‘อุตตม’เล่าฉากหลัง-โชว์หลักฐานครบ! เคลียร์คดีกรุงไทยยันบริสุทธิ์-ปัดถูกกันเป็นพยาน
“…การทุจริตปล่อยกู้กรุงไทยครั้งนี้ มีการเตรียมการสมคบแบ่งงานกันทำมาตั้งแต่ต้น ก่อนที่จะมีการประชุมบอร์ดบริหารด้วยซ้ำ ผมในฐานะกรรมการอิสระ ไม่มีทางทราบว่า มีการเตรียมการเช่นนี้ขึ้นนี้ สิ่งเหล่านี้มาถูกค้นพบในภายหลัง เพราะฉะนั้นคดีนี้ซับซ้อน ไม่ใช่แค่การประชุมของกรรมการบริหาร…”
หมายเหตุ สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org : เมื่อวันที่ 26 ก.ค. 2562 นายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง กล่าวชี้แจงแก่ที่ประชุมรัฐสภา กรณีถูก ส.ส.พรรคฝ่ายค้าน พาดพิงถึงกรณีเคยตกเป็นผู้ถูกกล่าวหาคดีทุจริตธนาคารกรุงไทยปล่อยกู้สินเชื่อแก่เครือกฤษดามหานครหมื่นล้านบาท
----
สภากล่าวพาดพิงผมในทำนองที่ว่า ผมขาดความเหมาะสม ขาดคุณสมบัติที่พึงมีจะเป็น รมว.คลัง ผมยืนยันความบริสุทธิ์หลายครั้ง แต่วันนี้จะมาเล่าให้ฟังว่าพฤติการณ์เหตุการณ์นี้เป็นอย่างไร ข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร ต้องขอบคุณสมาชิกผู้ทรงเกียรติ ท่านสุทิน คลังแสง (ส.ส.พรรคเพื่อไทย) ที่ให้โอกาสผมชี้แจง ผมเห็นด้วยกับที่ท่านพูดแค่ประเด็นเดียวคือ เราไม่มีอะไรต่อกัน นอกจากนั้นไม่เห็นด้วย
เรื่องเงินกู้ทุจริตกรุงไทย ก่อนอื่นมีการสอบสวนไต่สวนทุกขั้นตอน โดยองค์กรอิสระที่เป็นที่ยอมรับของประเทศไทย กำลังพูดถึงการตรวจสอบไต่สวน และมีคำวินิจฉัยพิพากษามาโดยตลอด เรียงลำดับโดย ธนาคารแห่งประเทศไทย ปี 2547 สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) และคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ปี 2548 คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ปี 2549 สำนักงานอัยการสูงสุด (อสส.) ปี 2551 และท้ายที่สุดศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ปี 2558
ศาลฎีกาฯมีคำพิพากษาเป็นที่ยุติ ถึงที่สุดไปแล้วว่า ผมเป็นผู้บริสุทธิ์ ไม่มีส่วนร่วมในการกระทำความผิดในเรื่องนี้แต่อย่างใดทั้งสิ้น ที่สำคัญไม่ใช่ว่าชื่อผมตกหล่น แต่ปรากฏพยานหลักฐานที่พิสูจน์ได้ ชัดเจน ทั้งพยานเอกสาร พยานบุคคล พยานแวดล้อม ถึงการกระทำการปฏิบัติหน้าที่ผมในขณะนั้น คือตำแหน่งกรรมการ (บอร์ด) อิสระ ธนาคารกรุงไทย ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต เป็นที่ประจักษ์ รวมถึงการปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมครบถ้วนในบทบาทดังกล่าว แต่กลับมีคนคิดว่าผมผิด ทำให้ผมมัวหมอง แต่เรียนอย่างนี้ว่า สุดท้ายสังคมจะเป็นคนตัดสินใจ และกำลังจะนำเสนอสิ่งที่จะเป็นประโยชน์กับสังคม เพื่อให้ตัดสินว่าผมเป็นอย่างไร
เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 9 ธ.ค. 2546 มีการประชุมบอร์ดบริหารธนาคารกรุงไทย มีการเสนอสินเชื่อให้กับกลุ่มบริษัทเครือกฤษดามหานคร จำนวน 9.9 พันล้านบาท ให้กรรมการบริหารพิจารณา ในวันดังกล่าว มีกรรมการบริหาร 2 คน ผม และนายชัยณรงค์ อินทรมีทรัพย์ โดยเป็นกรรมการอิสระทั้งคู่ หมายความว่า ไม่ได้เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการบริหารปกติของธนาคารแต่อย่างใด
ข้อเท็จจริงคือ ในการพิจารณานั้น มีหลักฐานปรากฏชัดเจนว่า ในกระบวนการยุติธรรมได้พิสูจน์ทราบ มีคำวินิจฉัยแล้วว่า ผมและนายชัยณรงค์ ได้มีการทักท้วง ซักถาม และไม่เห็นด้วยกับการอนุมัติสินเชื่อในขณะนั้น อย่างไรก็ดีมาทราบในภายหลังว่า มีการปล่อยเงินสินเชื่อนี้ออกไป
ธนาคารแห่งประเทศไทยที่กำกับดูแลธนาคารพาณิชย์ทั้งหมด ตั้งคณะกรรมการสอบสวนเชิงลึก เกี่ยวกับการปล่อยสินเชื่อในครั้งนี้ ผมก็ถูกตรวจสอบด้วย อยากเรียนว่า ผมเป็นผู้เดินเข้าไปหาผู้ตรวจการธนาคารพาณิชย์ด้วยตัวเอง ไม่ได้ถูกเรียก เมื่อทราบว่ามีการสอบสวน จึงเข้าไปเป็นผู้ให้ข้อมูล และพร้อมรับการตรวจสอบอย่างเต็มที่ ธนาคารแห่งประเทศไทยตรวจสอบแล้ว มีคำวินิจฉัยว่า มีการกล่าวโทษผู้กระทำผิดจำนวนหนึ่ง เป็นบุคคลภายใน และภายนอกธนาคารกรุงไทย โดยธนาคารแห่งประเทศไทยเชื่อว่ามีส่วนเกี่ยวข้อง
แต่ธนาคารแห่งประเทศไทยไม่ได้กล่าวโทษผม กับนายชัยณรงค์ ตามที่มีผู้พยายามบิดเบือนแต่ต้นว่าผมเป็นคนเดียวที่หลุดรอด ไม่ได้รับการกล่าวโทษ ข้อเท็จจริงไม่ใช่ผมคนเดียว นายชัยณรงค์ด้วย ธนาคารแห่งประเทศไทยตรวจสอบแล้ว มีมติว่า ไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง และปฏิบัติหน้าที่ตามที่รับมอบหมาย ไม่ได้ทุจริต
ธนาคารแห่งประเทศไทยส่งเรื่องนี้ไปที่ ป.ป.ช. แต่มีการเปลี่ยนแปลงรัฐประหารเมื่อปี 2549 เรื่องจึงถูกส่งไปที่ คตส. คิดว่าเป็นที่ทราบกันดีว่าขณะนั้น คตส. มีความเข้มข้นขนาดไหน ดำเนินการอย่างตรงไปตรงมา คตส. ไต่สวนเรื่องนี้ใหม่ตั้งแต่ต้น มีการเรียกผู้เกี่ยวข้องเข้าไป รวมถึงผมหลายครั้ง การถูกไต่สวนโดย คตส. เป็นความทุกข์จริง ๆ เรียนเช่นนี้เพราะผมถูกกล่าวหาด้วย ถูกไต่สวนในชั้นต้น เป็นผู้ถูกกล่าวหาลำดับที่ 19 ในเรื่องนี้ เข้ากระบวนการไต่สวนมีคนอื่นด้วย เมื่อ คตส. ไต่สวนแล้ว มีมติแล้ว ผมไม่ได้ร่วมกระทำความผิด มีมติให้ข้อกล่าวหาขอตนตกไป
นอกจากนี้ ผมได้ทำหนังสือถาม ป.ป.ช. ถึงเหตุผลของ คตส. โดย ป.ป.ช. ระบุว่า เรื่องดังกล่าว คตส. พิจารณาแล้วเห็นว่า มีพยานหลักฐานว่า ท่านไม่ได้ร่วมกระทำความผิด มีมติให้ข้อกล่าวหาตกไป
