โค้ดดิ้ง ภาษาที่ 3 บรรจุนโยบายรัฐ! คุณหญิงกัลยา ย้ำชัดสอนเด็กประถมเทอมหน้า
รมช.ศึกษาฯ ลั่นเด็กไทยต้องรู้ถึง 3 ภาษา ยัน โค้ดดิ้ง เป็นทักษะใหม่แห่งยุคในอนาคตโลกดิจิตอล เชื่อไม่เป็นภาระครู เหตุมีครูผ่านการอบรมครูวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีอยู่แล้วกว่า 8 พันคน
วันที่ 26 กรกฎาคม ที่อาคารทีโอที แจ้งวัฒนะ (รัฐสภาชั่วคราว) มีการประชุมร่วมรัฐสภาระหว่าง ส.ส. และ ส.ว. เพื่อรับฟังคำแถลงนโยบาย คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ชี้แจงการอภิปรายนโยบายรัฐบาล ประเด็นเรื่องการศึกษาของนางสาวกุลธิดา รุ่งเรืองเกียรติ ส.ส.จากพรรคอนาคตใหม่
คุณหญิงกัลยา กล่าวถึงช่วงหาเสียงเลือกตั้งอยากให้เด็กไทยจะต้องพูดอย่างน้อย 2 ภาษา คือ ภาษาไทยและภาษาต่างประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่การเรียนภาษา มักจะพูดถึงแต่ภาษาอังกฤษ แล้วก็มีโครงการ English for all ที่เคยทดสอบทดลองไปแล้วตั้งแต่ชั้นอนุบาล
“ดิฉันเองเป็นนักวิทยาศาสตร์ก็บอกว่า ขอเพิ่มอีก 1 ภาษา เด็กไทยต้องเรียน 3 ภาษาเป็นอย่างน้อย คือ ภาษาไทย ภาษอังกฤษ และภาษาคอมพิวเตอร์ ที่เรียกว่า โค้ดดิ้ง (Coding) ซึ่งเป็นทักษะใหม่แห่งยุคในอนาคตโลกดิจิตอล (Digital) เป็นภาษาคอมพิวเตอร์ที่เราจะสื่อสารกับเครื่องในอนาคต เด็กสามารถที่จะเรียนรู้ได้ตั้งแต่เด็กอนุบาล ชั้นประถม”
รมช.ศึกษาฯ กล่าวถึงเครื่องไม้เครื่องมือว่ ไม่ใช่เป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด อุปกรณ์ที่มีอยู่ก็สามารถที่จะสอนเด็กได้ เรามีครูของสำนักงานส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ผ่านการอบรมครูวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีของกระทรวงศึกษาธิการ มีมากกว่า 8,000 คนที่มีพื้นฐานวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี
“ เมื่อประมาณ 2 เดือนที่แล้ว ญี่ปุ่นและจีนเพิ่งจะประกาศเป็นนโยบายของประเทศญี่ปุ่นว่า ในปี 2020 จะให้นักเรียนญี่ปุ่นตั้งแต่ชั้นประถมทั้งประเทศ เรียนภาษาโค้ดดิ้ง จึงเป็นเรื่องความทันสมัยที่คนรุ่นใหม่เข้าใจ แต่ว่าอย่างไรก็ตามทางกระทรวงศึกษาต้องขอบคุณนายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรีที่ได้บรรจุเรื่องโค้ดดิ้ง อยู่ในนโยบายด้วย จึงทำให้เราสามารถที่จะเดินหน้าได้ทันที คาดว่าจะเริ่มสอน ภาษาโค้ดดิ้ง ในภาคการศึกษาหน้า เนื่องจากภาคการศึกษานี้ไม่ทันแล้ว” คุณหญิงกัลยา กล่าว และว่า ฉะนั้นจึงไม่ใช่เรื่องที่ต้องห่วง เพราะเรามีคนพร้อมแล้ว เราก็จะสอนโค้ดดิ้งให้เด็ก ไม่จำเป็นจะต้องมีคอมพิวเตอร์หรือมีเครื่องอะไร จริงๆแล้วก็คือสอนให้คนไทยมีตรรกะในการแก้ปัญหา ทางด้านคุณครูก็ไม่ต้องห่วง เพราะไม่ได้เพิ่มภาระให้ครู แต่จะเพิ่มทักษะใหม่ที่เรียกว่าทักษะแห่งอนาคตในโลกดิจิตอล
ช่วงท้าย รมช.ศึกษาฯ กล่าวถึงการเตรียมเด็กไทยทุกคนหรือผู้ใหญ่ทุกคนที่จะมีงานการที่จะทำมีอาชีพที่ดี มีคุณภาพที่ดี มีรายได้ดี จะต้องมีความรู้พื้นฐานเรื่องโค้ดดิ้ง เพราะเราไม่ทราบเลยว่า ในอนาคตวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีที่จะเจริญก้าวหน้าไปรวดเร็วแค่ไหน เราอยู่ในโลกแห่งการผันผวน ความเปลี่ยนแปลงทางด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีที่หลายคนก็พูดถึง ปัญญาประดิษฐ์ (AI : Artificial Intelligence) พูดถึงหุ่นยนต์ หุ่นยนต์จะทำงานได้หรือจะเล่นเกมได้ จะต้องมีโค้ดดิ้ง หรือภาษาที่จะสื่อสารให้เขาทำตามที่ต้องการได้ เพราะฉะนั้นเรื่องนี้จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ทางกระทรวงและทางรัฐบาลที่จะเริ่มให้เร็วที่สุดเท่าที่จะเร็วได้ โดยจะเริ่มจากความสมัครใจของผู้อำนวยการโรงเรียนและครูก่อน แม้จะเป็นโรงเรียนที่อยู่หลังเขา เราก็จะให้ความสำคัญ เพราะว่าขณะนี้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสามารถที่จะลดความเหลื่อมล้ำของการศึกษาได้
“เรามีครูเก่งอยู่ที่ไหน เราก็สามารถที่จะให้เด็กอยู่หลังเขาสามารถที่จะได้เรียนรู้เช่นเดียวกับเด็กในเมืองด้วยครูคนเดียวกันด้วย วิธีการเดียวกัน เพราะเรามีวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีช่วย มีแพลตฟอร์ม (Platform) มีสิ่งต่างๆมากมายโดยจะเริ่มวิชาโค้ดดิ้ง ให้กับเด็กชั้นประถมนับตั้งแต่เทอมหน้าเป็นต้นไป”