ส.โภชนาการแห่ง ปทท.เตรียมชง รบ.เพิ่มงบอาหารกลางวันเด็กเป็น 20 บ./คน/วัน
สสส.จับมือ ส.โภชนาการในพระราชูปถัมภ์ฯ ดึง อบต.ร่วมพัฒนาโภชนาการสมวัยเด็ก นำร่อง รร.-ชุมชน 9 จว. เตรียมชง รบ.เพิ่มค่าหัวมื้อกลางวันเด็กเป็น 20 บ./คน/วัน ให้กินอิ่ม-สารอาหารครบ
วันที่ 24 ก.ค.55 คณะกรรมการสมาคมโภชนาการแห่งประเทศไทยในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ร่วมกับสำนักโภชนาการ กรมอนามัย สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) เครือข่ายโภชนาการสมวัย จ.เพชรบุรี นนทบุรี สมุทรปราการ ลงพื้นที่ดูโครงการโภชนาการที่เทศบาลเมืองปู่เจ้าสมิงพราย จ.สมุทปราการ โดยมีนายสุรชัย อังเกิดโชค รองผู้ว่าราชการจังหวัดต้อนรับ
ทพ.ชลธิชา พุทธวงษ์นันทน์ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสมุทรปราการ กล่าวว่า จากการสำรวจข้อมูลเด็กแรกเกิดหลังจากทำโครงการพัฒนาระบบและกลไกเพื่อเด็กไทยมีโภชนาการสมวัย โดยการสนับสนุนของ สสส. (ปี 2552-2555) โดยสำรวจในเด็กอายุ 0-14 ปี 25 พื้นที่ เทียบปี 2555 กับปี 2554 พบว่าเด็กอายุ 0-5 ปีที่มีภาวะอ้วนน้ำหนักเกินเกณฑ์ลดลงจาก 20.6% เหลือ 19% เด็กที่มีความสูงต่ำกว่าเกณฑ์ลดลงจาก 17.2% เหลือ 15.8% และเด็กที่มีน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์จาก 16.1% ลดลงเหลือ 15.8% ส่วนกลุ่มเด็กอายุ 6-14 ปี มีภาวะอ้วนน้ำหนักเกินเกณฑ์จาก 18.4% ลดลงเหลือ 17.6% เด็กที่มีส่วนสูงต่ำกว่าเกณฑ์ลดลงจาก 13.4% เหลือ 10.2% และเด็กที่มีภาวะผอมน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์จาก 12.7% ลดลงเหลือ 11.2%
“สมุทรปราการเป็น 1 ใน 9 จังหวัดนำร่องโครงการฯ ที่มีเป้าหมายส่งเสริมให้เด็กไทยเติบโตอย่างมีโภชนาการสมวัย ครอบคลุมตั้งแต่ทารก ปฐมวัย แลวัยเรียน มีพื้นที่นำร่อง 12 เทศบาล 13 อบต. 30 โรงเรียน 28 ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก 1 สถานรับเลี้ยงเด็กและ 49 ชุมชน เชื่อว่าการพัฒนางานด้านอาหารและโภชนาการจะประสบความสำเร็จอย่างยั่งยืนได้ต้องอาศัยความร่วมมือทั้งครอบครัว ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก โรงเรียน ชุมชน โดยตั้งเป้าหมายให้เด็กสมุทรปราการมีโภชนาการสมวัย ไอคิวดีภายใน 5-10 ปีข้างหน้า" ทพ.ชลธิชา กล่าว
นายสรรเกียรติ กุลเจริญ นายกเทศมนตรีเมืองปู่เจ้าสมิงพราย กล่าวว่าการพัฒนางานด้านอาหารและโภชนาการเด็กแรกเกิดถึง 14 ปี ประกอบด้วย 3 โปรแกรม 1.พัฒนาอาหารกลางวันให้เด็กตามมาตรฐานโภชนาการ จะวิเคราะห์คุณค่าทางอาหาร โดยใช้งบประมาณสนับสนุนจากท้องถิ่นในอัตรา 13 บาทต่อวัน 2.เฝ้าระวังทางโภชนาการ เพื่อตรวจสอบภาวะโภชนาการเด็กเป็นรายบุคคลเพื่อแก้ไข 3. โปรแกรมสำเร็จรูปประเมินพฤติกรรมการให้อาหารของพ่อแม่และผู้ให้อาหารเด็กในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กและโรงเรียน เพื่อวางแผนให้เกิดพัฒนาการสมวัย ทั้งนี้ในโรงเรียนนำร่องคือโรงเรียนวัดสวนส้ม ได้บรรจุชุดเรียนรู้กลางอยู่ในแผนการเรียนการสอน 4 เรื่อง ที่ยังมีปัญหาคือ ธงโภชนาการ ผักผลไม้ ลดหวาน มัน เค็ม และโรคอ้วน
นายสง่า ดามาพงษ์ ผู้จัดการโครงการพัฒนาระบบและกลไกเพื่อเด็กไทยมีโภชนาการสมวัย สมาคมโภชนาการในพระราชูปถัมภ์ฯ กล่าวว่ากำลังรวบรวมผลโครงการ 9 จังหวัดนำร่อง เพื่อวิเคราะห์จัดทำข้อข้อเสนอเชิงนโยบายกระทรวงศึกษาธิการและรัฐบาล โดยเฉพาะการปรับเพิ่มงบประมาณอาหารกลางวันเด็กนักเรียนจาก 13 บาท/คน/วันเป็น 15-20 บาท/คน/วัน ซึ่งจะช่วยให้เด็กไทยได้รับอาหารกลางวันเพียงพอกับความต้องการของร่างกาย ได้รับสารอาหารครบถ้วนตามโภชนาการ .