รัฐบาลรับทุกเรื่อง! 6 ข้อเสนอ ‘มณเฑียร บุญตัน’ นโยบายพัฒนาชีวิตผู้พิการ
'มณเฑียร' เสนอ 6 ประการ พัฒนาชีวิตผู้พิการ เพิ่มเบี้ย 1,000 บาท สร้างความชัดเจนกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา นำนโยบาย Universal Design มาใช้ทุกโครงสร้างพื้นฐาน ด้าน 'บิ๊กตู่' เผยรัฐบาลยินดีรับดำเนินการทุกเรื่อง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ช่วงค่ำของการประชุมร่วมรัฐสภา วันที่ 2 ระหว่างสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) และสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ณ ห้องประชุมอาคารทีโอที ถ.แจ้งวัฒนา (ที่ประชุมรัฐสภาชั่วคราว)
นายมณเฑียร บุญตัน สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ได้กล่าวถึงข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการไปยังรัฐบาล โดยมีทั้งหมด 6 ประการ กล่าวคือ
ประการที่ 1 ต้องสร้างความชัดเจน พ.ร.บ.ส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม พ.ศ. 2562 เนื่องจากขณะนี้กองทุนวิสาหกิจเพื่อสังคมยังไม่เกิดขึ้น หรือแม้เกิดขึ้นก็ก็ไม่มีเงิน เพราะกฎหมายไม่ได้กำหนดให้รัฐต้องจ่ายเงินเข้าไปในกองทุนนี้ดังนั้น เพื่อให้เกิดมรรคผลขึ้น จึงควรหารือเพื่อสร้างมาตรการให้มีกองทุนในการสนับสนุนการทำภารกิจ
ประการที่ 2 เพิ่มเบี้ยความพิการให้แก่ผู้พิการทุกคน 1,000 บาท ซึ่งเชื่อว่าจะเสริมพลัง เพิ่มอำนาจในการซื้อของคนพิการต่อไป หลังจากเคยได้รับความกรุณาภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรี ในเรื่องเพิ่มความพิการจาก 500 บาท เป็น 800 บาท มาแล้ว
ประการที่ 3 ปรับปรุงมาตรฐานของระบบบริการสาธารณสุข ซึ่งจะเป็นการต่อยอด เพราะเห็นว่านโยบายรัฐบาลที่ผ่านมาให้โอกาสคนพิการเลือกใช้บริการระบบประกันสุขภาพหรือบริการประกันตนตามพ.ร.บ.ประกันสังคม แต่ยังมีความเหลื่อมกันระหว่าง 3 กองทุนว่าด้วยเรื่องสุขภาพ (กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กองทุนรักษาพยาบาลประกันสังคม กองทุนรักษาพยาบาลสวัสดิการข้าราชการ) จึงคาดหวังว่า รัฐบาลจะหาโอกาสปรับปรุงบริการด้านสุขภาพระหว่าง 3 กองทุนให้มีความทัดเทียมหรืออย่างน้อยบูรณาการประโยชน์เข้าด้วยกัน
ประการที่ 4 สร้างความชัดเจนกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา เพราะเหตุว่าในการพิจารณาพ.ร.บ.ฉบับนี้ ไม่มีคำว่า “คนพิการ” คณะกรรมการกฤษฎีกาได้ตอบปัญหาที่ตนเองสอบถามไปตลอดว่า คำว่า “ผู้ด้อยโอกาส” หมายรวมถึงคนพิการหรือไม่ เพราะในอดีตทางกฎหมายคำว่าผู้ด้อยโอกาสกับคนพิการแตกต่างกันโดยชัดแจ้ง คณะกรรมการกฤษฎีการะบุหมายรวมถึงคนพิการด้วย จึงหวังว่าคนพิการจะได้รับประโยชน์
ประการที่ 5 ปรับปรุงพ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ เพื่อทำสิทธิคนพิการให้เป็นจริงและสอดคล้องกับพันธะกรณีระหว่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิคนพิการ ยุทธศาสตร์อินชอน โดยประเด็นที่เป็นปัญหา คือ ข้อจำกัดและความล้าหลังในการบริหารกองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิติคนพิการ จึงทำให้เงินไหลเข้ากองทุนง่าย แต่ไหลออกยาก
ประการที่ 6 นำนโยบาย Universal Design หรือการออกแบบเพื่อคนทั้งมวล โดยควรได้รับการพิจารณาในทุกแง่มุมของโครงสร้างพื้นฐาน ไม่ว่าจะเป็น อาคารสถานที่ ขนส่งสาธารณะ หรือแม้กระทั่งดิจิทัล ซึ่งรัฐบาลชุดที่แล้วได้ผ่านกฎหมายหลายฉบับ โดยปรากฎเรื่อง Universal Design อยู่ด้วย จึงหวังว่ารัฐบาลจะนำหลักการดังกล่าว โดยไม่เลือกปฏิบัติมาใช้ในทุกกรณี
พร้อมกับฝากทิ้งท้ายให้รัฐบาล ภายใต้การนำของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เร่งรัดกฎหมาย 2 ฉบับ คือ พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาองค์กรภาคประชาสังคม เพื่อตอบโจทย์ข้อ 11.6 เรื่องการปฏิรูปการจัดการบริหารภาครัฐ โดยให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการทำบริการสาธารณะและตรวจสอบการทำงานของรัฐ และพ.ร.บ.ขจัดการเลือกปฏิบัติต่อบุคคล เพื่อลดความเหลื่อมล้ำโดยถาวร โดยใช้บทบัญญัติตามกฎหมาย ซึ่งบทบัญญัติดังกล่าวอยู่ในรัฐธรรมนูญ แต่ไม่เคยมีรัฐบาลชุดใดกล้าออกกฎหมายห้ามเลือกปฏิบัติ
จากนั้นพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวเพียงสั้น ๆ ว่า “รัฐบาลใหม่จะรับไปทุกเรื่อง ซึ่งมีหลายกระทรวงเข้ามาเกี่ยวข้อง” .
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/