรองก็ตาม แต่การนำพินัยกรรมไปให้พยานลงลายมือชื่อภายหลังคนละคราวกัน ย่อมเป็นข้อแสดงให้เห็นพิรุธประการหนึ่ง
ทั้งลายมือชื่อพยานที่จำเลยอ้างว่าเป็นลายมือชื่อของนายระพี สาคริกนั้น ได้รับการเบิกความจากนายพีระพงศ์ สาคริก พยานฝ่ายโทก์ซึ่งเป็นบุตรนายระพี ระบุว่า ตนและบิดาของตนรู้จักจำเลยในปี 2548 เนื่องจากจำเลยมาขอสัมภาษณ์บิดาตนลงนิตยสาร LIPS ที่จำเลยเป็นเจ้าของ และลายมือชื่อพยานในพินัยกรรม ไม่ใช่ลายมือชื่อบิดาตน เนื่องจากบิดาเป็นนักเขียน การเขียนตัวอักษรมีความเป็นระเบียบเรียบร้อย และลายมือชื่อมั่นคง มีขีดเส้นใต้ท้ายลายมือชื่อ เมื่อตรวจลายมือชื่อพยานที่ระบุว่าชื่อ ระพี สาคริก ในพินัยกรรม เปรียบเทียบกับตัวอย่างลายมือชื่อของนายระพี สาคริก ที่ศาลมีคำสั่งให้โจทก์ส่งเป็นพยานแล้ว เห็นว่า ลายมือชื่อของนายระพี สาคริก ในปี 2535-2548 มีลักษณะลายเส้นแตกต่างจากลายมือชื่อในพินัยกรรมดังที่นายพีระพงศ์ได้เบิกความไว้ จึงเชื่อว่านายระพี ไม่ได้ลงลายมือชื่อเป็นพยานในพินัยกรรมดังกล่าว อีกทั้งลายมือชื่อพยานทั้งสองคนที่ลงไว้ในพินัยกรรมก็ลงลายมือชื่อทับซ้อนกัน อันเป็นการแสดงพิรุธได้อีกประการหนึ่งว่า หาก พล.ต.ต.เพ็ชร์ มีสติสัมปชัญญะครบถ้วน สามารถทำพินัยกรรมได้ด้วยตัวเองแล้ว จะนำพินัยกรรมไปให้พยานลงลายมือชื่อทับซ้อนกันเช่นนี้ ทั้ง ๆ ที่พินัยกรรมแบบเขียนเองทั้งฉบับ ไม่ต้องมีพยานรับรอง
การที่ พล.ต.ต.เพ็ชร์ สั่งจ่ายเช็คให้จำเลยหลายครั้งก่อนที่จะทำพินัยกรรม แต่ละครั้งเป็นเงินจำนวนมาก ปี 2543 อย่างน้อย 2 ครั้ง ครั้งแรกจำนวน 131 ล้านบาท ครั้งที่สองจำนวน 12 ล้านบาท โดยไม่ปรากฏว่ามีหนี้ต่อกัน และเมื่อทำพินัยกรรมในวันที่ 25 ธ.ค. 2546 ต่อมาวันที่ 29 ธ.ค. 2546 เป็นระยะเวลาไม่กี่วัน พล.ต.ต.เพ็ชร์ เป็นระยะเวลาไม่กี่วัน พล.ต.ต.เพ็ชร์ ได้ทำนิติกรรมโอนที่ดินพร้อมบ้านให้แก่จำเลยอีก
พฤติกรรมของ พล.ต.ต.เพ็ชร์ ดังกล่าวไม่เป็นปกติเช่นบุคคลทั่วไป เมื่อประมวลสภาวะการเจ็บป่วยของ พล.ต.ต.เพ็ชร์ ทั้งก่อนมีการทำพินัยกรรมและหลังจากที่ทำพินัยกรรมประกอบกับลักษณะของพินัยกรรมที่ปรากฏแล้ว เชื่อว่าขณะทำพินัยกรรมนั้น พล.ต.ต.เพ็ชร์ มีสติสัมปชัญญะไม่ครบถ้วนบริบูรณ์ และไม่สามารถแสดงเจตนาทำพินัยกรรมได้ด้วยตนเอง พินัยกรรมจึงตกเป็นโมฆะ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1704 วรรคสอง สำหรับประเด็นข้อพิพาทสิทธิเรียกร้องในพินัยกรรมอยู่ภายใต้บทบัญญัติเรื่องอายุความหรือขาดอายุความหรือไม่นั้น เห็นสมควรไม่วินิจฉัยเนื่องจากไม่ทำให้ผลของคำสั่งในคดีที่จำเลยยื่นคำร้องขอจัดการทรัพย์มรดกตามพินัยกรรมของ พล.ต.ต.เพ็ชร์ผู้ตายเปลี่ยนแปลงไป
พิพากษาว่า พินัยกรรมของ พล.ต.ต.เพ็ชร์ ณ ป้อมเพ็ชร์ ฉบับลงวันที่ 25 ธ.ค. 2546 เป็นโมฆะ ให้นายศักดิ์ชัย กาย ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 25,000 บาท และค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดี 5,000 บาท
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/