แผนผู้สูงอายุแห่งชาติส่อเหลว! สตง.สอบพบปัญหาขั้นตอนปฏิบัติ-ปรับปรุงล่าช้าไม่ทันสถานการณ์
สตง. สอบพบแผนผู้สูงอายุแห่งชาติ ฉบับที่ 2 พม.ส่อเหลว! การแปลงแผนไปสู่ปฏิบัติยังไม่เห็นผลบูรณาการร่วมกัน แถมปรับปรุงล่าช้าไม่เป็นไปตามกำหนด เฉพาะครั้ง 2 ใช้เวลานานกว่า 9 ปี ไม่สอดคล้องสถานการณ์ปัจจุบัน จี้หน่วยงานรับผิดชอบแก้ไขผลักดันเป็นวาระแห่งชาตินำไปสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ได้เผยแพร่รายงานผลการตรวจสอบการดำเนินงานตามแผนผู้สูงอายุแห่งชาติ ฉบับที่2 (พ.ศ. 2545-2564) ของกรมกิจการผู้สูงอายุ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) พบปัญหาการแปลงแผนผู้สูงอายุแห่งชาติฉบับที่ 2 ไปสู่การปฏิบัติยังไม่เป็นไปตามเงื่อนไขจำเป็นของแผน ขณะที่การปรับแผนผู้สูงอายุแห่งชาติยังไม่เป็นไปตามที่กำหนด
สตง.ระบุว่า แผนผู้สูงอายุแห่งชาติ ฉบับที่ 2(พ.ศ. 2545-2564) ฉบับปรับปรุง ครั้งที่ 1 พ.ศ. 2552 ได้กำหนดเงื่อนไขจำเป็นของแผน ไว้ว่า “การแปลงแผนไปสู่การปฏิบัติเป็นอีกเงื่อนไขจำเป็นของแผน แม้ว่าแผนจะมีการปรับเป็นระยะแล้วก็ตาม แต่หากขาดการแปลงแผนไปสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมย่อมยากที่จะบรรลุตามเป้าหมาย นอกจากนี้การแปลงแผนไปสู่การปฏิบัติควรเน้นการบูรณาการจากทุกหน่วยงาน ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง รวมถึงองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อสร้างความเข้าใจที่ตรงกันและร่วมแรงร่วมใจกันไปขับเคลื่อนให้เกิดผล โดยมีคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ และสำนักส่งเสริมและพิทักษ์ผู้สูงอายุ สำนักงานส่งเสริมสวัสดิภาพและพิทักษ์เด็ก เยาวชน ผู้ด้อยโอกาส (กรมกิจการผู้สูงอายุเดิม) และผู้สูงอายุเป็นแกนหลัก”
แต่จากการตรวจสอบ พบว่า การแปลงแผนผู้สูงอายุแห่งชาติฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2545-2564) ไปสู่การปฏิบัติยังไม่เป็นไปตามเงื่อนไขจำเป็นของแผน กล่าวคือ ยังไม่มีการจัดทำแผนปฏิบัติการในภาพรวมที่มีการบูรณาการร่วมกันของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องที่ครอบคลุมแผนงาน/งาน/โครงการและเชื่อมโยงกับยุทธศาสตร์ มาตรการ และดัชนีชี้วัดของแผน เพื่อให้เกิดความชัดเจนในการแปลงแผนผู้สูงอายุแห่งชาติไปสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม ส่งผลกระทบต่อการบรรลุวัตถุประสงค์ของแผน ขาดรายละเอียดระดับแผนงาน/งาน/โครงการเพื่อใช้ในการติดตามและประเมินผล มีผลต่อความน่าเชื่อถือในการวัดผลสัมฤทธิ์ของแผน เนื่องจากไม่มีแผนปฏิบัติการในภาพรวมเพื่อใช้เป็นแนวทางในการวางแผนติดตามและประเมินผลอย่างเป็นระบบ รวมทั้งส่งผลต่อภาพลักษณ์และความน่าเชื่อถือของคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ (กผส.) ในฐานะผู้กำกับดูแลการแปลงแผนผู้สูงอายุแห่งชาติฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2545-2564) ไปสู่การปฏิบัติ
สาเหตุหลักมาจากการที่คณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ ยังไม่ให้ความสำคัญในการแปลงแผนผู้สูงอายุแห่งชาติไปสู่การปฏิบัติเท่าที่ควร โดยคณะกรรมการยังไม่มีการกำหนดแนวทางและผู้รับผิดชอบในการแปลงแผนไปสู่การปฏิบัติที่ชัดเจนเป็นรูปธรรม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องซึ่งปรากฏในแผนยังไม่ให้ความสำคัญกับการดำเนินงานตามแผนผู้สูงอายุเท่าที่ควรเนื่องจากไม่ใช่หน่วยงานที่มีภารกิจหลักที่เกี่ยวข้องกับงานผู้สูงอายุ ทำให้เกิดปัญหาในการเสนอของบประมาณและการบูรณาการระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการขับเคลื่อนแผน
