ปธ.ทีดีอาร์ไอ ชี้ “วิกฤตข้าวไทย” จาก นโยบายรับจำนำ "ทุกเมล็ด"
รศ.ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร ประธานมูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวระหว่างการเสวนาเชิงวิชาการด้านเศรษฐกิจ ในหัวข้อ “วิพากษ์ผลงานเศรษฐกิจของรัฐบาล” ที่จัดขึ้นที่สถาบันคึกฤทธิ์ เมื่อวันที่ 23 ก.ค.ที่ผ่านมา โดย รศ.ดร.นิพนธ์ได้กล่าวถึงผลกระทบของนโยบายรับจำนำข้าวทุกเมล็ด ในราคาตันละ 15,000 บาท ของรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ไว้อย่างน่าสนใจ “สำนักข่าวอิศรา” ขอนำมาถ่ายทอดต่อ
“นโยบายจำนำข้าวทุกเมล็ดในราคาตันละ 15,000 บาท เป็นนโยบายจอมปลอมที่ต้องการชนะการเลือกตั้ง ซึ่งสิ่งที่ต่างจากสมัยรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรทำ ก็คือสมัยคุณทักษิณ ใช้เวลาแรมปีในการคิดนโยบายต่างๆ ไตร่ตรองอย่างรอบคอบ พอออกมาคนก็พอใจ
“แต่สำหรับรัฐบาลชุดนี้ รับจำนำข้าวมาแล้ว 2 รอบ ข้าวตลอดฤดูกาล ที่มีผลผลิตราว 30 ล้านตัน กว่าครึ่งหรือราว 15-16 ล้านตันอยู่ในมือรัฐบาล แล้วยังไม่ได้ระบายออก แม้จะมีเสียงครหาว่าแอบระบายข้าวไปบ้างแล้ว แต่ก็เป็นจำนวนเล็กๆ น้อยๆ ซึ่งหากรัฐบาลไม่ระบาย ผลผลิตปีหน้าจะเอาคลังที่ไหนไปเก็บ ผมได้ข่าวมาว่าเอกชนบางรายสร้างคลังสินค้าขึ้นมาจำนวนมาก โดยคิดว่าถ้าใช้เก็บข้าวที่รัฐบาลรับจำนำ แค่ปีเดียวก็คืนทุนแล้ว และถ้าไม่ระบาย ก็จะเหมือนกับอินเดีย ที่ซื้อข้าวไปกอง
“เรื่องราคา ถ้าระบายได้ ก็ต้องตกแน่ ไม่มีทางขายข้าวในราคาที่สูงได้ ขณะนี้มีความพยายามวิ่งเต้นขายแบบจีทูจี (รัฐต่อรัฐ) แต่ฟิลิปปินส์หรืออินโดนีเซียไม่จำเป็นต้องซื้ออีกแล้ว ที่สำคัญเขามีระบบการซื้อขายที่ชัดเจน จะไปขายล็อตใหญ่ๆ คงลำบาก จะขายให้เกาหลีเหนือก็กลัวถูกชักดาบอีก
“ถ้าระบายได้ ข้าวก็ราคาตก แต่ถ้าไม่ระบาย รัฐบาลก็จะมีภาระในการเก็บรักษา ซึ่งที่สุด รัฐบาลจะไม่มีเงินจำนำในล็อตต่อๆ ไป ต้องไปกู้เงินมา เหมือนที่เวลานี้ กู้จาก ธ.กรุงไทย ต่อไปก็ ธ.ออมสิน มันจะเป็นภาวะแบบนี้วนไปเรื่อยๆ
