อักษรศรี พานิชสาส์น : ผู้นำต้องกล้าๆหน่อย ชัดๆประเทศจะไปทางไหน
"...ประชาชนต้องตื่นรู้และต้องโดนเขย่ากระทุ้งให้ปรับตัว ต้องมีทีมลงไป coaching ให้คนไทยมีทักษะที่จำเป็นในศตวรรษที่ 21 คนไทยจะแค่มาแบมือขอรับความช่วยเหลือจากรัฐแบบเดิมๆ ไม่ได้แล้ว เกษตรกรไทยต้องพัฒนานวัตกรรมในท้องถิ่นด้วย รัฐต้องส่งทีมไปช่วย coaching ไปสอนให้คนใช้เทคโนโลยีในการจับปลา ไม่ใช่แค่รอรัฐบาลเอาปลามาแจก เอาปลามาป้อนใส่ปาก เราต้องจับปลาเองให้เป็นค่ะ ต้องฝึกทักษะเพื่อเป็นผู้ชนะในศตวรรษที่ 21..."
หมายเหตุ สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org : เป็นเนื้อหาบทสัมภาษณ์ของ ดร.อักษรศรี พานิชสาส์น อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อดีตผู้อำนวยการศูนย์วิจัยยุทธศาสตร์ไทย-จีน (Thai-Chinese Strategic Research Center : TCRC) สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ผ่านทางสถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก ช่อง5 ที่มีการนำมาเผยแพร่ในเฟซบุ๊ก "Aksornsri Phanishsarn"
................................
#ข้อคิดเห็นต่อคำแถลงนโยบายรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ บทสัมภาษณ์ช่อง 5 ร่วมตรวจแถวนโยบายของรัฐบาลโดย ดร.อักษรศรี พานิชสาส์น #ทีมเศรษฐกิจทันสมัย
1) อาจารย์มองกรอบนโยบายรัฐบาลที่จะแถลงต่อรัฐสภาวันที่ 25 ก.ค. 62 นี้อย่างไร
Aksornsri : คำแถลงนโยบายมีทั้งหมด 66 หน้า มีนโยบายหลัก 12 ด้าน และนโยบายเร่งด่วน 12 ด้าน ในคำแถลงนโยบายฯ มีการระบุถึงวิสัยทัศน์ในการขับเคลื่อนประเทศของรัฐบาลชุดนี้ คือ “มุ่งมั่นให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วในศตวรรษที่ 21” โดยจะต้องหลุดพ้นจากกับดักประเทศรายได้ปานกลาง เน้นการ “เติบโตเชิงคุณภาพ”ไม่ใช่การเติบโตเชิงปริมาณ
จึงถือว่ามีจุดเด่นในการมีวิสัยทัศน์ที่จะให้หลุดพ้นจากปัญหาในระดับโครงสร้าง/ปัญหาที่ยืดเยื้อยาวนาน ซึ่งแตกต่างจากรัฐบาลในอดีต (รัฐบาลยิ่งลักษณ์) ที่ไม่ได้เอ่ยถึงวิสัยทัศน์ของประเทศในคำแถลงนโยบายฯ
อย่างไรก็ดี ยังคงมีจุดอ่อนในประเด็นวิสัยทัศน์ที่เป็นเป้าหมายที่กว้างเกินไป ไม่มีจุดโฟกัสไม่มีรูปธรรมที่จะขับเคลื่อนอย่างชัดเจนจับต้องได้ เช่น ไม่ชัดเจนว่า ไทยจะเป็นประเทศพัฒนาแล้วฯ ได้อย่างไร how to ? ไทยจะมีโมเดลในการพัฒนาเศรษฐกิจประเทศอย่างไร เช่น เราจะเป็นชาตินวัตกรรมชั้นนำในภูมิภาคหรือไม่อย่างไร
