ดร.สุทธิศักดิ์ ศรลัมพ์ ตั้ง 11 คำถามให้สังคมร่วมหาคำตอบ “น้ำโขงเเห้ง”
“ถ้าไม่อยากสร้างเขื่อนก็ต้องเป็นลดการใช้น้ำ ปรับตัวและดำเนินตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง แต่ละที่พื้นที่ เกษตรกรบริหารจัดการแหล่งเก็บน้ำของตัวเองให้ใช้ให้พอเพียง จะได้ไม่ต้องเรียกร้องเพิ่มหรือต้องนำน้ำมากจากที่อื่นเพื่อมาสมทบ”
รศ.ดร.สุทธิศักดิ์ ศรลัมพ์ หัวหน้าศูนย์วิจัยและพัฒนาวิศวกรรมปฐพีและฐานราก มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โพสต์เฟชบุค เรื่องน้ำโขงเเห้ง พร้อมกับตั้งคำถามเพื่อให้สังคมหาคำตอบ
1. น้ำในแม่น้ำโขงที่ไหลผ่านประเทศไทย หากยืนตรงปลายสุดของเเม่น้ำในเขตเเดนไทย ก่อนเข้าไปประเทศอื่น น้ำที่ไหล มาจากที่ไหนบ้าง?
- จากจีนทั้งหมดเลย?
- จากจีนส่วนหนึ่ง จากเเม่น้ำในลาว ในพม่า ในไทย ที่ไหลลงเติมเข้า น.โขง?
2. ถ้าน้ำที่ไหลไม่ได้มาจากจีนทั้งหมด เเต่มาจากหลายๆประเทศเติมน้ำเข้ามา พอจะทราบสัดส่วนหรือไม่ว่าลำน้ำสาขาของเเต่ละประเทศเติมน้ำเข้ามาเท่าไร?
- น้ำจากจีน กี่%
- น้ำจากพม่า กี่%
- น้ำจากลาว กี่%
- น้ำจากไทย กี่%
3. เเต่ละประเทศ ก่อนที่น้ำจะไหลลงลำน้ำโขง ได้สร้างเขื่อนเก็บกักน้ำไว้ใช้ประโยชน์ เพื่อการเกษตรเเละผลิตกระเเสไฟฟ้าหรือไม่?
4. ประเทศไหนเก็บน้ำไว้ใช้ในประเทศมากที่สุด หากเทียบสัดส่วนปริมาณการปล่อยน้ำลงเเม่น้ำโขงรวมของทุกประเทศทั้งหมด (ไม่ได้เทียบกับประเทศตัวเอง)?
5. ถ้าไม่มีเขื่อนเลย เเม้เเต่ที่เดียวตลอดลำน้ำโขงเเละเเม่น้ำสาขาในเเต่ละประเทศ ปีนี้ ตอนนี้ วันนี้ เเม่น้ำโขงจะมีน้ำหรือไม่? จะมีน้ำไหลมากหรือน้อยกว่าปัจจุบัน?
6. ถ้ามองเฉพาะประเทศไทย มองเฉพาะหยดน้ำที่ไทยเติมให้กับเเม่น้ำโขง คนที่อยู่ริมน้ำโขงที่ประสบภัยเเล้ง ไม่มีน้ำ ถามว่า น้ำของเขาที่มาจากไทยถูกกักเก็บไว้ในเขื่อนในไทยใช่หรือไม่?
7. น้ำที่ถูกกักเก็บไว้ในเขื่อนในประเทศไทย ตอนนี้ ถูกนำไปใช้ทำอะไร เพื่อใคร?
8. ใครควรจะต้องคุยกับใคร
9. ถ้าวันนี้ไม่มีน้ำที่ปลายสุดเเม่น้ำโขงในเขตไทย เพราะเเล้งมาก เราจะอดตาย เราอยากจะหาอะไรไปกั้นเพื่อเก็บน้ำเเละสูบน้ำเข้ามาใช้หรือไม่?
10. ประเทศอื่นเขาก็จะคิดอย่างเราหรือไม่?
11. ในสุดท้าย อีก 50 ปี ในหน้าเเล้ง ถ้าทุกประเทศ เเละในลำน้ำโขง มีเขื่อนดักน้ำไว้ ก่อนจะสิ้นฤดูฝน เทียบกับไม่มีเขื่อนเลย หรือบางประเทศมี บางประเทศไม่มี เเบบไหนเราเดือดร้อนมากกว่ากัน
ทั้งนี้ รศ.ดร.สุทธิศักดิ์ ให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมกับ สำนักข่าวอิศรา ถึงการออกมาตั้งคำถามดังกล่าว โดย อยากให้มองในมุมวิชาการมากกว่ามุมดราม่าว่า การที่แต่ละประเทศสร้างเขื่อนกักเก็บน้ำนั้นเพื่ออะไร มากกว่าการมุ่งประเด็นไปที่การปล่อยน้ำของประเทศจีน
ส่วนเรื่องการสร้างเขื่อนหรือการมีเขื่อนกั้นลำน้ำโขงนั้น ส่งผลให้แม่น้ำโขงแห้ง รศ.ดร.สุทธิศักดิ์ บอกว่า เป็นเรื่องที่ผิดประเด็นวิชาการ เพราะเขื่อนที่สร้างบริเวณแม่น้ำโขงเป็นเขื่อนน้ำล้น และจะให้มุ่งแก้ไขปัญหาในประเทศก่อนในด้านการศักยภาพการจัดการทรัพยาการน้ำ ก่อนที่จะมุ่งไปแก้ปัญหากับต่างประเทศ
รศ.ดร.สุทธิศักดิ์ ยังมองด้วยว่า สิ่งสำคัญที่สุดความมีวินัยในการใช้น้ำ ทุกวันนี้เราคิดอยู่ในด้านเดียวก็คือด้านต้องการ (Supply) ด้านเดียว เช่น การใช้น้ำในด้านเกษตรกรรมว่าพืชที่ปลูกนั้นใช้น้ำมากหรือน้อย เหมาะสมกับปริมาณน้ำที่มีอยู่หรือไม่ เพราะฉะนั้นจึงอยากให้กลับมามองฝั่งที่เป็นฝั่งผู้ใช้น้ำว่า เราใช้น้ำอย่างมีวินัยให้น้ำอย่างรู้คุณค่าหรือไม่
“ถ้าไม่อยากสร้างเขื่อนก็ต้องเป็นลดการใช้น้ำ ปรับตัวและดำเนินตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง แต่ละที่พื้นที่ เกษตรกรบริหารจัดการแหล่งเก็บน้ำของตัวเองให้ใช้ให้พอเพียงกับของตัวเอง จะได้ไม่ต้องเรียกร้องเพิ่มหรือต้องนำน้ำมากจากที่อื่นเพื่อมาสมทบ”
พร้อมกันนี้ รศ.ดร.สุทธิศักดิ์ ให้ความเห็นทิ้งท้ายด้วยว่า สถานการณ์ปัจจุบัน ทุกประเทศประสบปัญหาภัยแล้ง ไม่เพียงแต่ประเทศไทยเท่านั้น
ที่มาภาพ:https://www.facebook.com/suttisak.soralump?epa=SEARCH_BOX