“ที่อ้างกันว่านโยบายนี้จะช่วยเกษตรกร เป็นสิ่งที่ผมคาใจมานาน ถามว่าชาวนาที่ที่เข้าร่วมโครงการมีกี่ล้านคน แค่ 1 ล้านคน จากชาวนาทั้งประเทศ 3.8 ล้านคน แล้ว 1 ล้านคนที่ว่าคือใคร ก็คือชาวนาที่มีผลผลิตส่วนเกิน เป็นคนที่มีฐานะดีอยู่แล้ว ชาวนาส่วนใหญ่เขาปลูกไว้กันเอง และผลจากการเก็บข้อมูล ปรากฏว่า กลุ่มคนที่รวยที่สุดในประเทศมีชาวนารวมอยู่ด้วย 1 ล้านครัวเรือน ซึ่งมีผลผลิตส่วนเกิน รวมเป็น 55% ของข้าวที่ขายในตลาด ดังนั้นแม้นโยบายรับจำนำข้าวจะยกระดับราคาได้จริง แต่ชาวนาที่ได้ประโยชน์ก็แค่คนกลุ่มเดียว ส่วนที่เหลือไม่ได้ประโยชน์เลย
“ราคาข้าวสูงขึ้นจริง แต่เราส่งออกได้น้อยลง ถามว่าช่วยเหลือชาวนาไหม ไม่ได้ช่วยเหลือเลย มีแต่เจ้าของโรงสีและเจ้าของโกดัง ที่ได้ประโยชน์จากนโยบายนี้ เพราะเวลาชาวนานำข้าวไปจำนำ ก็เหมือนผีถึงป่าช้า โรงสีก็จะขอตัดค่าความชื้น ค่าต่างๆ ถ้าพื้นที่ไหนมีโรงสีมากกว่า 1 แห่ง ก็โชคดีหน่อย เพราะจะแข่งขันกัน แต่ถ้ามีโรงสีแห่งเดียว คุณก็ไม่มีทางเลือก
“เรื่องการระบายข้าว ผมไม่รู้ข้อมูลจริงๆ ผมไม่อยากได้ยินว่า ขายข้าวต้องเป็นความลับ เพราะกลัวราคาตก เพราะถ้าประมูลเสร็จแล้ว ต้องเปิดเผยว่า ขายให้ใคร จำนวนเท่าไร และราคาเท่าไร เพราะเท่าที่ทราบเคยให้อินโดนีเซียไปแค่จำนวนหนึ่ง อีกรายที่เคยประมูลไปราว 8 แสนตันก็ยกเลิกไปแล้ว เพราะได้ราคาที่ต่ำกว่าที่ต้องการ ถ้าดูราคาข้าวที่ตั้งไว้จะอยู่ที่ราวตันละ 600 เหรียญสหรัฐ ซึ่งราคานี้ไม่ใครเขาซื้อขายในประเทศไทย เป็นราคาที่กระทรวงพาณิชย์สั่งให้สมาคมผู้ส่งออกตั้งไว้สูงๆ แต่เวลาค้าขายกันจริงๆ จะต่ำกว่าราคาที่กำหนดไว้ตลอดเวลา อย่างข้าวขาว 5% ของเราจะขายได้อยู่ราว 500 เหรียญสหรัฐเท่านั้น ดังนั้น อย่างไรก็เสีย รัฐบาลก็จะขาดทุนจากการแทรกแซงครั้งนี้แน่นอน แล้วขาดทุนเยอะมาก ผมกำลังให้ทีมงานศึกษาว่าจะขาดทุนเท่าไร ในสมมุติฐานที่ว่า ถ้าขายข้าวหมด 1 ปี ขาดทุนเท่าไร ยังไม่กล้าบอกว่าจะถึง 1 แสนล้านบาทหรือไม่
“ผลกระทบอีกด้านของจำนำข้าว คือมันจะทำลายคุณภาพข้าวไทย เพราะคนจะมุ่งแต่ผลิตให้ได้มากๆ ที่สำคัญการที่รัฐเข้ามาซื้อขายข้าวเองยังเป็นการทำลายระบบตลาด เพราะสมัยรัฐบาลคุณทักษิณ ยังมีการกำหนดโควตา แต่รัฐบาลชุดนี้บอกว่า จะรับจำนำข้าวทุกเมล็ด”