-กรณีตัวอย่างของเวียดนาม รัฐบาลเวียดนามประกาศชัดว่า เวียดนามจะเป็นประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำของโลก (ไม่ใช่เป็นแค่ประเทศเกษตรกรรม) เวียดนามมีทิศทางชัดในการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมสมัยใหม่ จนเวียดนามสามารถเป็นผู้ส่งออก smart phone อันดับต้นของโลก
-กรณีตัวอย่างของสิงคโปร์ รัฐบาลสิงคโปร์ประกาศชัดว่า สิงคโปร์จะเป็น smart nation จะเป็นประเทศที่รู้จักใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีอย่างชาญฉลาด
-กรณีตัวอย่างประเทศจีน ผู้นำจีนสีจิ้นผิงประกาศว่า “สิ่งที่มีค่าที่สุดในศตวรรษนี้ ไม่ใช่ทองคำ ไม่ใช่น้ำมัน แต่ Data คือ สิ่งที่มีค่าที่สุด” จีนจึงมุ่งเน้นใช้ประโยชน์จาก big data ฐานข้อมูลมหาศาลในการพัฒนา AI technology ได้ล้ำหน้า นอกเหนือจากด้านเศรษฐกิจ จีนยังนำ big data และ AI technology มาใช้ในการจัดระเบียบสังคมด้วยระบบ social credit system เป็นต้น
ดังนั้น รัฐบาลไทยควรที่จะมีวิสัยทัศน์ที่ชัดเจนในการใช้ประโยชน์จากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและนวัตกรรม โดยเฉพาะการใช้ประโยชน์จาก data ในยุคดิจิทัล เพื่อมุ่งมั่นให้เศรษฐกิจไทยเป็น Data-driven Economy มีการบริหารจัดการและใช้ประโยชน์จาก data อย่างชาญฉลาดในยุคดิจิทัล ดังนั้น จึงอยากเห็นผู้กำหนดนโยบายของไทยที่กล้าประกาศอย่างชัดเจนว่า ประเทศไทยจะมุ่งไปทางไหน อย่างไร จะใช้โมเดลอะไรในการพัฒนาเศรษฐกิจ
2) นโยบายทั้ง 12 ด้านของรัฐบาลจะมีผลต่อการที่รัฐบาลนำไปปฎิบัติต่อไปอย่างไร
Aksornsri : นโยบายในคำแถลงฯ ค่อนข้างกว้าง ไม่ลงลึกในรายละเอียด จากนโยบายหลัก 12 ด้าน ในด้านเศรษฐกิจ เท่าที่ไล่เรียงดูจะมี 3 ด้านที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจโดยตรง ได้แก่
ข้อ 5 การพัฒนาเศรษฐกิจและความสามารถในการแข่งขันของไทย
ข้อ 6 การพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจและการกระจายความเจริญสู่ภูมิภาค
ข้อ 7 การพัฒนาสร้างความเข้มแข็งจากฐานราก
อย่างไรก็ดี ในประเด็นด้านเศรษฐกิจส่วนใหญ่ยังระบุในกรอบกว้าง และไม่ได้ดึงจุดเด่นออกมาเน้นให้เห็นเป็นรูปธรรมมากนัก เช่น ไม่ชัดเจนว่า จะพัฒนาอุตสาหกรรมอะไรบ้าง ไม่ระบุ sector แม้จะมีการกล่าวถึงการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมาใช้ในการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมและภาคเกษตร
นอกจากนี้ มีการระบุในบางประเด็นที่สำคัญ เช่น ในนโยบายหลักด้านที่ 5 การพัฒนาเศรษฐกิจและความสามารถในการแข่งขันของไทย ในหัวข้อย่อย คือ 5.2 ได้ระบุว่า ไทยจะพัฒนาอุตสาหกรรมภายใต้แนวคิด BCG Economy คือ B Bio Economy ระบบเศรษฐกิจเน้นความหลากหลายทางชีวภาพ เชื่อมโยงกับ C Circular Economy ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน ที่คำนึงถึงการนำวัสดุต่างๆ กลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ และทั้ง 2 เศรษฐกิจนี้ อยู่ภายใต้ G Green Economy ระบบเศรษฐกิจสีเขียว ซึ่งมุ่งเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและการเกษตรที่ยั่งยืน
โมเดล BCG น่าสนใจมาก เพราะจะเป็นการนำความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาต่อยอดและสร้างมูลค่าเพิ่ม แต่น่าเสียดายว่า โมเดลนี้ยังไม่ใช่จุดโฟกัสที่ชัดของวิสัยทัศน์ของรัฐบาลในคำแถลงนโยบายนี้ เป็นเพียงประเด็นย่อยที่ไร้ความชัดเจน จึงยังไม่มีรูปธรรมที่ชัดเจนว่า รัฐบาลชุดนี้จะพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไปในทิศทางนี้ได้อย่างไร
3) นโยบายเร่งด่วน 12 ด้านของรัฐบาลจะแก้ปัญหาได้จริงหรือไม่
Aksornsri : ในส่วนของนโยบายเร่งด่วน 12 ด้าน ที่เกี่ยวข้องกับทางเศรษฐกิจมี 5 ด้านที่เกี่ยวข้องโดยตรง คือ
ข้อ 1 แก้ไขปัญหาการดำรงชีวิตของประชาชน
ข้อ 2 ปรับปรุงระบบสวัสดิการและพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน
ข้อ 3 มาตรการเศรษฐกิจเพื่อรองรับความผันผวนของเศรษฐกิจโลก
ข้อ 4 การให้ความช่วยเหลือเกษตรกรและพัฒนานวัตกรรม
ข้อ 5 การวางรากฐานระบบเศรษฐกิจของประเทศสู่อนาคต
นอกจากนี้ ยังมีข้ออื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น ข้อ 11 การจัดเตรียมมาตรการรองรับภัยแล้งและอุทกภัย
อย่างไรก็ดี นโยบายเร่งด่วนด้านเศรษฐกิจแม้จะมีประเด็นการวางรากฐานระบบเศรษฐกิจของประเทศสู่อนาคต แต่นโยบายส่วนใหญ่ยังเป็นเรื่องของการแก้ปัญหาระยะสั้น แก้ปัญหาปากท้องแบบเฉพาะหน้าและต้องใช้งบประมาณมากเพื่อให้การช่วยเหลือประชาชน ซึ่งปัญหาเหล่านี้เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นซ้ำซากเป็นประจำ จึงจำเป็นต้องมีมาตรการที่จะต้องแก้ไขปัญหาในระยะยาวอย่างยั่งยืนต่อไป
4) อาจารย์มองว่านโยบายรัฐบาลที่มาจากหลายพรรคการเมืองจะส่งผลต่อการบริหารประเทศหรือไม่อย่างไร
Aksornsri : แน่นอนค่ะ รัฐบาลที่มาจากหลายพรรค ย่อมจะบริหารจัดการยากกว่า รัฐบาลที่มาจากพรรคเดียวแบบสิงคโปร์ หรือจีน แต่ทั้งหมดนี้อยู่ที่ผู้นำด้วยค่ะ แม้จะมาจากพรรคการเมืองหลายพรรค ถ้ามีผู้นำที่มีวิสัยทัศน์และกล้านำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในระดับโครงสร้าง กล้า transforming Thailand แบบยกเครื่อง และไม่โอนอ่อนตามกลุ่มผลประโยชน์ทางการเมือง มุ่งมั่นไปในทิศทางที่ชัดเจน ก็จะไม่โลเลกลับไปกลับมาหรือมีนโยบายที่พาประเทศวนอยู่ในอ่าง
ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเรามุ่งสู่ BCG model เน้น Bio-Circular-Green Economy เราก็ต้องมีผู้นำที่กล้าประกาศว่า จะไปในทิศทางนี้ เช่น หันมาให้การสนับสนุนการใช้รถยนต์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ส่งเสริมการใช้รถ EV Electric Vehicle รถยนต์ใช้แบตตารี่ไฟฟ้า ประกาศให้รถของราชการที่จะจัดซื้อใหม่ต้องเป็นรถ EV หรือประกาศ ส่งเสริมการใช้รถมอเตอร์ไซด์ไฟฟ้าEV ประกาศให้ไทยเป็นฐานผลิตรถ EV และคนไทยหันมาใช้รถ EV โดยติดตั้งสถานีชาร์จไฟฟ้าให้ทั่วถึง อาจจะมีการอุดหนุนพี่วินมอเตอร์ไซด์ให้เปลี่ยนมาใช้รถมอเตอร์ไซด์ EV หรือการประกาศบางพื้นที่กรุงเทพตอนในให้ใช้รถมอเตอร์ไซด์ EV เท่านั้น ทั้งหมดนี้ต้องค่อยๆ นำทั้งแรงจูงใจด้านภาษี และการกำหนดพื้นที่ zoning ในการค่อยๆ ปรับพฤติกรรมผู้คนให้หันมาใช้รถ EV มากขึ้น เป็นต้น
5) การสานต่อการบริหารประเทศจากรัฐบาลคสช. ที่เป็นรูปธรรมในมุมมองของอาจารย์มีอะไรบ้าง
Aksornsri : ชัดเจนค่ะ รัฐบาลชุดนี้กำลังสานต่อสิ่งที่เคยทำมา 4-5 ปี ซึ่งหลายเรื่องที่เป็นสิ่งดีมีประโยชน์ ก็ควรทำต่อ ควรมีการขับเคลื่อนอย่างต่อเนื่อง เพราะหลายเรื่องต้องใช้เวลาในการพิสูจน์ความสำเร็จ เช่น โครงการ EEC ที่จะต้องเน้นประเด็นการกระจายความเจริญไปยังท้องถิ่นด้วย ไม่ใช่ให้ทุนต่างชาติมากินรวบหรือการส่งเสริมการขนส่งระบบราง การยกเครื่องระบบรถไฟไทย การสร้างระบบขนส่งมวลชน เหล่านี้เป็นเรื่องที่ควรสานต่อ โดยจะต้องมีความโปร่งใส ไม่มีการโกงกิน และคำนึงถึงผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม โครงการสาธารณูปโภคพพื้นฐานเหล่านี้จะยกระดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และจะเป็นประโยชน์ต่อลูกหลานในอนาคตด้วย
อย่างไรก็ดี ในบางเรื่องที่อาจจะเป็นนโยบายที่ผิดพลาดก็ต้องกล้าๆ ที่จะยกเลิกหรือปรับปรุงแก้ไขให้ตรงจุด ตัวอย่างเช่น นโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนในบางพื้นที่ที่ไม่มีศักยภาพ ก็ควรยกเลิก อย่าดันทุรัง จะยิ่งเปลืองตัว
6.) หลายนโยบายของรัฐบาลที่ถูกจับตาเป็นพิเศษ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องนโยบายปรับขึ้นค่าแรง 400บาท การแก้ไขรัฐธรรมนูญ รวมถึงนโยบายเสรีกัญชาเอง ไม่มีการระบุลงลึกถึงความชัดเจน ตรงนี้รัฐบาลต้องการซื้อเวลาหรือไม่อย่างไร
Aksornsri : หลายนโยบายที่มาจากการหาเสียงของพรรคร่วมรัฐบาล ดิฉันอยากจะให้มีการวิเคราะห์ผลดี/ผลเสีย ชั่งน้ำหนักให้ชัดเจน ถ้าผลออกมาไม่คุ้มค่า สิ้นเปลืองงบประมาณก็ไม่ควรดันทุรังทำต่อ เพียงเพราะได้หาเสียงกับประชาชนเอาไว้ ที่สำคัญหลายเรื่องต้องศึกษาผลกระทบในระดับมหภาคของประเทศโดยรวมด้วย เช่น นโยบายเสรีกัญชา ต้องศึกษาผลกระทบข้างเคียง เรื่องค่าแรง 400 บาท อาจจะไม่จำเป็นต้องขึ้นค่าแรงทีเดียวแบบพุ่งพรวด แต่อาจจะทยอยขึ้นเป็นขั้นเป็นตอนในช่วง 4 ปีของรัฐบาล หากแรงงานมีการพัฒนาทักษะที่สูงขึ้น ก็ย่อมจะได้ค่าแรงที่ดีขึ้นจึงต้องดำเนินการอย่างเหมาะสม ไม่ใช่เพื่อผลประโยชน์ทางการเมืองเป็นสำคัญ และต้องคำนึงถึงความสามารถในการแข่งขันกับประเทศรอบบ้านด้วย
7.) สุดท้ายอาจารย์มีข้อเสนอแนะเรื่องนโยบายรัฐบาลที่เห็นว่าควรเพิ่มเติมตรงจุดใดบ้าง
Aksornsri : ขอย้ำว่า อยากเห็นผู้กำหนดนโยบายของไทยที่กล้าๆ หน่อย ประกาศชัดๆ ว่า ประเทศเราจะไปทางไหน ตอนนี้มันยุค disruptive technology เราจะโดน disrupted หนัก ถ้าไม่กล้าพอที่จะ disrupted ตัวเองซะก่อนนะคะ
ประชาชนต้องตื่นรู้และต้องโดนเขย่ากระทุ้งให้ปรับตัว ต้องมีทีมลงไป coaching ให้คนไทยมีทักษะที่จำเป็นในศตวรรษที่ 21 คนไทยจะแค่มาแบมือขอรับความช่วยเหลือจากรัฐแบบเดิมๆ ไม่ได้แล้ว เกษตรกรไทยต้องพัฒนานวัตกรรมในท้องถิ่นด้วย รัฐต้องส่งทีมไปช่วย coaching ไปสอนให้คนใช้เทคโนโลยีในการจับปลา ไม่ใช่แค่รอรัฐบาลเอาปลามาแจก เอาปลามาป้อนใส่ปาก เราต้องจับปลาเองให้เป็นค่ะ ต้องฝึกทักษะเพื่อเป็นผู้ชนะในศตวรรษที่ 21
โดยสรุป หัวใจสำคัญของการขับเคลื่อนประเทศไปสู่อนาคต คือ การมีผู้นำที่มีวิสัยทัศน์และกล้านำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในระดับโครงสร้าง ต้องทำ transformation แบบยกเครื่อง และไม่โอนอ่อนตามกลุ่มผลประโยชน์ทางการเมือง ยกตัวอย่างเช่น ถ้าประเทศไทยจะมุ่งสู่ BCG model เน้น Bio-Circular-Green Economy ก็ต้องมีผู้นำที่กล้าประกาศว่า จะไปในทิศทางนี้ แม้จะมีแรงต้านจากผู้ที่คุ้นชินกับระบบเดิมๆ หรือการดำเนินธุรกิจแบบเดิมๆ ภาครัฐต้องส่งทีมไปทำความเข้าใจ ไปเป็น coaching ให้ปรับตัวรับกับการเปลี่ยนแปลง เป็นต้น ซึ่งทั้งหมดนี้จะสำเร็จไม่ได้ หากไม่มีการร่วมมือร่วมแรงร่วมใจทั้งจากภาครัฐ ภาคธุรกิจและภาคประชาชน เพื่อให้เป้าหมายในการพัฒนาประเทศให้มีรายได้สูงขึ้นเป็นประเทศพัฒนาแล้วในศตวรรษที่ 21 ได้สำเร็จอย่างแท้จริง
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/