ส่วนปัญหาการปรับแผนผู้สูงอายุแห่งชาติยังไม่เป็นไปตามที่กำหนด นั้น สตง.ระบุว่า จากการตรวจสอบพบว่า ปัจจุบันมีการปรับปรุงแผนผู้สูงอายุแห่งชาติฯ แล้ว จำนวน 2 ครั้ง ซึ่งการปรับปรุงแผนมีความล่าช้าไม่เป็นไปตามที่กำหนด
โดยครั้งแรกมีการปรับปรุงแผนผู้สูงอายุแห่งชาติ ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2545-2564) คณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติเห็นชอบร่างที่มีการปรับปรุงเมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. 2552 และได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 27 เมษายน 2553 นับจากปี2545 จนถึงได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีเป็นระยะเวลากว่า 7 ปี และการปรับปรุงครั้งที่ 2 ในปี พ.ศ.2561 ได้มีกระบวนการปรับปรุงแผนผู้สูงอายุแห่งชาติ ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2545-2564) ฉบับปรับปรุง ครั้งที่ 1 พ.ศ. 2552 ซึ่งคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติเห็นชอบร่างแผนฯ ฉบับปรับปรุง ครั้งที่ 2 เมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ.2561 และเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อโปรดพิจารณาอนุมัติแต่เนื่องจากใกล้จะหมดระยะเวลาของแผนในปี พ.ศ. 2564 สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) จึงเห็นควรให้นำร่างแผนฯ ฉบับปรับปรุง ครั้งที่ 2 ปรับรวมกับการจัดทำแผนผู้สูงอายุฉบับที่ 3 ทั้งนี้นับจากปี 2553 ที่มีการประกาศใช้แผนผู้สูงอายุแห่งชาติ ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2545-2564) ฉบับปรับปรุง ครั้งที่ 1 พ.ศ. 2552 จนถึงคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติเห็นชอบร่างแผนฯ ฉบับปรับปรุง ครั้งที่ 2 เมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2561 ใช้เวลาในการดำเนินการกว่า 9 ปี ซึ่งไม่เป็นไปตามที่กำหนดกระบวนการปรับปรุงแผนที่ไม่เป็นไปตามที่กำหนด
ส่งผลกระทบให้แผนผู้สูงอายุแห่งชาติ ฯ ขาดความเป็นปัจจุบัน ไม่สอดคล้องกับการจัดทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติแต่ละฉบับ ทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่นำแผนฯ มาแปลงสู่การปฏิบัติ ด้วยเห็นว่ามาตรการและเป้าหมายตามแผนที่กำหนดไม่ทันกับสถานการณ์และความต้องการของสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งส่งผลต่อการขับเคลื่อนแผนให้เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนด
เบื้องต้น เกี่ยวกับปัญหาที่ตรวจสอบพบ สตง. ได้มีข้อเสนอแนะให้อธิบดีกรมกิจการผู้สูงอายุในฐานะเลขานุการคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ เสนอให้ประธานกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติพิจารณาดำเนินการเร่งผลักดันให้การดำเนินงานตามแผนผู้สูงอายุฯ เป็นวาระแห่งชาติเพื่อให้ทุกหน่วยงานตระหนักถึงความสำคัญและเกิดการบูรณาการในการแปลงแผนผู้สูงอายุแห่งชาติไปสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม รวมไปถึงการปรับปรุงแผนและกรอบระยะเวลาในการดำเนินการของแต่ละขั้นตอนเพื่อให้การปรับแผนสามารถดำเนินการได้ภายในระยะเวลาที่กำหนดรวมทั้งแจ้งเวียนและกำชับให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด และรวบรวมปัญหาอุปสรรคเพื่อกำหนดแนวทางแก้ไขต่อไปแล้ว
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/