อปท. 4 แสนรายเตรียมเฮ สธ.ชง ครม.ให้สิทธิเจ็บป่วยฉุกเฉินมาตรฐานเดียว
ก.สาธารณสุข เตรียมเสนอ ครม.ขยายสิทธิเจ็บป่วยฉุกเฉินมาตรฐานเดียว 3 กองทุนสุขภาพ คลุม อปท. 4 แสนรายทั่วประเทศ ให้ สปสช.ยกร่าง พ.ร.ฎ.เพื่อ ขรก.ท้องถิ่นใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพ
วันที่ 25 ก.ค.55 นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (รมว.สธ.) เปิดเผยว่า เตรียมเสนอแนวทางการขยายบริการตามนโยบายเจ็บป่วยฉุกเฉินมาตรฐานเดียวให้ครอบคลุมข้าราชการพนักงานส่วนท้องถิ่น 4 แสนรายทั่วประเทศ เข้าพิจารณาในคณะรัฐมนตรี(ครม.)
แนวทางดำเนินการ ได้แก่ 1.ขอให้ ครม.เห็นชอบให้กระทรวงมหาดไทย(มท.)ออกประกาศและแจ้งไปยังองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.) ทุกแห่งให้เพิ่มสิทธิข้าราชการและพนักงานส่วนท้องถิ่น สามารถใช้สิทธิเจ็บป่วยฉุกเฉินมาตรฐานเดียวได้เท่าเทียมกับผู้ใช้สิทธิอีก 3 ระบบ 2.ขอให้ครม.เห็นชอบให้ มท.แก้ไขระเบียบและแจ้งให้ อปท.ตั้งหน่วยงานกลางเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาล (Clearing House) โดยเบื้องต้น สปสช.จะสำรองจ่ายและให้ อปท.จ่ายเงินคืนให้แก่ สปสช.ภายใน 30 วัน และ 3.ขอให้ ครม.เห็นชอบให้ สปสช.ทำข้อตกลงความร่วมมือกับ อปท.ทุกแห่ง เพื่อดำเนินการตามรายละเอียดทั้ง 2 ข้อ
นายวิทยา กล่าวว่า ได้มอบหมายให้ สปสช.ยกร่าง พ.ร.ฎ.กำหนดให้พนักงานและลูกจ้าง อปท.ใช้สิทธิรับบริการสาธารณสุขตาม พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ โดยมีสาระสำคัญคือผู้ที่ได้สิทธิจะต้องเป็นพนักงานและลูกจ้างซึ่งได้รับค่าจ้างจากงบประมาณ อปท. ผู้ที่ได้บำนาญ อปท. ผู้บริหารอปท. ประธานและรองประธานหรือสมาชิกสภาพ อปท. รวมถึงบิดา มารดา คู่สมรส บุตรที่ชอบด้วยกฎหมายไม่เกิน 3 คน
สำหรับสิทธิประโยชน์ให้เป็นไปตาม มท.ว่าด้วยเงินสวัสดิการเกี่ยวกับการรักษาพยาบาลของพนักงานส่วนท้องถิ่น และให้กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่นจัดสรรเงินในส่วนที่เป็นค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลแก่ สปสช. ตามที่ได้ตกลงกันเป็นรายปี รวมทั้งค่าบริหารจัดการในวงเงิน 1.5% ของเงินค่าใช้จ่ายสวัสดิการรวมในแต่ละปี
ทั้งนี้ที่ผ่านมา ข้าราชการและพนักงาน อปท.ร่วม 4 แสนราย ได้รับสิทธิรักษาพยาบาลที่ไม่เท่าเทียมกับ 3 กองทุนสุขภาพ เนื่องจากแต่ละองค์กรมีกฎหมายและระเบียบเฉพาะของตัวเอง เป็นเหตุให้ข้าราชการ อปท.บางรายต้องเสียค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลเอง.