ทำไม..รัฐบาลต้องแถลงนโยบายปราบโกงต่อรัฐสภา
"...หลังจากนี้หวังว่าจะได้ฟังคำอธิบายเพิ่มเติมอีกว่า นโยบายแต่ละข้อที่ประกาศมานั้นจะลดคอร์รัปชันได้อย่างไร เช่น การพัฒนาระบบไอทีในการบริการประชาชน จะทำให้สะดวกรวดเร็วขึ้น ลดภาระทั้งผู้ให้และผู้ใช้บริการ ติดตามตรวจสอบเรื่องย้อนหลังง่าย หากมีกติกากำกับชัดเจนจะลดการใช้ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ เมื่อประชาชนกับเจ้าหน้าที่ไม่ต้องมาเจอหน้ากันก็ลดโอกาสเจรจาเรียกร้องเงินทองได้ เป็นต้น แต่สิ่งที่ขาดไม่ได้คือต้องบอกประชาชนด้วยว่า นโยบายแต่ละเรื่องนั้นจะลงมือปฏิบัติอย่างไร อะไรก่อนหลัง มีหลักประกันอย่างไรว่าแต่ละเรื่องจะบรรลุผล รวมทั้งต้องการการสนับสนุนและมีส่วนร่วมจากประชาชนและข้าราชการเช่นใด..."
น่าแปลกใจว่า ‘ไม่เคยมีรัฐบาลไหนเลยที่แถลงนโยบายต่อรัฐสภาว่าจะปราบโกงอย่างไร นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2475 เป็นต้นมา’ ทุกรัฐบาลตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมาล้วนแถลงเพียงคำสวยหรูว่า ‘จะส่งเสริมการบริหารราชการด้วยหลักธรรมาภิบาล จะสนับสนุนให้เกิดความโปร่งใส ...’ ซึ่งผิวเผิน จับต้องไม่ได้ ไร้ทิศทาง ข้าราชการที่ตั้งใจก็ไม่รู้ว่าจะเดินหน้าหรือตั้งรับอย่างไร คือใครมีหน้าที่ทำอะไรก็ทำไป สุดท้ายควบคุมคอร์รัปชันไม่ได้กลายเป็นวิกฤติลุกลามทั่วแผ่นดินดังที่เห็นกันอยู่
ที่สำคัญคือ วันนี้พลังการต่อสู้เพื่อเอาชนะคอร์รัปชันในประเทศไทยได้ขยายตัวมากขึ้น ไม่ได้มีเฉพาะรัฐบาลและ ป.ป.ช. เท่านั้น แต่ยังมีประชาชน ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม สื่อมวลชน และข้าราชการจำนวนมาก ที่ใส่ใจร่วมลงไม้ลงมือในรูปแบบวิธีการต่างๆ อย่างจริงจังและเสียสละ ดังนั้นการได้รับรู้ว่ารัฐกำลังทำอะไร เพื่อให้เกิดผลอย่างไร เอาจริงแค่ไหน จะทำให้ทุกฝ่ายมั่นใจ สนับสนุนและจับมือกันเดินหน้าอย่างมีพลังต่อไปในทิศทางเดียวกัน
การที่พลเอกประยุทธ์แถลงต่อรัฐสภาว่า รัฐบาลมีนโยบายหลักและนโยบายเร่งด่วนประการใดบ้างที่จะใช้ในการต่อสู้เพื่อเอาชนะคอร์รัปชัน จึงเป็นแบบอย่างของการแสดงวิสัยทัศน์ที่จะถูกจารึกรวมทั้งติดตามตรวจสอบโดยประชาชน สื่อมวลชนและพรรคการเมืองฝ่ายค้านต่อไป
หลังจากนี้หวังว่าจะได้ฟังคำอธิบายเพิ่มเติมอีกว่า นโยบายแต่ละข้อที่ประกาศมานั้นจะลดคอร์รัปชันได้อย่างไร เช่น การพัฒนาระบบไอทีในการบริการประชาชน จะทำให้สะดวกรวดเร็วขึ้น ลดภาระทั้งผู้ให้และผู้ใช้บริการ ติดตามตรวจสอบเรื่องย้อนหลังง่าย หากมีกติกากำกับชัดเจนจะลดการใช้ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ เมื่อประชาชนกับเจ้าหน้าที่ไม่ต้องมาเจอหน้ากันก็ลดโอกาสเจรจาเรียกร้องเงินทองได้ เป็นต้น แต่สิ่งที่ขาดไม่ได้คือต้องบอกประชาชนด้วยว่า นโยบายแต่ละเรื่องนั้นจะลงมือปฏิบัติอย่างไร อะไรก่อนหลัง มีหลักประกันอย่างไรว่าแต่ละเรื่องจะบรรลุผล รวมทั้งต้องการการสนับสนุนและมีส่วนร่วมจากประชาชนและข้าราชการเช่นใด
ถ้านำแผนปฏิรูปประเทศด้านการต่อต้านคอร์รัปชันมาอธิบายประกอบ จะยิ่งทำให้เห็นชัดเจนขึ้นว่า โดยภาพรวมแล้วเราจะลงมือทำอะไรมากกว่านี้ และในนโยบายการพัฒนาระบบการให้บริการประชาชนและการปฏิรูปการบริหารจัดการภาครัฐ ก็เป็นส่วนสำคัญในการกำจัดคอร์รัปชันเช่นกัน
อันที่จริงการต่อต้านคอร์รัปชันเป็นภารกิจของทุกคน ไม่มีใครเป็นเจ้าของ ที่กล่าวมาข้างต้นเป็นเรื่องนโยบายและแผนการทำงาน ซึ่งจะเกิดผลสำเร็จจริงจังได้ต้องลงมือพิสูจน์กันอีกมาก แต่ต้องฝ่าฟันครับ
ดร. มานะ นิมิตรมงคล
เลขาธิการ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย)
.........
เอกสารประกอบ :
1. คำแถลงนโยบายรัฐบาลพลเอกประยุทธ์2 http://bit.ly/2SrCZXw
2. รวมนโยบายรัฐบาลในอดีต ที่แถลงต่อรัฐสภา https://www.thaigov.go.th/aboutus/history/policy-statement
3. ‘แนวโน้มสถานการณ์คอร์รัปชันในไทย’ ข้อมูลในรายงานนี้ทำให้เห็นว่าระหว่างปี 2546 ถึง 2556 แต่ละรัฐบาลมีนโยบายและมติ ครม. อย่างไรเกี่ยวกับการต่อต้านคอร์รัปชัน https://www.parliament.go.th/ewtadmin/ewt/elaw_parcy/ewt_dl_link.php?nid=1484