เพราะฉะนั้นการที่มีความพยายามที่จะบิดเบือน สร้างความเข้าใจให้สังคมคลาดเคลื่อน ว่าผมนั้นได้รับการกันเป็นพยาน ไม่ใช่ ถูกกล่าวหาเต็ม ๆ ผ่านกระบวนการธนาคารแห่งประเทศไทย ผ่านกระบวนการของ คตส. ไม่ได้รับการกันเป็นพยานแต่อย่างใด
คตส. มีมติแล้ว ไม่มีความผิด ส่งเรื่องต่อให้อัยการ อัยการไม่ได้รับแล้วเอาตาม คตส. ทันที แต่ตั้งคณะทำงานร่วมกับ ป.ป.ช. ดูอีกครั้งว่าสำนวนเป็นอย่างไร และพยายามหาหลักฐานเพิ่มเติมว่ามีใครสมควรรับผิดอีกหรือไม่ คณะทำงานนี้สุดท้ายมีมติเช่นเดียวกับ คตส. ในส่วนของผมไม่มีส่วนร่วมกระทำความผิด เป็นผู้บริสุทธิ์ มติเหมือนเดิม แต่มีผู้ที่อัยการสั่งฟ้อง 27 รายต่อศาลฎีกาฯ โดยใช้ระยะเวลารวบรวมหลักฐาน 4 ปี
เพราะฉะนั้นไม่มีใครเร่งรัดอัยการให้ฟ้อง 4 ปีดูรอบคอบรัดกุมแล้วว่าเป็ฯอย่างไร จึงตัดสินใจฟ้องตามนั้น พอมาถึงศาลฎีกาฯ จึงไม่ปรากฏชื่อตน เพราะว่า ขั้นตอนอย่างเรียนว่า กระบวนการยุติธรรมทั้งหมด ผ่านเหมือนทุกคน ไม่มีอะไรพิเศษเลย ผ่านการพิสูจน์ของกระบวนการยุติธรรมตลอด ดังที่เราทราบว่า ศาลฎีกาฯมีมติว่า มีผู้กระทำความผิดจำเลย 25 คน ให้ชดใช้ค่าเสียหายหมื่นล้านบาท ไม่มีผมเป็นจำเลยเพราะไม่ได้ถูกฟ้องตั้งแต่ต้น
ส่วนที่นายสุทิน บอกว่า จริง ๆ แล้วศาลฎีกาฯบอกว่า กรรมการบริหารต้องร่วมรับผิดชอบด้วยในคำวินิจฉัย ในกรณีนั้นที่ศาลฎีกาฯที่พูดถึงกรรมการบริหาร หมายถึงกรรมการบริหารที่ถูกฟ้อง มี 3 ท่าน ไม่ได้หมายถึงกรรมการบริหารทุกท่าน
นอกจากนี้ยังมีประเด็นแรกกล่าวหาว่า ผมวิ่งเต้น มีผู้ใหญ่ช่วยเหลือ เรียนว่า องค์กรอิสระที่เกี่ยวข้องกับการตรวจสอบมีอะไรบ้าง ท่านคิดเหรอครับว่าการวิ่งเต้น ธปท. ป.ป.ช. คตส. อสส. ศาล ทำได้เหรอครับ คงไม่ต้องอธิบายมากกว่านี้
แม้กระบวนการยุติธรรมเสร็จสิ้นไปแล้ว ยังมีคนพยายามบิดเบือนข้อเท็จจริง และอ้างอิงข้อกฎหมายที่คลาดเคลื่อนว่า มีพยานหลักฐานใหม่ ที่จะเอาผิดผมได้ เรียนว่า ในข้อเท็จจริงมีคนพยายามเมื่อปี 2560 ยื่นให้ ป.ป.ช. และดีเอสไอ บอกว่ามีหลักฐานใหม่ ให้พิจารณาใหม่ ป.ป.ช. ดีเอสไอ พิจารณาแล้ว ของที่ยื่นเป็นของเดิมทั้งสิ้น พยานหลักฐานถูกบรรจุและพิจารณาแล้วในกระบวนการยุติธรรม ให้คำร้องตกไป ไม่หยิบมาพิจารณา
เพื่อให้ได้เห็นภาพ ขอเพิ่มเติมข้อมูลเกี่ยวกับเบื้องหลังของคดีทุจริตการปล่อยกู้ธนาคารกรุงไทย ไม่ได้ตั้งใจจะพาดพิงถึงท่านไหน แต่เพื่อให้ท่านได้เห็นภาพจริง ๆ ว่า การปล่อยกู้ครั้งนี้ ไม่ใช่เรื่องของการประชุม บอร์ดบริหารเท่านั้น มีมากกว่านั้น จากการตรวจสอบของกระบวนการยุติธรรม ปัจจุบันยังมีอีก 2 คดีที่เกี่ยวเนื่อง แต่ไม่เกี่ยวกับตน
