ความหมายพระสนม พระสนมเอก เจ้าจอม เจ้าจอมมารดา ลำดับชั้นพระภรรยาเจ้า
เกร็ดความรู้ประวัติศาสตร์ ราชสำนักสยาม ตามจารึกโบราณราชประเพณี กับความหมายพระสนม พระสนมเอก เจ้าจอม เจ้าจอมมารดา ลำดับชั้นพระภรรยาเจ้า
ในอดีตนั้นพระมหากษัตริย์ไทยมีพระมเหสี ข้าบาทบริจาริกา จำนวนมาก เพื่อเป็นเครื่องแสดงความบริบูรณ์บุญมากบารมีของพระมหากษัตริย์ และเกี่ยวเนื่องกับอิทธิพลทางการเมือง ระบบพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน ตลอดจนช่วยค้ำจุนสถาบันพระมหากษัตริย์ ระหว่างกษัตริย์กับขุนนาง ขุนนางกับพ่อค้า ดังจะเห็นว่า มีการนำลูกหลานมาถวายตัวเป็นข้าบาทบริจาริกา ชัดเจนมากที่สุด ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5
การที่พระมหากษัตริย์มีพระมเหสี ข้าบาทบริจาริกา จึงมิได้เพื่อความสำเริงสำราญดังที่หลายคน โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ คิดเห็นเช่นนั้นไม่
ว.เสนีวงศ์ ณ อยุธยา ได้เขียนเรื่องความหมายของพระสนม พระสนมเอก เจ้าจอม เจ้าจอมมารดา และลำดับชั้นของพระภรรยาเจ้า ไว้ในหนังสือ “153 พระมเหสี เจ้าจอม ในรัชกาลที่ 5” โดยสำนักพิมพ์สยามความรู้ ไว้อย่างน่าสนใจ ตอนหนึ่งระบุว่า
“พระภรรยาเจ้า” หมายถึง สตรีผู้ถือกำเนิดในวังหลวง เป็นลูกสาวหรือหลานของพระเจ้าแผ่นดิน หรือเจ้านายพระองค์ใดก็ตาม ซึ่งเมื่อเจริญวัยขึ้นได้เป็นภรรยาของพระเจ้าแผ่นดิน ย่อมจะดำรงพระฐานันดรศักดิ์ของพระภรรยาเจ้า แต่จะได้เป็นพระอัครมเหสี หรือพระอรรคชายา ขึ้นอยู่กับจะได้รับพระมหากรุณาธิคุณ
กฎมณเฑียรบาลและพระประเพณีนิยม กำหนดให้พระเจ้าแผ่นดินทรงมีภรรยาเจ้าได้เพียง 4 ตำแหน่งเท่านั้น คือ พระอัครมเหสี พระมเหสี พระราชเทวี และพระอรรคชายา
อย่างไรก็ตาม ในแผ่นดินรัชกาลที่ 5 ยังแบ่งย่อยเป็น “ชั้นลูกหลวง” หมายถึง พระองค์ที่เป็นลูกสาวของรัชกาลที่ 4 หรือเป็นพระน้องนางต่างมารดาในรัชกาลที่ 5 ได้แก่
-พระภรรยาเจ้าชั้นลูกหลวง ตำแหน่งพระบรมราชินีนาถ (สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง)
-พระภรรยาเจ้าชั้นลูกหลวง ตำแหน่งพระบรมราชเทวี (สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า และสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี)
-พระภรรยาเจ้าชั้นลูกหลวง ตำแหน่ง พระราชเทวี (สมเด็จพระปิตุจฉาเจ้าสุขุมาลมารศรี พระอัครราชเทวี)
ส่วน “ชั้นหลานหลวง” หมายถึงผู้ที่มีศักดิ์เป็นหลานสาวของรัชกาลที่ 4 ได้แก่
-พระภรรยาเจ้าชั้นหลานหลวง ตำแหน่ง พระอรรคชายา (พระวิมาดาเธอ พระองค์เจ้าสายสวลีภิรมย์ กรมพระสุทธาสินีนาฎ ปิยมหาราชปดิวรัดา, พระอรรคชายาเธอ พระองค์เจ้าเสาวภาคย์นารีรัตน์ และพระอรรคชายาเธอ พระองค์เจ้าอุบลรัตนนารีนาค กรมขุนอรรควรราชกัลยา)
อย่างไรก็ดี ล้นเกล้ารัชกาลที่ 5 ทรงเพิ่มตำแหน่งพระภรรยาเจ้าขึ้นอีก 1 ตำแหน่ง นอกเหนือจาก 4 ตำแหน่งที่ปฏิบัติมาตั้งแต่ครั้นกรุงศรีอยุธยา
นั่นคือ ตำแหน่ง “พระราชชายา” ให้แด่ “เจ้าดารารัศมี” แม้ตำแหน่งดังกล่าวจะเทียบเท่า พระอรรคชายา แต่ที่พระองค์ทำเช่นนี้ เพื่อเป็นเกียรติแก่ผู้ครองตำแหน่งในฐานะเจ้าหญิงล้านนา
“บาทบริจาริกา พระสนม เจ้าจอม” หมายถึง นางสนองพระโอษฐ์ของพระมหากษัตริย์ เรียกอย่างสามัญว่า ภรรยาน้อย ไม่เฉพาะสามัญชนที่สามารถเป็นได้ แต่รวมถึงธิดาของพระบรมวงศานุวงศ์ด้วย
...สตรีชาวบ้านสามัญชนนั้น เมื่อได้เป็นพระสนมเจ้าจอมแล้ว ยังคงถือเป็นสามัญชน มิได้มีฐานันดรศักดิ์เป็นเจ้า แต่หากมีพระโอรสหรือพระธิดา ลูกจะถือเป็นเจ้าชายเจ้าหญิงชั้นโท
โดยเจ้าจอมที่มีลูกจะมีบรรดาศักดิ์เปลี่ยนเป็น “เจ้าจอมมารดา” และ “เจ้าคุณจอมมารดา” ซึ่งเป็นตำแหน่งพิเศษ
ภายหลังพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 สถาปนาเกียรติยศเจ้าคุณจอมมารดาเเพ พระสนมเอกในรัชกาลที่ 5 ขึ้นเป็น "เจ้าคุณพระประยุรวงศ์" (อ่านประกอบ:เกี่ยวกับ 'เจ้าคุณพระประยุรวงศ์')
ทั้งนี้ หากย้อนกลับไปยาวนานกว่านั้น ในสมัยกรุงศรีอยุธยา เป็นราชธานี ยุคนั้นพระสนมเจ้าจอมจะอยู่ในสถานะสูงส่งมาก แม้จะเป็นภรรยาน้อย แต่เหนือกว่าภรรยาเอกของสามัญชน
มีการกำหนดตำแหน่งพระสนมเอกไว้ชัดเจน 4 คน มีบรรดาศักดิ์
-ท้าวอินทรสุเรนทร ตำแหน่งของพระสนมเอกที่มาจากราชวงศ์สุพรรณภูมิ
-ท้าวศรีสุดาจันทร์ ตำแหน่งของพระสนมเอกที่มาจากราชวงศ์อู่ทอง
-ท้าวอินทรเทวี ตำแหน่งของพระสนมเอกที่มาจากราชวงศ์ศรีธรรมาโศกราช
-ท้าวศรีจุฬาลักษณ์ ตำแหน่งของพระสนมเอกที่มาจากราชวงศ์พระร่วง
ทั้งหมดนี้คือเกร็ดความรู้ในราชสำนักสยามที่เรียบเรียงมานำเสนอ .
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/