คดีแรก มีผู้ถูกกล่าวหาจำเลยที่ยังไม่ยอมเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ยังหลบหนีอยู่ต่างประเทศ คดีที่สอง คดีเกี่ยวกับการที่องค์กรตรวจสอบอิสระเหล่านี้ชี้ว่า มีผู้ได้รับเงินทอนจากการปล่อยกู้ครั้งนี้ มีผู้เกี่ยวข้องภายนอกแบงก์ที่ได้รับประโยชน์ที่ไม่สมควรได้รับ คดีนี้อยู่ระหว่างดำเนินการอยู่ จะไม่ก้าวล่วงถึงเนื้อของคดี
การทุจริตปล่อยกู้กรุงไทยครั้งนี้ มีการเตรียมการสมคบ แบ่งงานกันทำมาตั้งแต่ต้น ก่อนที่จะมีการประชุมบอร์ดบริหารด้วยซ้ำ ผมในฐานะกรรมการอิสระ ไม่มีทางทราบว่า มีการเตรียมการเช่นนี้ขึ้นนี้ สิ่งเหล่านี้มาถูกค้นพบในภายหลัง เพราะฉะนั้นคดีนี้ซับซ้อน ไม่ใช่แค่การประชุมของกรรมการบริหาร
ในข้อเท็จจริงการปฏิบัติหน้าที่ของผมในวันนั้น เรียนยืนยัน ปฏิบัติหน้าที่กรรมการอิสระ ยึดมั่นการรักษาประโยชน์ของธนาคารเป็นหลัก และได้ทำการติดต่อพบผู้ตรวจการธนาคารพาณิชย์ด้วยตัวเอง ผ่านการตรวจสอบอยู่ดี ให้ความร่วมมือหลังจากนั้นกับกระบวนการยุติธรรมทุกขั้นตอน
ท้ายที่สุดมีผู้กล่าวอ้างว่า กรณีนี้จะมีผลกระทบต่อการปฏิบัติหน้าที่ของผมในฐานะ รมว.คลัง เพราะมัวหมอง ขาดคุณสมบัติ ขาดจริยธรรม ไม่น่าเชื่อถือ เรียนว่า หวังเป็นอย่างยิ่งว่า ประเด็นที่หยิบยกมาอธิบายให้เห็นในครั้งนี้ จะสร้างความกระจ่างเกี่ยวกับคดีของกรุงไทยนี้ทั้งหมด ได้ยุติไปแล้ว เป็นความเป็นจริงเกิดขึ้นเมื่อ 16 ปีที่แล้ว ได้ทำหน้าที่บอร์ดอิสระอย่างมืออาชีพ ซื่อสัตย์สุจริต มีหลักฐานประจักษ์ อยู่ในสำนวนของการตรวจสอบทั้งหมดแล้ว
ถ้าพูดถึงจริยธรรม ตามมาตรฐานจริยธรรมที่สมบูรณ์แล้วในขณะนั้น ไม่ได้เกรงกลัวต่ออิทธิพล หรือผลกระทบใด ๆ ที่อาจจะมีจากภายนอก กระบวนการยุติธรรมได้พิสูจน์แล้วว่าผมเป็นผู้บริสุทธิ์ ไม่ได้ทำผิด
ท้ายที่สุดผมยินดีให้ตรวจสอบ อยู่ในกรอบที่ไม่บิดเบือนกันจนเกินไป สุดท้ายเรียนยืนยันว่า ในฐานะ รมว.คลัง ต่อสภาอันทรงเกียรติในครั้งนี้ จะยึดมั่นหลักการ ปฏิบัติหน้าที่ซื่อสัตย์ ดำรงมาตรฐานจริยธรรม
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/
อ่านประกอบ :
จ่อฟ้องฝ่ายค้าน-คนนอก 4-5 คนใช้หลักฐานเท็จ! ‘อุตตม’ ยันไม่มีเอี่ยวคดีกรุงไทย
เบื้องหลัง ธปท.ไม่เอาผิด! เปิดคำให้การลับ‘อุตตม’คดีกรุงไทย ‘สุชาย-วิโรจน์’คีย์แมน
อุตตม สาวนายน: “ผมไม่ผิด” อย่าบิดเบือน! กรณีการปล่อยสินเชื่อธนาคารกรุงไทย
'ปรีดิยาธร เทวกุล' เล่าเบื้องหลังทุจริตปล่อยกู้กรุงไทย จ้องโค่นตำแหน่งผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